รถไฟฟ้า : ขุมทรัพย์แดนโรตี

มอเตอร์ไซค์อีวีอินเดีย
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรงในอินเดีย คืออุตสาหกรรมรถไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญภายในปี 2030

ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี ทำให้ อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EVs) โดยเฉพาะรถสองล้ออย่างสกู๊ตเตอร์/มอเตอร์ไซค์ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยยอดจองซื้อที่สูงขึ้นถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อน

ภายใต้นโยบายอุดหนุนที่สำคัญ อย่างนโยบาย Faster Adoption and Manufacturing of Electric Vehicles (FAME) ทำให้ราคารถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหลือคันละไม่เกิน 1 พันเหรียญ และทำให้เกิดสตาร์ตอัพผู้ผลิตรถ EVs ขึ้นอย่างน้อย 55 ราย นอกจากนี้ รถ 3 ล้อที่แต่เดิมเป็นรถถีบก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียต้องการลดปัญหาโลกร้อนด้วยการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ 80% ของยอดขายรถ 2-3 ล้อทั่วประเทศจะต้องเป็นรถไฟฟ้า

CNN อ้างตัวเลขของ McKinsey ว่า ปีที่แล้วกว่า 7% ของยอดขายรถ 2-3 ล้อทั่วประเทศ หรือราว 1 ล้านคันเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นอานิสงส์มาจากนโยบาย FAME ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2019 พร้อมเม็ดเงินอัดฉีดกว่า 1.2 พันล้านเหรียญ

แต่ยอดขาย 1 ล้านคันในปีที่แล้ว เป็นแค่หยดน้ำเล็ก ๆ หยดหนึ่งในท้องสมุทรที่กว้างใหญ่ เพราะด้วยจำนวนรถ 2-3 ล้อทั้งหมดในอินเดียกว่า 250 ล้านคัน ยังมีพื้นที่ให้ตลาดรถ EVs เติบโตอีกมหาศาล

Advertisment

การที่ 80% ของยานพาหนะในอินเดียเป็นรถ 2-3 ล้อ มาจากระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ค่อยดีนัก การใช้รถขนาดเล็กอย่างสกู๊ตเตอร์ หรือมอเตอร์ไซค์จึงเป็นทางเลือกที่ลงตัว ทั้งในแง่ของความคล่องตัวและราคา

ดังนั้น การเปิดตลาดรถ EVs ในระยะแรกจึงเจาะกลุ่มไปที่คนใช้รถ 2-3 ล้อ เป็นหลัก เพราะการใช้รถประเภทนี้มักเป็นการสัญจรระยะสั้น ผู้ใช้เลยไม่ค่อยกังวลว่าแบตจะหมดแล้วจะหาสถานีชาร์จไม่ได้

Advertisment

อีกตัวกระตุ้นหนึ่งคือ การปรับตัวของผู้ให้บริการดีลิเวอรี่ทั้งหลายที่หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เพราะต้องการลดค่าน้ำมัน รวมทั้งยังมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย เช่น ยักษ์ใหญ่อย่าง Flipkart (อีคอมเมิร์ซ) และ Zomato (บริการส่งอาหาร) ต่างประกาศเปลี่ยนรถส่งของทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2030 เป็นต้น

แต่อุปสรรคสำคัญที่อาจขัดขวางการเติบโตคือ การขาดสถานีชาร์จที่เพียงพอ และการขาดความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้บริโภคถึงข้อดีในการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า

เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่ ทำให้การสร้างสถานีชาร์จให้ครอบคลุมต้องใช้เวลาและงบประมาณมาก ซึ่งจากการประเมินของ World Economic Forum คาดว่ารัฐบาลอินเดียต้องใช้งบฯลงทุนกว่า 2.85 แสนล้านเหรียญ กว่าจะเปลี่ยนรถ 2-3 ล้อทั้งหมดในประเทศให้เป็นรถไฟฟ้า

ในขณะที่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ไม่ค่อยไว้ใจรถ EVs นัก ทั้งในด้านความปลอดภัยและความคุ้มค่า ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความคุ้มทุน ซึ่งมีผู้ผลิตหลายเจ้ายืนยันว่า ด้วยราคาน้ำมันที่ค่อนข้างแพงในอินเดีย ซื้อรถไฟฟ้าแค่ปีเดียวก็น่าจะคุ้มแล้ว

อีกทั้งในอนาคตราคาแบตก็คงถูกลงพร้อม ๆ กับประสิทธิภาพที่สูงขึ้นด้วย หากมีการสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น ก็น่าจะได้ใจคนอินเดียไปไม่น้อยทีเดียว