ในประเทศเจริญแล้ว “ความเหลื่อมล้ำ” ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับกันได้

ฝรั่งเศสประท้วงแผนปฏิรูประบบบำนาญ
ประชาชนฝรั่งเศสประท้วงแผนปฏิรูประบบบำนาญ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566/ REUTERS/ Christian Hartmann
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี


อาจจะดูซ้ำที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่ใคร ๆ ก็พูดกันมานานแล้ว แต่การที่เรายังมีเหตุให้ต้องพูดเรื่องนี้กันซ้ำ ๆ ก็ตอกย้ำความจริงว่า ปัญหานี้ยังคงอยู่ ยังไม่ได้ถูกแก้ หรือยังแก้ไม่ได้

ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคเท่าเทียม เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก

ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ ไม่ได้เกิดขึ้นเองเพราะโชคช่วย แต่เป็นไปได้ด้วยการที่รัฐบาลและประชาชนในประเทศนั้นตระหนักถึงปัญหา พยายามแก้ปัญหา และตั้งกฎกติกาเพื่อไม่เพิ่มปัญหานั้น

ถ้าหากเราไปดูสถิติหลายด้านประกอบกัน จะเห็นว่าระดับความเหลื่อมล้ำนั้นเชื่อมโยงกับระดับการพัฒนาทางสังคม การเมือง และประชาธิปไตย

ประเทศที่ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความเหลื่อมล้ำต่ำ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูง และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้าแล้ว

ในประเทศโลกที่หนึ่งเหล่านั้น คนไม่ยอมรับกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเคารพสิทธิ์และเสียงของคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำต่ำกว่าในประเทศที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่เคารพสิทธิ์และเสียงของประชาชน

เพียงแค่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกรณีตัวอย่างในประเทศพัฒนาแล้วที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและความพยายามลดความเหลื่อมล้ำอย่างน้อยสองสามกรณี

กรณีแรกในสหราชอาณาจักร นักการเมืองฝ่ายค้าน สหภาพแรงงาน และประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีกำไรจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือภาษีลาภลอยจากบริษัทพลังงานเพิ่มมากขึ้นอีก ให้บริษัทพลังงานจ่ายส่วนแบ่งคืนให้แก่สังคมอย่างเหมาะสม-เป็นธรรม ไม่ให้ร่ำรวยบนความทุกข์ยากของผู้บริโภคมากจนเกินไป และเพื่อที่รัฐบาลจะได้มีงบประมาณมากขึ้น สำหรับนำไปใช้ในโครงการช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน

ณ ปัจจุบันนี้ภาษีลาภลอยของอังกฤษเก็บ 35% ของกำไรจากน้ำมันและก๊าซ เป็นอัตราใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 จากเดิมที่รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้ภาษีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2022 กำหนดอัตราไว้ 25% และมีภาษีที่เก็บจากโรงไฟฟ้าอีก 40% ของกำไร โดยมีกำหนดใช้ไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2028

กระแสเรียกร้องให้เก็บภาษีลาภลอยเพิ่มขึ้นมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และถูกเติมเชื้อเพลิงให้แรงขึ้นอีกในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เมื่อ Shell รายงานผลประกอบการปี 2022 ว่าทำกำไรได้ถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,343,000 ล้านบาท เป็นสถิติกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ 115 ปีของบริษัท

และถัดมาไม่กี่วัน BP อีกบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของอังกฤษรายงานผลประกอบการว่ามีกำไร 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 942,000 ล้านบาท เป็นกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

พอล โนวัก (Paul Nowak) เลขาธิการสหภาพแรงงาน (Trades Union Congress of UK) วิจารณ์ว่า กำไรอันมากล้นของบริษัทน้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่หยาบคายต่อคนทำงานจ่ายภาษี ซึ่งต้องดิ้นเอาตัวรอดจากวิกฤตค่าครองชีพ และเขาเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีลาภลอยมากขึ้นอีก

“เราต้องการให้รัฐบาลยืนอยู่ข้างประชาชนคนทำงาน ไม่ใช่บริษัทพลังงานผู้มั่งคั่งและมีอำนาจทางการเมือง” ตัวแทนสภาพแรงงานอัดรัฐบาล

ตัวเลขอัตราภาษีที่ฝ่ายค้าน-พรรคแรงงานเสนอสูงถึง 78% โดยอิงตามตัวอย่างในประเทศนอร์เวย์

อีกกรณี ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกำลังพยายามที่จะจัดสรรรัฐสวัสดิการให้ประชาชน ตามแบบอย่างประเทศในยุโรปที่เป็นผู้นำเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นโยบายของไบเดนในหลาย ๆ ส่วนมุ่งเน้นไปที่การดูแลประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เงินงบประมาณมากขึ้น รัฐบาลจึงพยายามผลักดันกฎหมายที่จะเก็บภาษีผู้มั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น

ฝ่ายค้านพรรครีพับลิกันยื่นข้อแลกเปลี่ยนในการขยายเพดานหนี้ว่า รัฐบาลต้องลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งไบเดนแฉในรัฐสภาว่า รีพับลิกันเสนอให้รัฐบาลยกเลิกระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพของประชาชน แต่รัฐบาลยืนยันจะไม่ยอมลด และจะลดการขาดดุลงบประมาณโดยการเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม

นอกจากนั้น รัฐบาลสหรัฐได้จำกัดราคายาบางชนิด เช่น อินซูลินที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ไบเดนกล่าวว่า บริษัทยาตั้งราคาเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป รัฐบาลจะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว

หรือถ้าจะย้อนไปดูอีกตัวอย่าง กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สักหน่อย คือ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ประชาชนชาวฝรั่งเศสกว่าล้านคนออกมาประท้วงแผนปฏิรูประบบเงินบำนาญ ที่จะขยายอายุเกษียณให้คนทำงานนานขึ้น 2 ปี จากเกษียณอายุ 62 เพิ่มเป็น 64 ปี และได้นัดประท้วงกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หนึ่งในข้อโต้แย้งของประชาชนและพรรคฝ่ายค้านคือว่า ผลกระทบของการปฏิรูประบบบำนาญจะตกเป็นภาระของคนที่จนที่สุดในสังคม เพราะคนจนส่วนใหญ่จะเริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วถ้ามีการปฏิรูปพวกเขาจะต้องทำงานเพิ่มอีก 2 ปี โดยไม่ได้รับสวัสดิการใด ๆ เพิ่ม

ความพยายามเรื่องเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ ยังไม่ถึงบทสรุป แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการไม่ยอมรับ “ความเหลื่อมล้ำ” ของประชาชน และการฟังเสียงประชาชนของรัฐบาลในประเทศที่เขาเจริญแล้ว

นอกจากนี้ ก็มีตัวอย่างที่สำเร็จแล้วให้เห็นมากมาย ซึ่งรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนชัดเจนก็คือ การที่คนไทยใฝ่ฝันจะย้ายไปอยู่ประเทศเหล่านั้น