กสทช.ชุดใหม่

คอลัมน์ สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีบทบาทสูงยิ่งทั้งในแง่การสร้างเม็ดเงินนำส่งรายได้เข้ารัฐ และขับเคลื่อนการพัฒนาบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือผ่านการ “ประมูลความถี่” จาก 3G สู่ 5G ยังไม่นับการสร้างงานจากการลงทุนของเอกชนทั้งผู้ให้บริการ ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้พัฒนาคอนเทนต์ทั้งหลาย

ในฟากบรอดแคสติ้งก็ด้วย แม้ “กสทช.” จะได้ก้อนหินมากกว่าดอกไม้ เพราะเปลี่ยนผ่านทีวีจากแอนะล็อกสู่ “ดิจิทัล”ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นมาก จาก 6 เป็น 48 ช่อง (ธุรกิจ 24 ช่อง) ในมุมผู้บริโภคน่าจะดีเพราะเพิ่มทางเลือกใหม่ แต่โชคร้ายเกิดในจังหวะที่ไม่มีใครมองเห็นมหันตภัยคลื่นยักษ์ระดับสึนามิของ “ดิจิทัลดิสรัปต์” ทำให้บางรายขอคืนใบอนุญาต บางรายเปลี่ยนมือ ปัจจุบันเหลือแค่ 15 ช่อง

ก่อนหน้านี้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการ กสทช.ระบุว่า สำนักงาน กสทช.ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ไปแล้ว 3,420 MHz คิดเป็นเงินนำส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีบริการ 5G

หลังพ้นตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. “ฐากร” ลงสมัครชิงเก้าอี้ กสทช.ชุดใหม่ด้วย ถือเป็นตัวเต็งแต่ปรากฏว่าหลังสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์แล้ว กลับไม่ติด 1 ใน 14 รายชื่อ ทั้งที่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งมีบทบาทสูงยิ่งในการขับเคลื่อนผลักดันหลายสิ่ง ทำให้การสรรหา กสทช.ชุดใหม่กลับมาอยู่ในความสนใจทันที

5G ที่เพิ่งคิกออฟจะไปต่อยังไง และอีกมากมาย…ในมุมมองของเอกชนคาดหวังอะไรจาก กสทช.ชุดใหม่

“สุเทพ เตมานุวัตร์” หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า มี 3 เรื่องที่อยากเห็น คือ 1.การกำกับดูแลแนว 3 สร้าง คือ “สร้างสรรค์ สร้างเสริม และสร้างประโยชน์”

“ที่ผ่านมาเน้นการประมูลคลื่นเพื่อนำเงินเข้าประเทศ แต่การกำกับหรือดำเนินงานที่แท้จริงควรพิจารณาจากการที่ประเทศชาตินำไปต่อยอดให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูป GDP ที่จับต้องได้ อย่าติดกับดักเดิม ๆ อ้างแต่ กม.การจัดสรรคลื่นว่าต้องประมูล”

2.อยากเห็นการกำกับดูแลในแนวสนับสนุนการให้บริการ หรือการทำงานของผู้ให้บริการ ไม่ใช่การกำกับดูแลที่ออกมาขีดเส้นหรือกรอบ เกิดการตรวจสอบว่ากระทำผิดหรือไม่เพื่อลงโทษ ซึ่งเป็นการกำกับรูปแบบเก่าที่แข่งขันไม่สมบูรณ์ แต่ปัจจุบันการแข่งขันอยู่ในสภาพสมบูรณ์ถึงขีดสุด ทั้งราคาการเข้าถึง คุณภาพบริการ ไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก

และ 3.อยากเห็นนโยบายที่ปฏิบัติได้ และมองไป 3-5 ปีข้างหน้าเพื่อพาประเทศให้แข่งกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่นได้ เช่น OTT, ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ควรผลักดันในฐานะผู้กำหนดทิศทางการให้คลื่นตอบโจทย์นโยบายดิจิทัล

ด้าน จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่เปลี่ยนแปลงความเป็นองค์กรกำกับไปสู่องค์กรส่งเสริมรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาต เช่น กรณีการเข้ามาของแพลตฟอร์มข้ามชาติที่ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เช่น เน็ตฟลิกซ์ แต่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งกระดาน

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ฝั่งผู้ประกอบการโทรทัศน์มีคู่แข่งระดับโลกเข้ามาแข่งโดยง่ายในต้นทุนที่ต่ำ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ เพราะ กสทช.เก็บเฉพาะกับผู้รับใบอนุญาตในประเทศ อีกด้านก็ทำร้ายผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่ต้องเตรียมทรัพยากรทั้งคลื่นราคาสูง ค่าใช้คลื่น ค่าเลขหมาย ค่า USO ภายใต้การถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด”

นอกจากนี้ กสทช.ควรปรับปรุงกฎระเบียบ และประกาศต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย มีการจัดทำแผนการกำหนดแถบคลื่น, การจัดสรรความถี่สำหรับอนาคต รวมถึงปรับปรุงวิธีการจัดสรรคลื่นจากที่มีเพียง “วิธีประมูล”

“ในฐานะคนไทยเราอยากเห็นนโยบายที่สะท้อนการแข่งขันที่เท่าเทียมเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ ชิงแชมป์กับเขาได้บ้าง ซึ่งภาคเอกชนทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องมีนโยบายรัฐเป็นแกนหลัก”

ความเห็นข้างต้นเป็นสิ่งที่ “กสทช.ชุดใหม่” ควรรับฟัง