อนาคตของเงิน (บาท) ท่ามกลางการอุบัติของเงินดิจิทัลเอกชน (จบ)

เงินดิจิทัล
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
        facebook : Narun on Fintech Law

ตอนที่แล้ว ผมทิ้งท้ายไว้ว่า เงินของรัฐ เช่น เงินบาท และเงินดิจิทัลเอกชน น่าจะมีบทบาทร่วมกันในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ ด้วยการเติมเต็มข้อเสีย ๆ ช่องว่าง และแก้ไขปัญหาของกันและกัน

หากพูดถึงปัญหาเงินของรัฐอาจ สรุปได้เป็น 3 ข้อ ดังนี้

1.เงินของรัฐมักโดนใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น รัฐบาลสามารถควบคุมนโยบายทางการเงินผ่านเครื่องมือ เช่น การเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกำหนดให้สภาวะเศรษฐกิจก่อนหรือหลังการเลือกตั้งเป็นไปในทิศทางที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งการเมือง

2.เงินของรัฐมักมีการบริหารจัดการที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป เช่น ช่วงวิกฤต รัฐมักใช้เงินจำนวนมากเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ แต่มักไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างทั่วถึงและเพียงพอแก่ประชาชนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่เหล่านั้น

3.เงินของรัฐไร้ประสิทธิภาพ มีต้นทุนสูง ทั้งในกระบวนการผลิตและการทำลาย การบริหารจัดการ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงในการโดนปลอมแปลง หรือโจรกรรมทางไซเบอร์ เนื่องจากระบบรักษาความปลอดภัยไม่ดีเพียงพอเมื่อเทียบกับระบบเก็บรักษาข้อมูลแบบเครือข่ายบล็อกเชน

ตร.เงินดิจิทัล

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเงินดิจิทัลเอกชน ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงประโยชน์เหนือเงินที่บริหารจัดการโดยรัฐ ดังนี้

1.เงินดิจิทัลเอกชนไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง เพราะเป็นเงินที่ตลอดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ บริหารจัดการด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองได้

2.เงินดิจิทัลเอกชนมีความโปร่งใสและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เพราะมีการเปิดเผยรายละเอียดของธุรกรรมที่ทำผ่านเครือข่ายให้ผู้ใช้บริการและบุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่สามารถแก้ไข เพิ่มเติมได้ นอกจากนั้นจะเปิดเผยเฉพาะข้อมูลสำคัญที่ใช้สำหรับการพัฒนาต่อยอดในส่วนของบล็อกเชนเท่านั้น โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

3.เงินดิจิทัลเอกชนมีต้นทุนในการผลิตและดูแลรักษาต่ำกว่าเงินของรัฐ โดยเฉพาะต้นทุนในการทำธุรกรรม ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ

ด้วยเหตุนี้ หากเราสามารถคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน ก็อาจสมควรกลับมาพิจารณาถึงนโยบายการอนุญาตให้มีเงินดิจิทัลเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในการบริการประชาชน เพื่อเสริมในส่วนที่เงินของรัฐอาจจะทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

โดยอาจจะเริ่มจากการทดลองให้เงินดิจิทัลเอกชนเป็นสื่อกลางในการชำระราคาเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยแท้ และไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยอาจพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลเงินดิจิทัลเอกชน ตามกราฟฟิก

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน หวังว่าบทความซีรีส์นี้ทั้ง 4 ตอน จะเป็นส่วนช่วยจุดประกายให้เกิดการพูดคุยกันในเรื่องนี้มากขึ้น แน่นอน ประเด็นการอุบัติของเงินดิจิทัลเอกชนเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องคิดพิจารณาอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการทดลองและพัฒนาเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นเองโดยรัฐ เช่น CBDC