ซอฟต์พาวเวอร์สงกรานต์

Photo by Romeo GACAD / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

สงกรานต์ในประเทศไทยได้ถูกเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO มาตั้งแต่ปี 2563 หรือผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว โดยเหตุที่รัฐบาลไทยเสนอขึ้นทะเบียนรายการนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเพณีที่งดงาม ทรงคุณค่า สะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

และยังมีความโดดเด่นสอดคล้องตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังรู้จักกันไปทั่วว่า ประเพณีสงกรานต์เป็นการขึ้นปีใหม่ไทย ประกอบกับกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียน สงกรานต์ในประเทศไทย อยู่ในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2554

รัฐบาลไทยเองก็ได้แสดงความมั่นใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า สงกรานต์ในประเทศไทย จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เนื่องจากประเพณีสงกรานต์มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นความสอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ “นิยาม” ไว้ในมาตรา 2 อนุสัญญาฯ

เนื่องจากการเล่นสงกรานต์เป็นการแสดงออกทาง “มุขปาฐะ” ในการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี-เทศกาล งานช่างฝีมือดั้งเดิมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลกด้วย

Advertisment

โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมไทยมาแล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน (Khon, Masked Dance Drama in Thailand) ในปี 2561 นวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ปี 2562 โนราของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564 ขณะที่สงกรานต์ในประเทศไทยถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4

สืบเนื่องมาจากวาระอันเป็นที่น่ายินดีในครั้งนี้ คนไทยทุกคนจึงควรที่จะต้องรักษาประเพณีอันงดงามนี้ไว้ ด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมไทยที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน ในอีกด้านหนึ่ง เทศกาลสงกรานต์ยังถือเป็นทุนทางวัฒนธรรม และยังเป็น 1 ในซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไปทั่วโลก อันจะตามมาด้วย “รายได้” จากการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศในที่สุด