โอกาสของไทย ภายใต้การผงาดขึ้นของอาเซียน

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ [email protected]

ประเทศไทยนั้นสูญเสียโอกาสไปอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจากปัญหาวิกฤตการณ์การเมือง ความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตย และความไม่สมัครสมานสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ล่าสุด การพิจารณาคดีรับจำนำข้าวมีความคืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ขณะที่เรากำลังสาละวันกับการแก้ปัญหาภายใน ศูนย์กลางของโลกกำลังเคลื่อนย้ายสู่เอเชียตะวันออกมากขึ้นตามลำดับ

แม้นเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง อาเซียนบางประเทศเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมาย เอเชียโดยเฉพาะอาเซียนเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นแล้ว ยังคงมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของความมั่งคั่งดีกว่าภูมิภาคอื่นโดยเปรียบเทียบ ยุโรปยังอยู่ในวังวนของวิกฤติหนี้สิน การว่างงานระดับสูงและเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังดีขึ้น แต่ต้องมาเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งเรื่องสีผิว ซึ่งรัฐบาลทรัมป์ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ

เส้นทางการฟื้นตัวของสหรัฐจึงไม่สดสวยอย่างคาด ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ โดยที่เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากการเกินดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม เฉพาะครึ่งปีแรกปีนี้ก็มากกว่า 8 แสนกว่าล้านบาทแล้ว คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี อันเป็นตัวเลขสูงเป็นประวัติการณ์

ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียที่ยังดำเนินต่อไป เสริมให้วงจรขาขึ้นของประชาคมอาเซียนมีพลังและเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับประเทศไทย ที่ได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศ แม้นจีนจะเผชิญภาวะฟองสบู่และการชะลอตัวของเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็ยังได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เส้นทางความรุ่งเรืองของอาเซียนนั้นมีความเหมือนและแตกต่างจาก ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (The Japanese Economic Miracle) ในช่วง ค.ศ. 1955-1990 ซึ่งมีปัจจัยจากแรงผลักดันของสหรัฐอเมริกาผู้ยึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามและส่วนสำคัญในการสร้างญี่ปุ่นจากซากปรักหักพังขึ้นมาใหม่

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกและบางประเทศในอาเซียน ได้พัฒนาตัวเองเป็นประเทศอุตสาหกรรม (Industrialization) บางประเทศหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลาง กลายเป็นประเทศร่ำรวยหรือพัฒนาแล้ว แต่เกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออก ใช้สื่อสังคมอย่างแพร่หลายและกำลังเข้าสู่ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization) มากยิ่งกว่าภูมิภาคใดในโลก จึงเป็นโอกาสของเศรษฐกิจแบบดิจิทัลและธุรกิจ ICT ในไทยและอาเซียน แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงนำเข้าเทคโนโลยีโดยไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้เอง

จีนรวมทั้งอาเซียนที่ใช้ระบอบสังคมนิยมมีแผนการปฏิรูปแบบบูรณาการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีการเดินหน้าการเปิดเสรี (Liberalization) การผ่อนคลายกฎระเบียบ (Deregulation) การปฏิรูปการคลังและภาษี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ขนส่งคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค มีการขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศเหล่านี้ เป็นกำลังซื้อสำคัญของสินค้าไทย

การผงาดขึ้นทางเศรษฐกิจของอาเซียน (The rise of ASEAN Economy) ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญ วอชิงตัน ให้การสนับสนุน ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) ขณะที่ปักกิ่งผลักดัน แผนการร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อาเซียน (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) TPP จะมีการกำหนดมาตรฐานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมสูงกว่า RCEP โดยที่ RCEP ที่นำโดยจีนนั้น จะเน้นเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนในหมู่สมาชิก อันประกอบไปด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

จีนเน้นนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือสิทธิพลเมือง จีนมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง ความมั่งคั่งยังคงกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นนำ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดการกระจายตัวมากขึ้นเพื่อสังคมที่สันติสุข เสถียรภาพและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการเมือง

ภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทยเป็นทั้งศูนย์กลางของโลกด้านการจัดจ้างภายนอก (Outsourcing) และเป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการเพื่อการส่งออก การยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นไปอีกจึงอยู่ที่ความสามารถในการดูดซับความรู้และเทคโนโลยี สิ่งนี้ต้องการคุณภาพทรัพยากรมนุษย์มารองรับ และแต่ละประเทศย่อมมีข้อจำกัด เช่น ระบบราชการ ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย ระบบการศึกษา เป็นต้น

ขณะที่บริษัทข้ามชาตินอกภูมิภาคก็แสวงหาช่องทางลงทุนเพื่อลงหลักปักฐานในพื้นที่ที่มีการเติบโตสูงที่สุดในโลก การควบรวมกิจการ (M&A) และการขยายกิจการข้ามพรมแดนรัฐชาติมีมากอยู่แล้วในเวลานี้ เราจะเห็นมากยิ่งขึ้นอีกในทศวรรษหน้านี้

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมากขึ้น อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนและกระแสประชาธิปไตย เศรษฐกิจโลกหลังยุค QE ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแนวโน้มสำคัญที่มีผลต่อ “โฉมหน้าใหม่” ของอาเซียนและเอเชียตะวันออกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยภายใต้การผงาดขึ้นของอาเซียนจึงต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน มีแนวทางนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน แข่งขันกับสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้ เวลานี้เรามี 5 อุตสาหกรรมที่เรามีพื้นฐานแข็งแกร่งใช้ได้ คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรม ICT

ด้วยฐานของอุตสาหกรรมเหล่านี้ เราสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและบริหารห่วงโซ่อุปทานในอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อุตสาหกรรมเกษตรสามารถนำไปต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ฐานของอุตสาหกรรม ICT และอุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนาต่อยอดเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แบบครบวงจร

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่ในไทยและเอเชีย สภาพแวดล้อมทางการเงินได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแล (Regulatory Landscape) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางด้านการแข่งขัน (Competitive Landscape) นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ และนวัตกรรมทางการเงินได้เกิดขึ้นจำนวนมาก

อย่างเช่นตราสาร CDO สินเชื่อซับไพรม ประกอบกับการกำกับดูแลที่หละหลวม จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรเกินขนาดของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ระดับโลก จนเกิดการล้มละลายและปิดกิจการของสถาบันการเงินเก่าแก่หลายแห่ง นำไปสู่วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพรมในปี พ.ศ. 2551 และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินไปทั่วโลก

ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 2001 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินไว้อย่างน่าสนใจทาง Website ของ Econ-omist.com ว่า นวัตกรรมทางการเงินหลายอย่างในอดีตมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงิน ซึ่ง

ส่งผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่า นวัตกรรมทางการเงินหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ ยังมองไม่ออกว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจและภาคการผลิตที่แท้จริงอย่างไร

นวัตกรรมหลายอย่างในระยะหลังมุ่งหวังเพียงส่งเสริมการเก็งกำไรในตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำไรดังกล่าวเป็นเสมือนภาพลวงตา เกิดขึ้นและหายไปภายหลังจากฟองสบู่ของการเก็งกำไรแตกตัวลง

ขณะที่ อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในที่ประชุม Future Industry Association เมื่อปี พ.ศ. 2542 ซึ่งสะท้อนการขยายตัวของนวัตกรรมทางการเงินและการเติบโตของตราสารอนุพันธ์ได้เป็นอย่างดีว่า “การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในตลาดการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือการเติบโตและขยายตัวของอนุพันธ์ทางการเงิน By Far the most significant event in finance during the past decade has been the extraordinary development and expansion of financial derivatives” นอกจากตราสารทางการเงินที่เราคุ้นเคยในตลาดการเงิน เช่น หุ้นสามัญ (Common Stock) หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) หุ้นกู้ (Debenture) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) ยังมีนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราสารบางชนิดได้ถูกพัฒนามานานมากแล้ว แต่อาจเป็นตราสารที่เราอาจไม่คุ้นเคยนัก หากไม่ได้อยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุน

ความผันผวนของตลาดการเงิน ความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงของกฎและข้อบังคับทางการเงิน ความต้องการกำไรและผลตอบแทนสูงขึ้น ความต้องการในการลดต้นทุนและประสิทธิภาพ ประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคการเงิน จึงทำให้เกิด นวัตกรรมทางการเงิน (Financial Innovation) ขึ้น เราสามารถมองการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในภาคการเงินการธนาคาร ออกเป็น สองช่วง ด้วยกัน

ช่วงแรก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมในกิจการการเงินการธนาคาร เช่น การทำประมวลผลวิเคราะห์คะแนนความน่าเชื่อถือของลูกค้า (Credit Score) การใช้ Phone หรือ Tele-Banking เป็นต้น

ช่วงที่สอง การพัฒนาวิธีการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง เช่น E-cash, e-Banking เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องมือทางการเงินยังได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้บริหารหนี้สินและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินและลูกค้าในอาเซียนนั้น

ชัดเจนว่า สิงคโปร์วางยุทธศาสตร์ให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนในภูมิภาค บทบาทของไทยควรเป็นอย่างไร เราควรพัฒนาเกาะภูเก็ตเป็นศูนย์กลางบริการทางการเงินหรือไม่ และเราควรมียุทธศาสตร์เพื่อให้ “เงินบาท” เป็นเงินสกุลภูมิภาคหรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องตัดสินใจ และวางยุทธศาสตร์และแผนงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย