อาถรรพ์สนามกอล์ฟ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

พลิกดูร่างแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ ก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โอกาสที่หน่วยงานราชการทั้งระดับกรม กระทรวง ซึ่งหลายหน่วยงานตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งเขตชั้นใน ชั้นนอก ฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ต่อเนื่องเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก กับพื้นที่ต่อเนื่องฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ จะปักหลักอยู่ที่มั่นเดิมคงยาก

เพราะแผนแม่บทฉบับใหม่จะจัดระเบียบพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เข้มข้นขึ้น ทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดิน การควบคุมอาคารสิ่งปลูกสร้าง การอนุรักษ์วัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่องที่เก่าแก่มีค่า หรือมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

แม้ไม่ถึงกับกำหนดให้หน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงานต้องย้ายออกจากพื้นที่ แต่การคุมเข้มต้องขออนุญาตขออนุมัติกรณีจะมีการก่อสร้าง ปรับปรุง บวกกับความแออัดของพื้นที่ ปัญหาการจราจร ทำให้หลายหน่วยงานเลือกที่จะย้ายไปสถานที่แห่งใหม่แทน

หลายหน่วยงานจึงเตรียมขยับขยายกันยกใหญ่ อย่างกระทรวงมหาดไทย ที่หมายตาที่ดินรัฐ ที่ราชพัสดุไว้ 4-5 แปลง

เป้าหมายอันดับหนึ่งคือที่ดินสนามกอล์ฟชลประทาน ของกรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

แต่หลังจากทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงเกษตรฯ กับกรมชลประทาน ขอเฉือนที่ดินบางส่วน 100 ไร่ สำหรับใช้ก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ล่าสุด หมดสิทธิ์ลุ้น เพราะกระทรวงเกษตรฯตอบชัดเจนแล้วว่า โนเค

หลายคนอาจสงสัยว่า จู่ ๆ ทำไมคนมหาดไทยต้องรีบขวนขวายหาที่ดินเป็นที่ตั้งกระทรวงใหม่ โดยขอเฉือนที่ดินสนามกอล์ฟชลประทาน 100 ไร่ จากทั้งหมด 243 ไร่ เฉลยว่า มาจากเหตุผลเรื่องความแออัดของสถานที่เดิม กฎกติกาใหม่ในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่จะคุมเข้มเต็มพิกัดบวกกับที่ดินของรัฐที่อยู่ในเมือง ทำเลในเมือง หรือชานเมืองมีเหลือไม่มากนัก ใครเอ่ยปากก่อนจึงน่าจะได้ก่อน ใครคิดช้า มาทีหลัง ยื่นบัตรจองต่อแถวกระทรวงอื่น อาจต้องดั้นด้นไปตั้งนิวาสถานนอกเมือง

ส่วนเพราะเหตุใดหวยล็อกออกที่สนามกอล์ฟชลประทาน ซ้ำรอยรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เคยโดนต้านไม่ให้ใช้พื้นที่ จนต้องหันไปเลือกที่ดินที่ตั้งโรงเรียนโยธินบูรณะแทน เป็นเพราะศักยภาพของทำเลที่ตั้งสะดวกสบายในการเดินทาง

ทั้งติดถนนติวานนท์ ไม่ไกลจากถนนแจ้งวัฒนะ ทางด่วน แถมอยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี กับใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่

ย้อนปมสนามกอล์ฟชลประทาน ข้อมูลจากหนังสือของกรมชลฯระบุว่า เป็นสนามกอล์ฟขนาด 9 หลุม พาร์ 36 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 243 ไร่ เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตข้าวยากหมากแพง ธนาคารโลกจึงเปิดโอกาสให้ไทยกู้เงินเพื่อสร้างเขื่อนภูมิพล

แต่สมัยนั้นประเทศเรายังไม่มีเครื่องจักร เครื่องมือหนัก หลังกู้ธนาคารโลก ม.ล.ชูชาติ กำภู ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชลประทาน และวิทยาลัยการชลประทาน ได้นำรถตักดิน รถแบ็กโค รถขนดินเข้ามา และนำรถเครื่องกลหนักเหล่านั้นมาจอดไว้บริเวณที่ดินราชพัสดุว่างเปล่า ซึ่งกลายมาเป็นสนามกอล์ฟชลประทานในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันก็ใช้ที่ดินผืนนี้เป็นสถานที่สำหรับฝึกงานให้คนงานไทยได้หัดขับรถ ฝึกตักดิน ขุดดิน กลบดิน ขนดิน ปั้นเนินดิน ก่อนสร้างเขื่อนภูมิพล และขุดแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยมีนายช่างชาวฮอลแลนด์ และชาวอังกฤษ ที่ชอบเล่นกีฬากอล์ฟเป็นผู้ฝึกสอน

ม.ล.ชูชาติเห็นว่าไหน ๆ ก็ต้องหัดขุดดิน ถมดิน อยู่แล้ว เลยมีความคิดสร้างสนามกอล์ฟสำหรับใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายของบุคลากรในกรมชลประทาน รวมทั้งสมาชิกของสนามกอล์ฟซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปด้วย


ข่าวสนามกอล์ฟชลประทานจะถูกเฉือน จึงทำให้ก๊วนกอล์ฟเจ้าประจำพากันลุ้นระทึก แต่ไม่รู้ว่ามีอาถรรพ์หรือไม่ เพราะยังไม่ทันไร มหาดไทยก็ถอดใจ สั่งถอยทัพ ไม่รุกต่อ ท่ามกลางความโล่งใจของกรมคลองหรือกรมทดน้ำในอดีต เพราะงานนี้ปิดเกมได้เร็วเกินคาด