“หลุมดำ” เศรษฐกิจไตรมาส 4

คอลัมน์ สามัญสำนึก :  สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ไตรมาส 4 ปีนี้ถือเป็น “หลุมดำ” ของเศรษฐกิจไทยที่หลายปัญหาจะมาปะทุในช่วงปลายปี หนึ่งในโจทย์ใหญ่ขณะนี้คือ หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ วันที่ 22 ตุลาคมนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักหนี้ 12.82 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 6.88 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งระบบ จะมีสภาพอย่างไร จะมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติจำนวนเท่าไหร่

ตัวเลขหนี้เสียไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยังขยับขึ้นไม่มาก เพราะธุรกิจได้สิทธิ์ในการพักหนี้ ทำให้ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการใช้จ่าย แต่หากมีภาระต้องจ่ายหนี้ ทั้งที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมา จะมีผู้ประกอบการจำนวนเท่าไหร่ที่สามารถไปต่อได้

คำถามนี้แม้แต่นายแบงก์ที่เป็นผู้มีข้อมูลลูกหนี้มากที่สุด ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างไร และในกรณีเลวร้ายสุด หากลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบสถาบันการเงิน ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้คือ ต้องเร่งหามาตรการ “พยุงธุรกิจ” ไม่ให้มีปัญหากลายเป็น “หนี้เสีย” จนส่งผลกระทบถึงระบบสถาบันการเงินที่จะทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงจับมือกับสมาคมธนาคารไทย เปิดโครงการ “ปรับโครงสร้างหนี้” สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีเจ้าหนี้หลายราย มูลหนี้ 50-500 ล้านบาท จะเป็นเอ็นพีแอลหรือไม่ก็ตาม เข้าร่วมโครงการเพื่อที่จะ “รวมหนี้” เป็นก้อนเดียว เพื่อบรรเทาภาระหนี้โดยรวม

ทั้งลดเวลาเจรจากับ “เจ้าหนี้” หลายราย ภายใต้ชื่อโครงการ “DR BIZ-การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ก็ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือจนถึงขั้นแฮร์คัต (ลดหนี้) รวมถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานะของลูกหนี้แต่ละราย

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงประตูด่านแรกของการแก้ปัญหา เพราะด้วยขนาดของวิกฤตที่ใหญ่มาก และยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของปัญหา

แต่ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ และบรรดานายแบงก์ก็ยอมรับว่า ถ้าหากไปเร่งดำเนินการก็จะยิ่งทำให้แบงก์เผชิญความเสี่ยงที่ยากจะประเมินมากยิ่งขึ้น และจากปัญหา “สภาพคล่อง” ของผู้ประกอบการ ก็จะส่งไปถึงปัญหา “แรงงาน” ทันที

ซึ่งช่วงไตรมาส 4 อีกเช่นกันที่หลายฝ่ายประเมินว่า จะมีธุรกิจจำนวนมากเสี่ยงต้องเลิกจ้างหรือปิดกิจการ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องรองรับไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาพยายามประคองตัว แต่การระบาดโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจกลั้นหายใจต่อไม่ไหว และเกิดปรากฏการณ์เลิกจ้างหรือปิดกิจการมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4

เพราะมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของแบงก์ชาติ 5 แสนล้านบาท ที่หวังจะเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจ แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อย เพราะเห็นว่าเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียสูง ทำให้ถึงขณะนี้ปล่อยไปได้เพียง 1.1 แสนล้านบาท

โดยตัวเลขว่างงาน ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 7.5 แสนคน แต่ “สภาพัฒน์” ก็ส่งสัญญาณเตือนว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแรงงานในระบบที่อยู่ในความเสี่ยง “ตกงาน” อีก 1.75 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังปิดชั่วคราว หรือกลุ่มที่ใช้สิทธิ์มาตรา 75 คือให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว โดยที่บริษัทจ่ายค่าจ้าง 75% และยังมีผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 2563 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีก 5.2 แสนคน จะหางานทำได้ยากขึ้น

ดังนั้น ครม.ใหม่ประยุทธ์ 2/2 จึงต้องเร่งเครื่องเต็มที่ เพื่อที่จะฝ่า “หลุมดำ” ที่รออยู่ข้างหน้า โดยการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ (ศบศ.) ขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ โจทย์เร่งด่วนก็คือ “พยุงเอสเอ็มอี” ให้สามารถเดินต่อไป พร้อมกับดึงธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาช่วย “จ้างงานใหม่” โดยที่รัฐบาลจะอุดหนุนด้วยการ “ร่วมจ่ายเงินเดือน” บางส่วน เป็นระยะเวลาราว 12 เดือน

ต้องติดตามกันต่อไปว่าในภาวะวิกฤตจะมีธุรกิจใหญ่โดดเข้ามาช่วยอุ้มนโยบายรัฐมากน้อยแค่ไหน