หมูราคาตกต้องแก้ทั้งระบบ

pig
บทบรรณาธิการ

หลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ต่างประสบปัญหาราคาหมูเป็นตกต่ำมาโดยตลอด โดยราคาหมูเป็นแทบจะเรียกได้ว่า ไม่เคย “สูงกว่า” ราคาต้นทุนการเลี้ยงหมู เหตุเพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเผชิญกับภาวะการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ โรค ASF ที่ระบาดมาก่อนหน้าปี 2565 ซึ่งโรคนี้มีอัตราการตายถึง 100% ส่งผลให้ปริมาณหมูภายในประเทศลดลงมากกว่า 80% แต่แทนที่ราคาหมูเป็นภายในประเทศพุ่งขึ้น กลับเกิดปรากฏการณ์มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนหมูที่ตายจากโรคระบาด ASF

จนเกิดเป็นกระบวนการลักลอบที่ขยายตัวใหญ่โต เหตุที่ว่าราคาหมูและชิ้นส่วนจากนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศกลุ่มละตินอเมริกานั้น มีราคาถูกกว่าหมูภายในประเทศเป็นเท่าตัว ทั้ง ๆ ที่รวมค่าขนส่งทางเรือเข้ามาในประเทศแล้ว ทว่าการลักลอบนำเข้ากลับไม่ได้สิ้นสุดลงตามภาวะการเลี้ยงหมูที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังการระบาดของโรค ASF สงบลงจนราคาหมูเถื่อนสามารถถล่มราคาหมูเป็นในประเทศลงได้อย่างราบคาบ

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงที่ผ่านมาว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยในการปราบปรามกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ทั้งการสำแดงเท็จ ลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน ส่งผลให้หมูเถื่อนสามารถครองตลาดภายในประเทศได้อย่างง่ายดาย การปราบปรามเริ่มจะเอาจริงเอาจังเมื่อไม่นานมานี้ หลังพบตู้คอนเทนเนอร์บรรจุหมูเถื่อนตกค้างอยู่ที่ท่าเรือเป็นร้อย ๆ ตู้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าที่จับได้นั้นเป็นส่วนน้อย แต่หมูเถื่อนส่วนใหญ่ถูกลักลอบเข้ามาไว้ในห้องเย็นทั่วประเทศจนเต็มไปหมด

แม้จะมีการดำเนินการปราบปรามกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้มข้นขึ้น ทว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังถูกซ้ำเติมจากผลของการเลี้ยงหมูที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนหมูที่ตายไปจากโรคระบาด ASF โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงของผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ที่ครอบครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน จนเกิดภาวะ Oversupply ขึ้นในขณะนี้ กล่าวคือมีปริมาณหมูออกสู่ตลาดถึง 58,000 ตัว หรือมากกว่าความต้องการบริโภคหมูต่อวันอยู่ที่ประมาณ 50,000 ตัวนั้นหมายถึงมีหมูล้นเกินอยู่วันละ 8,000 ตัว จึงเป็นที่มาของการตัดวงจรหมูด้วยการทำหมูหัน

ทว่าการตัดวงจรหมูด้วยการเร่งบริโภคภายในประเทศ รวมไปถึงการผลักดันส่งออกเนื้อหมูนั้น กลับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นตอสำคัญอยู่ที่ 2 ปัจจัย คือ หมูเถื่อนที่ยังมีอยู่ในห้องเย็นและพร้อมที่จะมีเข้ามาเติม เมื่อการปราบปรามยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด กับการเลี้ยงหมูแบบครบวงจรของผู้เลี้ยงรายใหญ่ ที่ได้เปรียบทั้งต้นทุนอาหารสัตว์ ลูกหมู โดยปราศจากการควบคุมปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม สมควรที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ Pig Board จะต้องเข้าไปจัดแผนการผลิตและการตลาดใหม่เสียแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าปล่อยให้เกิดการผลิตหมูล้นเกินความต้องการอยู่ในปัจจุบัน