แบงก์ชาติไทยจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

 

ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ (ซึ่งปกติเป็นดอกเบี้ยชี้นำดอกเบี้ยตลาด) คงที่อยู่ 1.5% มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 หรือกว่า 3 ปีแล้ว แม้ว่าดอกเบี้ยโลกจะปรับตัวขึ้นไปได้ระยะหนึ่งแล้ว (นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ) ซึ่งแบงก์ชาติให้เหตุผลว่า ดอกเบี้ยไทยจะคงอยู่ในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายการเงินเริ่มมีการปรับเปลี่ยนนับแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยเริ่มส่งสัญญาณให้รู้ว่าแบงก์ชาติกำลังพิจารณาว่าควรจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่

โดยเฉพาะเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่มีการสัมภาษณ์ผู้ว่าการแบงก์ชาติเรื่องดอกเบี้ยบ่อยครั้งขึ้น ทำให้การคาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มองว่าดอกเบี้ยไทยน่าจะปรับขึ้นต้นปีหน้า โดยเริ่มมีการคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติอาจจะปรับดอกเบี้ยในการประชุม 1-2 ครั้งข้างหน้าก็เป็นได้

การคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นมากกว่าค่าเงินในภูมิภาค โดยเงินบาทแข็งขึ้นจาก 33.3 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงกลางเดือนสิงหาคม เป็น 32.5 บาทต่อดอลลาร์ (ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ แต่บาทแข็งขึ้นมากกว่าหลายสกุลในภูมิภาค) นอกจากนี้ ก็มีแรงซื้อพันธบัตรจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมกว่า 40,000 ล้านบาท

คำถามคือปัจจัยอะไรที่แบงก์ชาติจะใช้ในการพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้หรือยัง หากพิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประกอบกับบันทึกการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินใน 2 ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีปัจจัยอยู่ 4 ประการที่มีผลต่อการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย

1.การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ในปีที่แล้วนั้นแม้ว่าสหรัฐจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยและธนาคารกลางในภูมิภาคบางแห่งก็ปรับดอกเบี้ยตาม แต่แบงก์ชาติไทยยังคงดอกเบี้ยนโยบายโดยมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาจากภาคการส่งออกและผลประโยชน์ยังไม่กระจายลงสู่ภาคอื่น ๆ ทำให้เศรษฐกิจภายในฟื้นตัวช้า แต่ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาแบงก์ชาติเริ่มมองว่า การฟื้นตัวเริ่มกระจายตัวมากขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขยายตัวของจีดีพีที่ระดับ 4.6-4.8% ในครึ่งปีแรก ถือว่าเป็นการขยายตัวที่สูง และสิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวมากขึ้น สังเกตได้จากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับเพิ่มขึ้น

2.แรงกดดันเงินเฟ้อ เงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ 1.4-1.6% เพิ่งเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เงินเฟ้อที่แบงก์ชาติกำหนดเอาไว้ที่ 1-4% เป็นเดือนที่ 5 (ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 1%) และนอกจากนั้นหากดูเงินเฟ้อที่หักอาหารสดและน้ำมัน (ซึ่งแบงก์ชาติจะให้ความสำคัญมากกว่า) ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ดังนั้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ หรือเสถียรภาพของราคาจึงยังไม่น่ากังวลแม้ว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น

3.เสถียรภาพของระบบการเงิน แบงก์ชาติมีความกังวลว่า ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนาน ๆ จะทำให้ผู้ออมพยายามแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงน้อยเกินไป ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นอาจส่งผลกระทบได้ โดยในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินได้แสดงความเป็นห่วงสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ และได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและดูแล

4.ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) คือแบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อว่าในอนาคตที่เศรษฐกิจชะลอลง จะได้สามารถลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นอกจากปัจจัยทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่าจะมีอีก 2 ปัจจัยที่แบงก์ชาติใช้พิจารณาด้วย คือส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศ กล่าวคือปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐปรับสูงขึ้นถึง 1.75-2.00% แล้ว และมีการคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ในปีนี้ แปลว่าดอกเบี้ยนโยบายของใหม่จะต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐถึง 0.75-1.00% ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้เสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ในขณะนี้

แต่ในขณะเดียวกัน หากรีบเร่งการปรับดอกเบี้ยขึ้นก็อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งอาจไม่เหมาะสมในกรณีที่การส่งออกในอนาคตได้รับผลกระทบจากกระแสการกีดกันการค้าที่น่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงิน จึงต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างปัจจัยภายในประเทศซึ่งพัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับ จนทำให้แบงก์ชาติคิดว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไปอีก ตลอดจนการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ทำให้ส่วนต่างเทียบกับดอกเบี้ยไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก กับความเสี่ยงจากการกีดกันการค้าและความเสี่ยงที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก ซึ่งสนับสนุนการแข็งตัวของเงินบาทเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ซึ่งถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณของแบงก์ชาติ ดูเหมือนว่าแบงก์ชาติต้องการขึ้นดอกเบี้ยสัก 1-2 ครั้ง ซึ่งอาจจะเริ่มปรับขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า