การพัฒนา EIA-HIA ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย เนตรชนก ต๊ะปินตา ทีมกรุ๊ป

 

ประเทศไทยได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 คือ การตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 โดยมีการพัฒนาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2524 มีการออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการที่ต้องมีรายงาน EIA จำนวน 10 ประเภทโครงการ ต่อมาในปี 2527 ได้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตทำรายงาน EIA

จากนั้นได้มีการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ปี 2535 ได้มีการตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งมีการนำระบบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการมาใช้

ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงระบบ EIA อีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นที่มาของการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA)

และเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ จึงนำมาซึ่งการปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 และมีการออกกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจำนวนหลายฉบับ

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงให้กฎหมายทันสมัยและสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้ว ยังระบุเหตุผลว่า “เพื่อให้มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน ในการดำรงไว้ซึ่งการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล”

ซึ่งประเด็นสำคัญใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ

1) การกล่าวถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยกำหนดให้ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามระเบียบหรือกฎหมายอื่นใดไว้แล้ว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่เองไม่ได้กำหนดให้มีการจัดทำ SEA และปัจจุบันยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายฉบับอื่นใดที่กำหนดให้มีการจัดทำ SEA

2) กำหนดโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่นใดของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง (EHIA) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

3) เปิดโอกาสให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐปฏิบัติหน้าที่แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในการพิจารณาเสนอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เว้นแต่โครงการบางลักษณะที่มีผลกระทบรุนแรง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งน่าจะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น

4) ในกรณีที่คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) ไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ดำเนินการ หรือผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการเพิ่มเติม หรือจัดทำรายงานใหม่ตามรายละเอียดที่ คชก.กำหนดภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผล มิฉะนั้น จะถือว่าผู้นั้นไม่ประสงค์จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

5) กำหนดกระบวนการติดตามการปฏิบัติตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตที่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว จัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

หากผู้ใดไม่ดำเนินการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และในกรณีที่ผู้ดำเนินการ หรือผู้ขออนุญาตไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต ให้ สผ.เสนอแนะให้หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้

6) รายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายฉบับนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นของผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบ

7) ประการสุดท้าย กำหนดโทษกรณีที่มีการก่อสร้าง หรือดำเนินโครงการหรือกิจการ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบปรับได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบมากขึ้น ซึ่งจะใช้เป็นบทบังคับให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ มีการดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดขึ้น