วิกฤตแรงงาน…ระเบิดเวลาของสหรัฐในระยะยาว

US-ECONOMY-EMPLOYMENT
Photo by Stefani Reynolds / AFP
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Bnomics ธนาคารกรุงเทพ

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการว่างงานที่ต่ำกว่า 4% นี่ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่เหลือทิ้งไว้จากปัญหาคอขวดในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดเท่านั้น (นายจ้างปล่อยแรงงานนับล้านคนหลุดมือไป แล้วก็พบว่าเมื่อจบวิกฤตอุปสงค์กลับมา แต่ไม่สามารถหาแรงงานกลับมาใหม่อีกครั้งได้) แต่ยังเป็นปัญหาที่น่าจะคงอยู่ไปอีกนับสิบปี จนกลายเป็นวิกฤตแรงงานในระยะยาวที่ผลักให้ค่าจ้างสูงขึ้นและอัตราการลาออกถี่ขึ้น

แรงงานเดิมจากไป เด็กเกิดใหม่น้อยลง

สัดส่วนของคนที่อาศัยในสหรัฐ ที่อยู่ในตลาดแรงงาน เคยถึงจุดพีกที่สุดอยู่ที่ 67.3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2000 ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่คนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่อายุมากที่สุดอายุ 54 ปี และคนที่อายุน้อยที่สุดอายุ 35 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในช่วงขยายตัวได้ดี และเกิดวิกฤต
ดอทคอมครั้งแรก

แต่คาดว่านับจากนี้ อัตราการจ้างงานจะเติบโตขึ้นราว ๆ 0.3% ต่อปี ซึ่งช้ากว่าการเติบโตในทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1.2% อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางประชากร ทำให้การเติบโตของ GDP ก็อาจจะช้าลงตามไปด้วย

พูดง่าย ๆ คือกลุ่มคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของคนอเมริกัน โดยเกิดในระหว่างปี 1946-1964 นับรวมแล้วกว่า 76 ล้านคน ทุกวันนี้ก็จะอายุอยู่ในช่วง 58-77 ปี และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2028 คนที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีอายุถึงวัยเกษียณโดยเฉลี่ยที่ราว ๆ 64 ปี

ส่วนประชากรกลุ่มใหญ่รองลงมาคือ “กลุ่มมิลเลนเนียล” ที่เกิดในระหว่างปี 1981 ถึง 1996 ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 62 ล้านคน

ที่ผ่านมากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ทำงานอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปี ทีนี้เมื่อตอนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนก็ต้องออกจากตลาดแรงงานไป และเมื่อผ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนเกษียณไปแล้วและไม่กลับเข้าตลาดแรงงานอีกเลย

ขณะเดียวกัน อัตราการเกิดในสหรัฐก็ลดลงมาหลายทศวรรษแล้ว และลดลงไปเกินครึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960

เมื่อแรงงานขาดแคลน ค่าจ้างก็พุ่งแรงแซงเงินเฟ้อ

หลังจบการแพร่ระบาดโควิด อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานไม่ได้ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าจะมีสัญญาณของการเติบโตของแรงงานในช่วงอายุทำงานหลัก (25-54 ปี) ก็ตาม และกระทรวงแรงงานสหรัฐคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะลดลงไปอยู่ที่ 60.4% ในปี 2032 ซึ่งหลัก ๆ เป็นผลมาจากการที่คนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์เริ่มเกษียณ

ค่าจ้างเป็นสิ่งที่สะท้อนอุปสงค์และอุปทานแรงงาน เมื่อแรงงานขาดแคลน ค่าจ้างก็จะต้องปรับเพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนมาทำงานเยอะขึ้น หลังการฟื้นตัวจากโควิด ค่าจ้างเริ่มปรับพุ่งสูงขึ้น และเริ่มโตเร็วแซงเงินเฟ้อไปแล้ว

ยิ่งแรงงานขาดแคลนในระยะยาวมากเท่าไร นั่นหมายถึงว่าค่าจ้างจะเติบโตเร็วขึ้นเป็นอย่างมากในอนาคตอันใกล้

แล้วจะอุดช่องโหว่แรงงานอย่างไร ?

ตามหลักทั่ว ๆ ไป เศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อแรงงานขยายตัวได้ และผ่านการที่แรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่าประสิทธิภาพนั้นอาจเป็นเรื่องที่วัดได้ยาก และในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาประสิทธิภาพการทำงานก็ถูกลดทอนลงไปจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้โดยรวมแล้วประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้เติบโตอย่างสดใสนัก โดยเติบโตได้โดยเฉลี่ยแค่ปีละ 1.4% ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ถ้ามองแบบไม่ซับซ้อน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานสามารถคลี่คลายลงได้หากมีคนเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น หรือแรงงานที่มีอยู่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟังดูแล้วอาจจะคิดว่า แล้วเราจะเพิ่มแรงงานอย่างไรในเมื่อเด็กเกิดน้อยลง อย่างไรก็ตามทั้ง 2 อย่างที่กล่าวไปข้างต้นสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการรับแรงงานอพยพจากต่างประเทศเข้ามา และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานผ่านการฝึกฝนระบบอัตโนมัติ ปรับกระบวนการธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาแรงงานด้วยความรอบคอบ ขาดนโยบายที่สอดคล้องและต่อเนื่อง ก็อาจจะไปผลักให้ค่าจ้างสูงทะลุเพดานในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานอย่างเป็นระบบในที่สุด…