ถึงเวลาประเทศไทย… เปิดรับ “ต่างชาติ” หรือยัง ?

ภูเก็ตเปิดรับนักท่องเที่ยว
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

นับตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป เชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยจำนวนไม่น้อยคงจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักเมื่อได้รับข้อมูลว่า รัฐบาลไทยเราได้เริ่มทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาแล้ว

โดยจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า เที่ยวบินแรกที่จะบินเข้าประเทศไทย คือ กลุ่มลองสเตย์จากเมืองกว่างโจว ประเทศจีน จำนวน 150 คน โดยสารเครื่องบินชาร์เตอร์ไฟลต์ หรือเครื่องเช่าเหมาลำ บินตรงสู่เมืองภูเก็ตในวันที่ 8 ตุลาคมนี้

และจะมีเข้ามาเพิ่มเติมอีกในวันที่ 25 ตุลาคม โดยเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินไทยสมายล์ จำนวน 126 คน ที่บินตรงเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมเข้ากักตัวที่โรงแรม ASQ ในกรุงเทพฯ รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำของการบินไทยจากโซนยุโรป สแกนดิเนเวีย และเชงเก้นอีก 120 คน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน

ต้องยอมรับกระแสข่าวนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนไทยส่วนหนึ่งไม่น้อย เพราะหวั่นว่านักเดินทางเหล่านี้จะนำมาซึ่งการระบาดของไวรัสโควิดอีกครั้ง หลังจากที่คนไทยทั้งประเทศรู้สึกสบายใจกับการกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว

ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่ามีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ลุ้นและอยากให้รัฐบาลเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แล้ว โดยมองว่ากลุ่มนักเดินทางเหล่านี้กระเป๋าหนัก ใช้จ่ายสูง น่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศไทยในช่วงวิกฤตแบบนี้ได้บ้าง

โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่เคยทำรายได้เข้าประเทศปีละ 2 ล้านล้านบาทนั้นได้หยุดชะงัก ผู้ประกอบการมีรายได้แทบจะเป็นศูนย์มาร่วม 7-8 เดือนแล้ว คนในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคนได้รับผลกระทบอย่างหนัก

การแง้มประตูรับต่างชาติครั้งนี้ จึงเป็นสัญญาณบวกที่ดีสำหรับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย

ที่สำคัญ แนวทางดังกล่าวยังช่วยให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเกิด “ความหวัง” ขึ้นมาทันที เพราะหากกลุ่มแรกที่เข้ามาไม่สร้างปัญหา และเราสามารถบริหารจัดการได้ นั่นหมายถึงโอกาสที่ “ประตู” จะเปิดกว้างขึ้น และกว้างขึ้น ตามมาแน่นอน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเราก็จะมี “โอกาส” ฟื้นตัวได้ในเวลาที่เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,362 คน ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก คือ ภูเก็ต, เชียงใหม่, เกาะสมุย, กระบี่, พัทยา (ชลบุรี) เกี่ยวกับนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทั่วไปทุกประเทศ แต่เห็นด้วยว่าควรเปิดรับกลุ่มที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยมีเพียงคนในภูเก็ตและสมุยเที่ยอมรับการท่องเที่ยวแบบจับคู่ประเทศ เช่นเดียวกับความเห็น กรณีกลุ่มที่เข้ามาพักระยะยาว หรือลองสเตย์นั้น 1-2 ปีที่คนส่วนใหญ่ในภูเก็ตและสมุยที่ยอมรับ

ที่สำคัญ ยังพบว่าคนส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ควรมีการกักตัว 14 วัน และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น

หากสรุปจากผลการสำรวจนี้จะพบว่ามีเพียงแค่ภูเก็ตและเกาะสมุย 2 พื้นที่เท่านั้นที่ยินดีต้อนรับชาวต่างชาติ และการเข้ามาก็ต้องกักตัว 14 วันตามมาตรฐานของ ศบค.ด้วย

แต่ในความเป็นจริงขณะนี้รัฐบาลไทยเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาแล้วกว่า 10 กลุ่ม อาทิ กลุ่มจัดแสดงสินค้า, เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์, ลองสเตย์, นักกีฬา, สมาชิกบัตรอีลิตการ์ด, สมาชิกบัตร APEC ฯลฯ เข้ามาจังหวัดไหนก็ได้ทั่วประเทศ และกักตัว 14 วัน

ในมุมผู้เขียนเองยอมรับว่า แอบลุ้นให้ไทยลองเปิดรับต่างชาติดูบ้าง แต่อยากให้ทดลองเป็นกรุ๊ปขนาดเล็กก่อน และทำแบบเปิดเผย ทำให้คนไทยทั่วประเทศเห็นว่ารัฐมีขั้นตอนการบริหารจัดการที่เป็นขั้นเป็นตอน มีระบบที่ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเกิดความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะปลอดภัย

เพราะเชื่อว่า หากทุกคนได้เห็นถึงขั้นตอนการดูแลชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอย่างปลอดภัย สุดท้ายพวกเขาจะเกิดความเชื่อมั่นและเปิดใจยอมรับได้มากขึ้น เมื่อถึงเวลานที่รัฐประกาศลดจำนวนวันกักตัว หรืออาจจะไม่ต้องกักตัวเลย คนไทยก็ไม่รู้สึกกลัวและสบายใจมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ร่วมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขอเพียงแค่ทำทีละสเต็ป อย่าใจร้อน และอย่าลืมว่าการสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่เป็นประเด็น่สำคัญที่สุด