นักข่าวภาคสนาม กับ “หน้าที่” ที่อาจต้องเสี่ยงตายในสงคราม

นักข่าวภาคสนาม
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

นับตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งใจกลางของสนามรบได้ย้ายจากฝั่งอิสราเอลไปอยู่ในฝั่งฉนวนกาซาภายในไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังฮามาสยิงจรวดโจมตีอิสราเอล มีนักข่าว (รวมช่างภาพและบุคลากรสนับสนุน) เสียชีวิตจากสงครามนี้แล้วอย่างน้อย 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ 35 ราย เป็นชาวอิสราเอลอีก 4 ราย และชาวเลบานอน 1 ราย

นับถึงวันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ สงครามดำเนินมา 38 วัน นั่นหมายความว่า ระหว่างที่เราเฝ้าติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ในฉนวนกาซา มีบุคลากรข่าวเสียชีวิตไปอย่างน้อยวันละ 1 คน แต่พวกเรา-คนที่ติดตามข่าวกลับรับรู้ถึง “การตาย” ของพวกเขาน้อย เนื่องจากท่ามกลางเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นเป็นรายวินาที ข่าวส่วนใหญ่ต้องโฟกัสไปที่การรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์และจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวม

จำนวนผู้เสียชีวิตที่ยกมานี้ อิงตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของ “Committee to Protect Journalists” เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อปกป้องเสรีภาพและสิทธิของสื่อมวลชน ซึ่งจะอัพเดตจำนวนผู้เสียชีวิตก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบยืนยันแล้ว นั่นหมายความว่าจำนวนนักข่าวที่เสียชีวิตจริงน่าจะมีมากกว่านี้

บทความนี้ไม่มีนัยอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการตั้งใจใช้พื้นที่นี้ “ยกย่อง” ความเสียสละของบุคลากรข่าวที่ยืนหยัดทำหน้าที่ที่เสี่ยงตายในพื้นที่ เช่นกันกับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรของหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่น ๆ

ในเมืองไทยเราเองก็เพิ่งมีการจุดประเด็นเกี่ยวกับความยากลำบากในการทำงานของ “นักข่าวภาคสนาม” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผู้เขียนต้องออกตัวว่า ตั้งใจจะเขียนเรื่องนักข่าวภาคสนามในฉนวนกาซามาก่อนหน้าที่จะมีประเด็นในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุประจวบเหมาะกันแบบนี้ ก็เหมาะที่จะเขียนถึงกรณีในประเทศไทยไปพร้อมกัน

เรื่องนี้มีอยู่ว่า ฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือ “พี่แยม” นักข่าวภาคสนามชื่อดัง-เจ้าของสำนักข่าว The Reporters ได้โพสต์ข้อความตำหนิคนดังคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวในทีวี และมีบัญชีโซเชียลมีเดียของตนเองหลายแพลตฟอร์ม ที่เสมือนเป็นสำนักข่าว การทำงานของเขาคือ มีทีมงานคอยเลือกข่าวของสำนักข่าวต่าง ๆ มาย่อ ปรับพาดหัวใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง และบุคคลนี้มีรายได้จากการนำเสนอข่าวผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียชื่อนี้อย่างจริงจัง โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ทำข่าวเอง และไม่มีบุคลากรลงพื้นที่ทำข่าว

จากการจุดประเด็นของฐปณีย์ ได้นำมาซึ่งเสียงสะท้อนของ “คนข่าวภาคสนาม” จำนวนมาก ทั้งที่ปัจจุบันยังเป็นนักข่าวอยู่ และบางคนเป็นอดีตไปแล้ว

จริง ๆ แล้วเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้จากคนข่าวถึงคนที่ “หากิน” จากข่าวของคนอื่นมีมาอยู่เป็นระยะ ๆ หลายคนเคยเห็นเพื่อนฝูงพี่น้องร่วมอาชีพพูด หลายคนเคยเป็นผู้พูดเอง แต่โดยส่วนมากพูดไปก็กลายเป็นการบ่นน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่เกิดอิมแพ็กต์อะไร ถ้าคุณเป็นเพียงนักข่าวตัวเล็ก ๆ แต่กรณีล่าสุดถูกจุดประเด็นขึ้นโดย “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ซึ่งเป็นนักข่าวภาคสนามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย มันจึงมีคน “ได้ยิน” และสนใจ “ฟัง” มากขึ้น

บทสนทนาที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวิพากษ์วิจารณ์คนที่นำข่าวของคนอื่น-องค์กรอื่นไปหาประโยชน์โดยที่ตนเองไม่ได้ลงทุนลงแรง แต่ประเด็นที่สำคัญเหนือกว่าคือ การพูดคุยกันถึงความยากลำบากในการทำข่าวภาคสนาม (ซึ่งบางครั้ง “เสี่ยงตาย”) เพื่อไปสู่การผลักดันเรื่องค่าตอบแทนที่นักข่าวภาคสนามได้รับ ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผู้ประกาศข่าวที่ออกหน้าจอ

หนทางคงจะอีกไกลกว่าที่ทั้งสองเรื่องนี้จะได้รับการตระหนักและแก้ไข

…ขอเป็นอีกเสียงสนับสนุน และ “ยกย่อง” บุคลากรข่าวที่ทำงานภาคสนามในไทย เช่นกันกับที่ยกย่องบุคลากรข่าวที่เสียชีวิตในสงครามอิสราเอล-ฮามาสค่ะ