ภาคบริการไทย เปลี่ยนให้ปัง ! ปรับให้โดน !

คอลัมน์ ร่วมด้วยช่วยกัน

โดย ดร.จิตเกษม พรประพันธ์, ปวีร์ ศิริมัย,ฐิตา เภกานนท์, กชพรรณ สัลเลขนันท์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.

ภายใต้ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอิทธิพลของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจเละพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อแรงส่งจากภาคการส่งออกนั้นแผ่วลง ภาคบริการของไทยเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจโครงสร้างภาคบริการไทย และร่วมกันหาคำตอบว่าในโลกยุคใหม่ เราควรเดินหน้าอย่างไรให้ภาคบริการสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย

ในบริบทโลกที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เติบโตและร่ำรวยขึ้น ภาคบริการก็มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศรายได้สูง เช่น อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ภาคบริการมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 75% ของ GDP และแรงขับเคลื่อนหลักมาจากธุรกิจบริการสมัยใหม่ (modern service) อาทิ บริการด้าน IT software การเงิน รวมถึงการค้นคว้าและวิจัย (R&D) ที่ส่วนใหญ่มีการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ภาคบริการมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 57% ของ GDP และแรงขับเคลื่อนหลักมาจาก traditional services โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

หากหันกลับมามองภาคบริการไทยผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง เช่น ข้อมูล GDP ดุลการชำระเงิน และข้อมูลการจ้างงาน จะพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างภาคบริการไทยใน 3 ประการ

(1) Traditional Services ยังคงครองความสำคัญในลำดับต้น ๆ

ในประเทศไทย ภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนจากสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นจาก 59% ในปี 2000 เป็น 64% ในปี 2018 อย่างไรก็ดี ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาคบริการไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดย traditional services ยังคงครองความสำคัญในลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น ภาคการค้า โรงแรมเละภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฮีโร่ของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณความเปราะบางชัดเจนขึ้น เช่น การกระจุกตัวในเชิงสัญชาตินักท่องเที่ยวและเชิงพื้นที่ อีกทั้งธุรกิจยังเน้นแข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก สะท้อนจากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับต่ำ แม้จำนวนจะขยายตัวต่อเนื่อง

(2) Modern Services มีแนวโน้มเติบโตช้าและมีขนาดเล็ก

แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ modern services เป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ แต่สำหรับประเทศไทย modern services ยังคงมีขนาดเล็ก โดยมีสัดส่วนใน GDP เพียง 14% และเพิ่งขยายตัวชัดเจนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตกระจุกตัวในธุรกิจการเงินและโทรคมนาคม ซึ่งผู้เล่นหลักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่ modern services อื่น ๆ เช่น กิจกรรมให้คำปรึกษา และ R&D กลับขยายตัวต่ำ นอกจากนี้ ธุรกิจไทยยังต้องพึ่งพาและนำเข้าบริการเหล่านี้จากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก (1) ปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและประสบการณ์เฉพาะด้าน และ (2) กฎหมายที่ซับซ้อนและไม่ชัดเจน เช่น ความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property : IP law) ?

(3) จ้างแรงงานจำนวนมาก แต่…ผลิตภาพขยายตัวต่ำ

จำนวนแรงงานในภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับไปกับความสำคัญที่มากขึ้น โดยในปี 2018 ไทยมีแรงงานในภาคบริการถึง 20 ล้านคน หรือประมาณ 52% ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาด้านผลิตภาพกลับพบว่า ภาคบริการมีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าภาคการผลิต ทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการเติบโต และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีผลิตภาพแรงงานภาคบริการอยู่ที่ 1.1 พันดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 2.4 เท่า และถือว่าต่ำกว่าสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย modern services อย่างมาก โดยผลิตภาพแรงงานภาคบริการมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 7 พันดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งมาจากการที่แรงงานกว่า 70% กระจุกตัวใน traditional services ซึ่งพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำเป็นหลัก และมีการใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก อาทิ ภาคการค้าที่แรงงานส่วนใหญ่ทำธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม (โชห่วย) และนำ technology มาใช้ทำธุรกิจค่อนข้างน้อย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งแม้ว่าจะได้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ ทั้งการจองโรงแรมและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ธุรกิจยังคงพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ เช่น แม่บ้านและพนักงานเสิร์ฟ ส่งผลให้ผลิตภาพและรายได้ของแรงงานเติบโตไม่สอดคล้องกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยที่ยังคงขับเคลื่อนด้วย traditional services นับวันจะมีความเสี่ยงโดยเฉพาะจากอิทธิพลของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ถึงเวลาที่ภาคบริการไทยจะต้องปรับ โดยเฉพาะการอัพเดตกลไกเดิมให้สามารถหมุนได้เท่าทันกับกระแสโลก และการเสริมกำลังให้ modern services มีความพร้อมและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนภาคบริการไทยให้ชัดเจนและสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตที่หลากหลาย เราจึงได้จำแนกธุรกิจบริการในประเทศไทยเป็น 4 กลุ่ม โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด Thailand Competitiveness Matrix (หมายเหตุ 1) และข้อมูลการจ้างงาน (หมายเหตุ 2)

(1) กลุ่มศักยภาพ ประกอบด้วยธุรกิจแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีทางการเงิน และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมในการเติบโต ทั้งในด้านตลาดและแรงงาน อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนมาจาก global trends เช่น aging society และ digital transformation

(2) กลุ่มเสริมแกร่ง เป็นกลุ่มที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยว แต่ต้องการการยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเติบโต เพราะปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ข้อจำกัดจากประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบคมนาคม ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีปัญหาด้านผลิตภาพแรงงานที่ทรงตัวในระดับต่ำ

(3) กลุ่มสวนกระแสโลก ประกอบด้วยธุรกิจที่ควรจะได้รับอานิสงส์จากการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) แต่ในประเทศไทยกลับมีอัตราการเติบโตต่ำ อีกทั้งยังคงต้องนำเข้าบริการเหล่านี้จากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี R&D การโฆษณาและการตลาด

(4) กลุ่มต้องปรับตัวให้อยู่รอด เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจและจ้างงาน เช่น ภาคการค้าและก่อสร้าง แต่ที่ผ่านมาความสามารถทางการแข่งขันลดลง ธุรกิจมีความเปราะบาง เพราะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น กระแส e-Commerce

จากการวิเคราะห์จะเห็นว่า เราควรออกแบบแนวทางการสนับสนุนภาคบริการให้ตรงจุดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เพราะธุรกิจบริการของไทยมีพัฒนาการแตกต่างกัน บางกลุ่มอยู่ในช่วงตั้งไข่ บ้างกำลังเติบโตสอดรับกับกระแสโลก บ้างก็มีความเปราะบางจำเป็นต้องผลักดันให้สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

แต่ไม่ว่าจะกลุ่มไหน เศรษฐกิจไทยควรก้าวไปสู่การขับเคลื่อนด้วย “ภาคบริการเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งแนวทางการพัฒนาควรเริ่มต้นจาก “คน” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของภาคบริการ เราควรเตรียมความพร้อมให้แรงงานมีจำนวนเพียงพอและมีทักษะที่สอดรับกับความต้องการของตลาด เช่น กลุ่ม STEM และทักษะทางภาษา

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจบริการต้องปรับตัวให้เท่าทัน ซึ่งภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านดิจิทัล เช่น การจัดทำหรือสนับสนุน free software รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจบน online platform เป็นต้น