วันนี้…มาร์เก็ตเพลซ จะทำกำไรอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

Marketplace
คอลัมน์​ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ถึงจุดที่มาร์เก็ตเพลซจะหยุดขาดทุนแล้วครับ…

สัญญาณแรกที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ในปี’63 Lazada ขาดทุนเกือบ 4,000 ล้านบาท แต่ในปี 64 เขาพลิกมาทำกำไรได้ถึง 200 ล้านบาท ตอนแรกผมคิดว่ากำไรของเขาอาจเป็นกำไรระยะสั้น ยังไม่ใช่กำไรระยะยาว แต่ปรากฏว่ากำไรล่าสุดในไตรมาสแรกของปี’65 ตัวเลขกำไรขึ้นมาเป็น 400 ล้านบาทแล้ว เขาทำกำไรได้สองปีติดต่อกัน

ผมไปดูงบการเงินของเขา รายได้นี้มาจากรายได้หลัก ไม่ใช่มาจากรายได้พิเศษ ฉะนั้น เห็นได้ชัดว่าตอนนี้ Lazada เข้าสู่ยุคของการทำกำไรแล้วครับ

หลาย ๆ คนอาจจะเปรียบเทียบว่า Shopee โตกว่า Lazada ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงเพราะ Shopee ทุ่มเงินเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างรวดเร็วและมากมายจริง ๆ แต่ที่ผ่านมาก็มีข่าวการลดจำนวนพนักงาน หรือการปิดตัวลงในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงการรัดเข็มขัดของบริษัทหลาย ๆ อย่าง

สาเหตุสำคัญ ผมมองว่าเกิดจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก สิ่งที่มากระทบเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง Lazada กับ Shopee นั้น Lazada บริษัทแม่คือ Alibaba นั้นมีเงินมาก แม้มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นก็ตามเขาก็ยังมีเงินมาหล่อเลี้ยงอยู่

แต่สำหรับ Shopee คนที่คอยสนับสนุนคือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือนักลงทุนที่อื่น เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นมานักลงทุนจะเริ่มเก็บเงินเอาไว้ ฉะนั้น เม็ดเงินที่ Shopee ควรจะได้เพื่อมาขยายธุรกิจต่อก็เริ่มหายไป

ยิ่งตอนนี้มีข่าวว่าหลายที่ไม่รับคน หรือมีการเลย์ออฟคนออกมาเพื่อรับมือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้ Shopee จากเดิมที่อยู่ในโหมดกำลังเติบโตอย่างมาก เริ่มเปลี่ยนมาพูดถึงการทำกำไร ตรงนี้เองจะเห็นว่ามาร์เก็ตเพลซกำลังเข้าสู่โหมดของการทำกำไรแล้ว

คนแรกที่เริ่มทำกำไรไปแล้วก็คือ Lazada ส่วนที่ทำกำไรก็คือส่วนที่เป็นขนส่ง Lazada Express ในปี’65 ทำรายได้สูงถึง 16,000 ล้านบาท กำไรของเขาสูงมากถึง 2,700 ล้านบาท จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจอีมาร์เก็ตเพลซมีการแข่งขันกันดุเดือด เพราะมีการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ มากมาย แต่ตัวที่จะทำกำไรก็คือขนส่งนั่นเอง

ลองมาดู Shopee ประเทศไทยในปี’64 รายได้ทั้งหมด 13,000 ล้านบาท ขาดทุนเกือบ 5,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน Shopee Xpress มีรายได้ทั้งหมด 15,000 ล้านบาท ขาดทุนเกือบ ๆ 300 ล้านบาท

ในปีนี้เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป สิ่งที่จะเห็นได้ชัดก็คือ Lazada ออกมาประกาศเลยว่า ในฝั่งมาร์เก็ตเพลซจากเดิมที่ขายของใน Lazada เก็บค่าคอมมิชชั่น 1% ในฝั่ง LazMall เก็บค่าคอมมิชชั่น 2-12% จะเปลี่ยนเป็นในฝั่งมาร์เก็ตเพลซจะเก็บค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเป็น 2% นั่นหมายถึงขึ้น 100% เลย และยังมีการเก็บยิบย่อยไปหมด ซึ่งชัดเจนว่า Lazada กำลังเข้าสู่รูปแบบการทำกำไรเต็มรูปแบบ

ผมเชื่อว่าในฝั่ง Shopee เองจากที่มีการลดคนในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่นเดียวกันครับ คงเริ่มกลับเข้ามาเก็บเงินกับพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่มาขายใน Shopee มากขึ้น เพราะต้องทำกำไรบ้างแล้ว

ฉะนั้น ตอนนี้คนที่เคยค้าขายใน Shopee หรือ Lazada ที่เคยเพลิดเพลินกับคูปองส่งฟรี โปรโมชั่นต่าง ๆ ฯลฯ มันจะเริ่มน้อยลง แต่ในฐานะผู้ซื้อเราอาจจะยังมองเห็นว่ามีอยู่ แต่คูปองส่งฟรีหรือโปรโมชั่นลดราคาต่าง ๆ จะไม่ใช้ Lazada หรือ Shopee ที่เข้าไป subsidized แล้ว ต่อไปจะเป็นเจ้าของสินค้านี่แหละครับที่ต้องมาจ่ายเงินซื้อส่วนลดตรงนี้เอง

ต้องบอกว่าตอนนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซเบ่งบานเต็มที่แล้วครับ ได้เวลาของการเก็บเกี่ยว ถึงจุดที่จะหยุดการเบิร์นเงินแล้ว ผมเชื่อว่าในปีต่อไป Lazada จะทำกำไรเพิ่มมากขึ้น กำไร 400 ล้านบาทถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาทำได้ และบอกได้เลยว่าตอนนี้คนไทยเกินครึ่งประเทศซื้อสินค้าออนไลน์หมดแล้ว ฉะนั้น ตอนนี้เขากำลังค่อย ๆ ขยายส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง

จุดที่น่าสนใจคือเด็กรุ่นใหม่ของไทยที่เติบโตมาพร้อมกับ Lazada และ Shopee กำลังซื้อของคนรุ่นใหม่จะหันเข้าไปในออนไลน์มากขึ้น กลุ่มที่น่ากังวลคือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ตอนนี้รายได้น้อยกว่าพวกมาร์เก็ตเพลซมาก ๆ ในฝั่งของ traditional retail ที่เป็นออฟไลน์ กราฟรายได้โตสวนทางกับฝั่งออนไลน์อย่างมาก ๆ ต่อไปคู่แข่งของห้างต่าง ๆ ก็คือมาร์เก็ตเพลสนี่แหละครับ

สำหรับคนที่ทำธุรกิจที่กำลังคิดจะไปค้าขาย ต้องดูว่าเราควรจะไปค้าขายที่ไหน ถ้าเป็นร้านอาหารการเปิดในห้างก็ยังได้อยู่ แต่จะมองแค่เรื่องโลเกชั่นเท่านั้นคงไม่ได้ อาจต้องมองไปที่เรื่องของฟู้ดดีลิเวอรี่ด้วย เพราะตอนนี้เป็นอีกทางเลือกหลักด้วยเช่นเดียวกันครับ