เปิดผลสำรวจแรงงานทั่วโลก ขาดแคลนทักษะ มุ่งทำงานไฮบริด

แรงงาน

ปัจจุบันตลาดแรงงานทั่วโลกมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ และความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี, โทรคมนาคม, เภสัชกรรม, เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ ขณะเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในด้านประสิทธิภาพต้นทุน และความพร้อมของบุคลากร

ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของพนักงานที่มีอยู่ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในกลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลนเนียล เพื่อทดแทนแรงงานกลุ่มสูงอายุที่ออกจากตลาดแรงงานไปแล้ว

ดังนั้น เมื่อดูจากรายงานประจำปีฉบับที่ 9 ของ Total Workforce Index (TM) ซึ่งเป็นการรายงานดัชนีแรงงานทั้งหมดที่จัดทำโดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ป เพื่อประเมินความพร้อมของแรงงานทั่วโลก ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล และปัจจัยกว่า 200 รายการ อาทิ ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าหรือบริการ, การย้ายถิ่นของแรงงาน, ภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ

โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานที่มีทักษะในตลาดแรงงานจำนวน 69 แห่งทั่วโลก เพื่อเน้นการให้น้ำหนักความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด และการเพิ่มความยืดหยุ่นของนายจ้าง จนปรากฏผลออกมาเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ด้านความพร้อมในการทำงาน 2) ด้านประสิทธิภาพด้านต้นทุน 3) ด้านกฎระเบียบ และ 4) ด้านผลผลิต

จนกระทั่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจคือตลาดแรงงานใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์ และแคนาดา, ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในด้านความพร้อมของประสิทธิภาพต้นทุน, อินโดนีเซียขยับขึ้นจากอันดับที่ 12 เป็นอันดับที่ 2

เนื่องจากดัชนีค่าจ้างเฉลี่ย และต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่กำลังมองหาแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะ และความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด

ส่วนฟิลิปปินส์, มาเลเซีย เข้าสู่ 10 อันดับแรก โดยอยู่ที่อันดับ 8 และ 10 ตามลำดับ เนื่องจากมีความต้องการในการทำงานแบบไฮบริดเพิ่มขึ้น ความต้องการด้านการศึกษาที่ลดขนาดลง และความต้องการทักษะที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่จีนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับโลกที่ใหญ่ขึ้นในการผลิตยา, เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากประสิทธิภาพด้านต้นทุน

ลิลลี่ งามตระกูลพานิช
ลิลลี่ งามตระกูลพานิช

“ลิลลี่ งามตระกูลพานิช” ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลของการสำรวจด้านการขาดแคลนผู้มีความสามารถประจำปี 2565 ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2565 ของ Total Workforce Index (TM) จัดทำโดย ManpowerGroup มุ่งเน้นให้ความสำคัญของการทำงานแบบไฮบริด และการเพิ่มของความยืดหยุ่นนายจ้าง

อาทิ การพิจารณาผู้สมัครที่มีทักษะมากกว่าคุณสมบัติด้านการศึกษา และอายุของพนักงาน พบว่าปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในการจ้างงานสูงสุดในรอบ 16 ปี และ 75% ของบริษัททั่วโลกกำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

“เพราะมาจากปัจจัยการย้ายถิ่นของแรงงาน ภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันช่วงชิงในผู้ที่มีทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นตามความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี, โทรคมนาคม, เภสัชกรรม, เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์”

ทั้งนี้ Total Workforce Index (TM) ยังให้คะแนนแต่ละตลาด ด้วยปัจจัยเฉพาะมากกว่า 200 รายการ รวมทั้งปัจจัยทางสถิติแต่ละรายการเพื่อถ่วงน้ำหนักอย่างรอบคอบ จนพบว่าตลาดแรงงาน 5 อันดับแรก ที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนสูงสุด ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, บาห์เรน, แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นมิตรกับนายจ้างมากที่สุด ทั้งในแง่ของการเติบโตของค่าจ้าง, ต้นทุนแรงงาน, การสนับสนุนจากรัฐบาล และความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด

แต่ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และอิสราเอล ยังคงได้คะแนนในเกณฑ์ดี สำหรับความพร้อมของกำลังแรงงานที่มีทักษะ การมีส่วนร่วมในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของแรงงาน, ความเท่าเทียมและเสรีภาพทางเพศ รวมถึงความพร้อม และความสามารถในการทำงานแบบไฮบริด

ขณะที่ไฮไลต์ระดับภูมิภาคอเมริกาปรากฏว่าเม็กซิโกขึ้นเป็นอันดับที่ 9 จากอันดับที่ 53 ในปี 2564 เนื่องจากมีการปรับปรุงการเข้าถึงแรงงานประจำแบบเต็มเวลาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนแคนาดาขยับขึ้น 15 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 4 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ โดยการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการมุ่งเน้นที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบของการให้น้ำหนักกฎหมายมากขึ้นกับการจ้างงาน 1-2 ปีแรก

สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก และแคนาดา เป็นตลาดชั้นนำในด้านประสิทธิภาพ โดยสหรัฐขยับขึ้นจากอันดับ 7 มาเป็นอันดับ 1 เม็กซิโกกระโดดจากอันดับ 19 ในปี 2564 มาเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ และแคนาดายังคงรั้งอันดับ 4 ส่วนโคลอมเบีย, อาร์เจนตินา และเม็กซิโก กลับขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ทางด้านเทคโนโลยี และโทรคมนาคม

สำหรับไฮไลต์ระดับภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) พบว่า สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 4 ในปี 2564 ในด้านความพร้อมเป็นอันดับที่ 2 ในปีนี้ เนื่องจากจำนวนพนักงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนอิสราเอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกนั้น เนื่องจากตลาดสามารถเติบโต และรองรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านไอที และวิศวกรรม โดยมีกลุ่มแรงงานที่มีทักษะอายุน้อยเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ อิสราเอลยังได้รับประโยชน์จากการทำงานของแรงงานผู้หญิงที่ทำงานในวันอาทิตย์-พฤหัสบดีที่เพิ่มขึ้น จนทำให้หลายบริษัทสามารถขยายสัปดาห์การทำงานได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ส่วนโปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็กเริ่มอิ่มตัว เพราะโอกาสในด้านเทคโนโลยี และโทรคมนาคม อันเป็นผลมาจากการสนับสนุนการทำงานแบบไฮบริด และต้นทุนที่ลดต่ำลงด้วย