ระบบ “อุปถัมภ์” ในสังคมไทย

ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ระบบอุปถัมภ์เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน มีอิทธิพลทั้งต่อการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ในแวดวงราชการ รัฐวิสาหกิจ

แม้ระบบอุปถัมภ์จะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย แต่มักถูกมองในด้านลบว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่บั่นทอนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขององค์กร นำมาสู่หลากหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง การขาดขวัญกำลังใจ ความไม่เสมอภาคเป็นธรรม

หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทย ล่าสุด ได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจัดส่งรายงานผลการศึกษาให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจนำไปประกอบการพิจารณาหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภายในองค์กร ส่งผลในด้านบวกทั้งต่อระบบราชการ ประชาชน และประเทศชาติ

หลายคนอาจต้องการทราบว่าผลการศึกษา รวมทั้งแนวทางที่ส่วนราชการไทยจะนำมาปรับใช้ ขอหยิบยกบทสรุปซึ่งเป็นสาระสำคัญของผลการศึกษาฉบับนี้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำไว้มาถ่ายทอดต่อให้พอเข้าใจ

ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย เป็นระบบความสัมพันธ์ของคน 2 ฝ่าย ซึ่งไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายที่อยู่เหนือกว่าคือผู้มีทรัพยากรมากกว่า หรือมีอำนาจมากกว่า จะอยู่ในฐานะผู้อุปถัมภ์ ส่วนฝ่ายที่อยู่ต่ำกว่า มีทรัพยากรหรือมีอำนาจน้อยกว่าจะเป็นผู้รับอุปถัมภ์

ระบบอุปถัมภ์ในแวดวงของราชการยังคงมีอยู่ ซึ่งถ้าหากมีการใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็อาจเป็นประโยชน์และช่วยแก้สถานการณ์บางอย่างได้ เช่น การประสานงานระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น

แต่ปัจจุบันมีการนำระบบอุปถัมภ์ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ใช้ในการแต่งตั้งโยกย้าย ทำให้ได้มาซึ่งอำนาจบารมี หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่จะแสวงหาผลประโยชน์ เป็นต้น

และได้สรุปลักษณะ วิธีการที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทย ดังนี้ 1.ค่านิยมผู้น้อย-ผู้ใหญ่ การฝากเนื้อฝากตัว ทดแทนบุญคุณ 2.การยึดตัวบุคคล อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว มากกว่าหลักคุณธรรม กฎหมาย 3.การถูกแทรกแซงโดยนักการเมือง 4.การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ทั้งเงิน สิทธิพิเศษทางสังคม 5.ระเบียบกฎหมายมีช่องว่าง 6.การบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง 7.ระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการไม่เป็นไปตามหลักคุณธรรม 8.ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ

หนทางสู่ระบบคุณธรรม ทำได้อย่างไร ผลการศึกษาเสนอแนวทางแก้ ด้วยการต่อต้านการใช้ระบบอุปถัมภ์ สนับสนุนยกย่องคนดีคนเก่ง มากกว่ายกย่องสรรเสริญผู้มีอำนาจบารมี ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ระดับบุคคล กลุ่ม จนถึงระดับองค์กร โดยสร้างพฤติกรรมปฏิเสธการให้อุปถัมภ์และการรับอุปถัมภ์ มีความละอายใจ ความเกรงกลัวต่อบาป และระเบียบกฎหมาย

รวมทั้งรณรงค์และสร้างทัศนคติให้ประชาชนมีจิตสำนึก รักคุณธรรม มีจริยธรรม มีค่านิยมกตัญญูต่อประเทศชาติ การสร้างความรู้ความเข้าใจ ชี้ให้เห็นโทษและพิษภัยของระบบอุปถัมภ์ โดยเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ คนทุกเพศทุกวัย โดยใช้กลไกครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม ตลอดจนสื่อมวลชนเป็นพลังสำคัญ ควบคู่กับนำระบบคุณธรรม หลักธรรมาภิบาล ตลอดจนระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้

กฎเกณฑ์และหลักวิชาการที่ควรนำมาปฏิบัติในระบบราชการ

1.ระบบคุณธรรม

1.ความเสมอภาคในโอกาส 2.หลักความสามารถ 3.หลักความเป็นกลางทางการเมือง

2.หลักธรรมาภิบาล

1.การมีส่วนร่วม 2.นิติธรรม 3.ความโปร่งใส 4.การตอบสนอง 5.การมุ่งเน้นฉันทามติ 6.ความเสมอภาคและความเที่ยงธรรม 7.ประสิทธิภาพและประสิทธิผล 8.ภาระรับผิดชอบ 9.วิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์

3.พ.ร.ฎว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2556 ประกอบด้วย

1.การทำงานโดยมุ่งประโยชน์สุขของประชาชน บริหารราชการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และมุ่งให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อการพัฒนาชีวิตของประชาชน 2.เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ 3.มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ 4.มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ 6.ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ 7.มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

ข้าราชการต้องวางตนและปฏิบัติตน ดังนี้

(1) เป็นเสาหลักของแผ่นดิน เหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ข้าราชการก็จะยังเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนระบบราชการ (2) สร้างความเป็นมืออาชีพเพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจและศรัทธาของทั้งฝ่ายการเมืองและประชาชน (3) สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและระบบราชการ และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกน้อง (4) กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความหนักแน่นเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องพูดต้องแสดงออก (5) มีภาระผู้นำ เช่น กล้าลงโทษลูกน้องที่ทำผิด สามารถบริหารความเสี่ยง ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว (6) ระมัดระวังในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ มีวินัยทางการเงินการคลัง (7) รักษาระยะห่างกับฝ่ายการเมืองอย่างเหมาะสม ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายการเมืองในเรื่องส่วนตัว ต้องไม่เกรงกลัวอำนาจบารมี ไม่พูดตอบแบบรับอย่างเดียว หรือทำตามคำสั่งอย่างเดียว ไม่รับใช้ใกล้ชิดจนหมดความสง่างาม (8) หาแนวร่วม หาพันธมิตร และใช้สื่อให้เป็นประโยชน์

ข้าราชการต้องไม่ปฏิบัติตน ดังนี้

(1) เล่นพรรคเล่นพวกระหว่างข้าราชการด้วยกันเอง (2) กลั่นแกล้งผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์และทางก้าวหน้า โดยไม่คำนึงถึงระบบคุณธรรม (3) เกรงกลัวต่อการที่จะแนะนำให้ข้อคิดหรือยืนยันต่อฝ่ายการเมืองในกรณีที่ฝ่ายการเมืองประสงค์หรือสั่งการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (4) ใช้อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบริหารงานบุคคลใด ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง หรือพวกพ้องเครือญาติในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การแต่งตั้งนอกฤดูกาล (5) ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (6) ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและนำความเสื่อมเสียต่อตัวเองและราชการโดยรวม (7) ปัดความรับผิดชอบกรณีที่มีปัญหาร้องเรียนกรณีข้าราชการได้รับความไม่เป็นธรรม หรีือการร้องเรียนจากประชาชน (8) เอนเอียงเข้าหาฝ่ายการเมืองเพื่อประโยชน์

ส่วนตัวหรือเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่หรือเพื่อต่างตอบแทนผลในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับจะจริงจังมากน้อยเพียงใด