ห้ามตก ยุคทอง “สตาร์ตอัพ” อาเซียน

ประยุทธ์
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

 

ภูมิภาคอาเซียนถูกมองว่าเป็น “rising star” แห่งวงการสตาร์ตอัพ ด้วยความที่มีประชากรรวมกันเป็นจำนวนมาก และประชากรหลายสิบล้านคนเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าถึงเทคโนโลยี-สมาร์ทโฟน ทำให้นักลงทุนจากโลกตะวันตก หันมาทุ่มเงินมหาศาลเพื่อมาลงทุนในภูมิภาคนี้

ช่วงพฤศจิกายนที่ผ่านมา เว็บไซต์สเตรตส์ ไทมส์ ของสิงคโปร์ อัพเดตข้อมูลสตาร์ตอัพอาเซียนล่าสุด จากเครดิตสวิส เมื่อเดือนตุลาคมว่า

แค่ในปี 2564 ปีเดียว มีสตาร์ตอัพของภูมิภาคอาเซียน 19 แห่ง กลายเป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ

อีกทั้งสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นทั้งหมด 30 กว่าบริษัท เป็นของสิงคโปร์เสีย 15 ราย ขณะที่อินโดนีเซีย 11 ราย รวม ๆ แล้วเป็นสตาร์ตอัพด้านฟินเทค อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และว่ากันว่า อีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย อาจมียูนิคอร์นเกิดใหม่ไตรมาสละตัว

ส่วนของไทยมีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นจริง ๆ แค่ 2 ราย คือ แฟลช เอ็กซ์เพรส และ บิทคับ แคปปิตอล

แม้ว่าไทยเริ่มมีนโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพด้วยการออกกฎหมายต่าง ๆ สนับสนุนด้านภาษี พัฒนา ecosystem มาตั้งแต่ปี 2559 แต่แรงหนุนจากภาครัฐดูเหมือนไม่เต็มที่เท่าที่ควร ทั้งที่รู้ว่าคือโอกาสแห่งอนาคต

อาจเพราะมีปัญหาการเมืองภายในรัฐบาล ทั้งที่คุมได้-คุมไม่ได้ คนที่มีความรู้อาจถูกกันออกจากวง ด้วยอิทธิฤทธิ์ของนักการเมืองเขี้ยวลากดิน การพึ่งพารัฐราชการมากเกินไป หรือปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564

1 ใน 4 วาระขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ วาระขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการดึงดูดลงทุนสตาร์ตอัพ ปลดล็อกพันธนาการจากกฎหมายที่ล้าหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนในสตาร์ตอัพของประเทศไทยมีข้อจำกัด ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุน (venture capital) หรือ VC มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของประเทศไทยบางประการ

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการพิจารณาภาษีการลงทุนในสตาร์ตอัพ พ.ร.ฎ.ยกเว้น “ภาษี Capital Gain Tax 0%” ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานกับสภาดิจิทัลฯ หารือในรายละเอียดว่าจะปรับอัตราภาษีอย่างไร เพื่อให้ VC มาลงทุนในประเทศไทย

และขอให้ไปดูว่าใน ecosystem ของการทำสตาร์ตอัพ นอกจากเกณฑ์ภาษียังมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่มีข้อจำกัด ที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงเพื่อดึงดูดสตาร์ตอัพจากต่างประเทศเข้ามา โดยให้เวลา 1 เดือนเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม

ในวงประชุมได้พิจารณาภาพรวมการลงทุนสตาร์ตอัพในอาเซียน ไทยมีการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 14% แต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 5%

อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2558 เพิ่มขึ้น 36% และปี 2563 เพิ่มขึ้น 70% ส่วนสิงคโปร์ ปี 2558 เพิ่มขึ้น 33% และปี 2563 เพิ่มขึ้น 14%

ในทางกลับกัน สตาร์ตอัพไทยที่กำลังโต กว่า 80% ถูกเสนอเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์

ขณะเดียวกัน อัตราภาษีลงทุนในสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ไทยยังเสียเปรียบอยู่อีกหลายประเทศ

โดยไทยคิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 0-35% และนิติบุคคล 15% ขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ไม่คิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนอินโดนีเซียคิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 5% นิติบุคคล 5% ฟิลิปปินส์คิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 15% นิติบุคคล 5% และเวียดนามคิดอัตราภาษีบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล เท่ากัน 20%

ดังนั้น เป้าหมายที่จะดึงให้สตาร์ตอัพย้ายกลับไทย-ลงทุนเพิ่ม ด้วยการยกเว้นภาษีลงทุนในสตาร์ตอัพ ปรับปรุง พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษี ปี 2559 และ 2560 โดยเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2565

ขณะเดียวกันมีการพูดถึง ecosystem ของการพัฒนาสตาร์ตอัพ 7 ขั้น ประกอบด้วย 1.งบฯลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยไทย หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็น 2% ของ GDP ไทย ต้องต่อเนื่องเชื่อมโยงตลาดและเอกชน

2.ส่งเสริม tech startup 3.ให้มี excellent center/มหาวิทยาลัยที่ลงทุนด้าน school of technology 4.ถ้านักวิทยาศาสตร์ไทยไม่รวยก็ไม่เกิด 5.ดึงนักวิทยาศาสตร์และ tech startup จากทั่วโลก 6.ตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลาง 7.ระบบการศึกษาไทย

ทั้งหมดนำมาสู่เป้าหมายปี 2565-2569 จะสามารถเพิ่มสตาร์ตอัพจาก 1,000 ราย เป็น 10,000 ราย ซึ่งจะเกิดการจ้างงานเพิ่มจาก 40,000 ราย เป็น 400,000 ราย โดยเชื่อว่าจะสู้กับสิงคโปร์ ที่มีจำนวน 55,000 ราย และอินโดนีเซีย ที่มีจำนวนสตาร์ตอัพ 5,000 ราย ได้

ที่กล่าวมาข้างต้น ภูมิภาคอาเซียนกำลังโดดเด่นเรื่องสตาร์ตอัพ แข่งกับอินเดีย-จีน

การขยับของรัฐบาลแค่นี้ยังถือว่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าขยับช้า…อาจตกขบวนไปไกล ยิ่งกว่าเรื่องรถไฟความเร็วสูง