แก่แล้ว (ไม่) แก่เลย

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

“แก่แล้ว…แก่เลย” เป็นคำกระทบกระเทียบเปรียบเปรยที่อาจแสลงใจคนสูงวัย ทั้ง ๆ ที่อาจหมายถึงเฉพาะคนแก่ที่ถูกมองว่า “แก่เพราะกินข้าว” “เฒ่าเพราะอยู่นาน” แต่มันสมอง สติปัญญา ไม่ได้โตตามอายุ

คนสูงวัยหรือที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจึงควรเตรียมใจให้พร้อม ยิ้มรับวัยชรา ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรให้แก่อย่างมีคุณค่า ยังทำตนให้เป็นประโยชน์ ไม่กลายเป็นภาระของสังคม หรือคนรุ่นลูกหลาน

ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง นอกจากอีกไม่กี่ปีจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว อยากนำเรื่องราวดี ๆ มาบอกต่อ เป็นกำลังใจและแนวทางในการใช้ชีวิตในยามสูงวัยให้คุ้มค่า

สถิติจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2561 จากจำนวนประชากรทั่วประเทศ 77 จังหวัด รวม 66,413,598 คน แยกเป็น ชาย 32,555,890 คน หญิง 33,857,708 คน มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป 10,666,803 คน หรือ 16.06% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ แยกเป็นชาย 4,715,598 คน หญิง 5,951,205 คน หรือเท่ากับ 17.05% และ 17.98% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

โดย 5 จังหวัดแรกที่มีประชากรผู้สูงวัยมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,020,917 คน รองลงไปเป็น นครราชสีมา 435,347 คน เชียงใหม่ 316,847 คน ขอนแก่น 299,639 คน และอุบลราชธานี 264,957 คน ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุน้อยที่สุด คือ ระนอง 25,834 คน เทียบกับ 10 ประเทศแรกในโลกที่มีจำนวนประชากร

ผู้สูงอายุสูงที่สุด กลายเป็นสังคมผู้สูงวัย หรือ aging socity สมบูรณ์แบบไปแล้ว ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น ผู้สูงวัย 33.4% 2.อิตาลี 29.4% 3.เยอรมนี 28.0% 4.โปรตุเกส 27.9% 5.ฟินแลนด์ 27.8% 6.บัลแกเรีย 27.7% 7.โครเอเชีย 26.8% 8.กรีซ 26.5% 9.สโลวีเนีย 26.3% และ 10.ลัตเวีย 26.2% (จาก “สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2560 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย)

สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่าปี 2564 หรืออีก 2 ปี ข้างหน้า ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จะเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ จากนั้นปี 2579 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด

แต่คนแก่เต็มเมืองไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเตรียมความพร้อมรับมือและแปรสิ่งที่หลายคนอาจมองเป็นปัญหา ให้เป็นโอกาสและความท้าทาย ถือเป็นโชคดีของสังคมไทยที่หลายหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มีการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ในระดับชาติ รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โครงการ แผนงาน กิจกรรมของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานรองรับ ไม่รวมการจัดกิจกรรรมอีกสารพัด ทั้งทัวร์ธรรมะ ทริปแนวเฮฮา ปาร์ตี้ ทัวร์ท่องเที่ยว โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนสูงวัย ฯลฯ ที่ผู้ประกอบการมองเห็นช่องทาง และโอกาสทางการตลาด

ล่าสุด นอกจากกระทรวงแรงงานจะเดินหน้านโยบายส่งเสริมสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย อาทิ กำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ส่งเสริมการจ้างงานในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ พร้อมจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนจำนวนมากแล้ว สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้จัดตั้งศูนย์เตรียมบุคลากรภาครัฐผู้สูงวัยเข้าสู่งาน และมีแผนพัฒนาศักยภาพกำลังคนภาครัฐให้พร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน

โดยได้พัฒนาหลักสูตรกลางรวม 6 หลักสูตร ติวเข้มประกอบด้วย 1.หลักสูตร “เตรียมตัว เตรียมใจ ไปกับวันข้างหน้า 2.”อยู่อย่างไร…ให้สมาร์ตหลังเกษียณ” 3.”อายุไม่สำคัญ…พร้อม (ตาม) ทันสมัย” 4.”สมดุลชีวิต…ที่สร้างได้” 5.”บุคลากรยุคใหม่ ใส่ใจผู้สูงอายุ” และ 6.”ต่างวัย…ไม่ใช่ปัญหา” และออกแบบสำรวจความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุในส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐควบคู่กันด้วย

โอกาสสำหรับผู้สูงวัย แก่แล้วยังมีคุณค่า แบบมะพร้าวห้าว เฒ่าหัวเผือกหัวมัน มาถึงแล้ว