เทรนด์ปี 2567 ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาแรง องค์กรใช้ดึงตัวคนหางาน

ทำงาน
Photo: Airam Dato On/unsplash

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้รับการพูดถึงมากขึ้น เพราะมีการศึกษาที่พบว่า ให้ผลลัพธ์เป็นไปในทางบวก เช่น ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น สุขภาพจิตที่ดีขึ้น และการสร้างรายได้ที่สูงขึ้น

การจัดทำดัชนีการทำงานแบบยืดหยุ่น (The Flexible Working Index) ล่าสุดโดย Flexa แพลตฟอร์มหางานระดับโลก ที่ทำการศึกษาการหางาน 2.7 ล้านตำแหน่งของคน 30,000 คนทั่วโลก เพื่อทำนายแนวโน้มด้านการทำงานสำหรับปี 2567 พบว่า 400% ของจำนวนงานที่เพิ่มในแพลตฟอร์มประกาศรับสมัครงาน เป็นตำแหน่งงานที่มีข้อเสนอการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์, 9 วันต่อปักษ์ หรือแม้แต่ทำงานครึ่งวันในวันศุกร์ และ Flexa ยังคาดการณ์ว่า ปี 2567 เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับรูปแบบ Work From Anywhere (ทำงานที่ไหนก็ได้)

ทำงาน 4 วันถูกใช้เป็นคีย์เวิร์ดค้นหางานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่นำร่องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มาตั้งแต่ปี 2565 และได้ผลลัพธ์ว่า รายได้และประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทเพิ่มขึ้น รายงาน The Flexible Working Index ยังเสริมด้วยว่า บริษัทที่เสนอวันหยุดสุดสัปดาห์สามวันสามารถสร้าง “ความไว้วางใจ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพนักงาน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะติดอยู่กับองค์กรในระยะยาว”

อย่างไรก็ตาม Flexa ได้เห็นการเติบโตของความนิยมการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยถูกใช้เป็นคีย์เวิร์ดค้นหาเพิ่มขึ้น +68% นับตั้งแต่เปิดตัวตัวกรองนี้บนแพลตฟอร์มประกาศรับสมัครงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

รายงานระบุด้วยว่า แม้ว่าการทำงานจากระยะไกล (remote working) หรือทำงานจากบ้าน (work from home) ไม่ได้รับความนิยมในปี 2566 ที่ผ่านมา แต่การทำงานแบบผสมผสาน (hybrid) จะยังคงเป็นรูปแบบที่นายจ้างและคนทำงานตกลงร่วมกัน

คนรุ่นใหม่ชอบองค์กรที่ดูแลสุขภาพจิต

นอกจากนั้น ยังเห็นทรนด์ในปีที่ผ่านมาว่า การลาป่วยทำสถิติสูงสุดของการลา โดยมีเรื่องสุขภาพจิตเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำเป็นต้องหยุดงาน ซึ่งรายงานของ Flexa ระบุว่า พนักงานตระหนักดีว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือและกำลังมองหาการสนับสนุนจากนายจ้างด้านสุขภาพจิต โดยคนทำงาน 1 ใน 3 แสดงความชื่นชอบองค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ซึ่งเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า

4 หรือ 5 วัน ก็ทำงานได้เท่ากัน

รายงานจาก Fiverr ซึ่งเป็นตลาดงานออนไลน์สำหรับฟรีแลนซ์ ได้ทำการสำรวจพนักงานทั่วโลกมากกว่า 1,000 คนในเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า คนทำงานในสหรัฐอเมริกามากกว่า 75% กล่าวว่าพวกเขาสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสิ้นภายในเวลาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แทนที่จะเป็น 5 วัน คนรุ่นมิลเลนเนียลซึ่งคิดเป็นประมาณ 35% ของคนทำงานในปัจจุบัน มีความหลงใหลในการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากที่สุด โดย 87% เห็นด้วยกับรูปแบบนี้

“มิลเลอร์ ลีวาย” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยตลาดและข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าของ Fiverr กล่าวกับ CNBC ว่าความยืดหยุ่นในชั่วโมงทำงานเป็นสิ่งที่คน Gen Z ให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเกือบ 1 ใน 3 บอกว่าตนรู้สึกสร้างสรรค์มากขึ้น และมีแรงบันดาลใจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าตรู่หรือช่วงดึก

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (76%) ที่กล่าวว่าการจัดการงานในปัจจุบันไม่เป็นไปตามความต้องการในอุดมคติของตน เพราะพวกเขาจำเป็นต้องอยู่ในสำนักงานบ่อยกว่าที่พวกเขาต้องการ

“แม้ว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น แต่พวกเขาก็ไม่ได้ชอบทำงานจากที่บ้านเหมือนคนรุ่นอื่น ๆ โดย Baby Boomers ชอบการทำงานจากระยะไกลมากที่สุดโดยคิดเป็น 40% ตามมาด้วย Gen X (32%) และ Millennials (29%)

เพราะพนักงาน Gen Z ชอบพบปะผู้คนและมีปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศเสมอไป โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 1 ใน 3 ชอบทำงานในที่สาธารณะ เช่น ร้านกาแฟ ซึ่งพวกเขาสามารถพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ในขณะเดียวกันก็รักษาความยืดหยุ่นได้”

ทำงาน 4 วันโดยไม่ถูกหักค่าจ้าง

เบลเยียมเริ่มเสนอวันทำงานสัปดาห์ละ 4 วันสำหรับพนักงานที่ต้องการ โดยเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แทนที่จะเป็นการทำงาน 5 วันตามปกติโดยไม่สูญเสียเงินเดือน

กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 โดยอนุญาตให้ลูกจ้างตัดสินใจว่าจะทำงาน 4 หรือ 5 วันต่อสัปดาห์หรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าพนักงานจะทำงานน้อยลง เพียงแต่จะย่อชั่วโมงทำงานให้เหลือน้อยลง

“อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู” นายกรัฐมนตรีเบลเยียม กล่าวว่า เป้าหมายคือการให้ผู้คนและบริษัทต่าง ๆ มีอิสระมากขึ้นในการจัดเวลาทำงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยทำให้ตลาดแรงงานที่เข้มงวดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจะทำให้ผู้คนสามารถผสมผสานชีวิตครอบครัวเข้ากับอาชีพการงานได้ง่ายขึ้น”

หลังจากเห็นความสำเร็จของประเทศที่ทดลองทำงาน 4 วันในทวีปยุโรป โปรตุเกสก็ได้เข้าร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่กำลังขยายขอบเขตแนวคิดเรื่องทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

โดย 39 บริษัทในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 บริษัทที่เข้าร่วมจะถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตาม “โมเดล 100:80:100” ซึ่งก็คือ 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างสำหรับ 80 เปอร์เซ็นต์ของเวลา เพื่อแลกกับความมุ่งมั่นที่จะรักษาประสิทธิภาพการผลิตไว้อย่างน้อย 100 เปอร์เซ็นต์

ในอดีตโปรตุเกสเป็นประเทศที่มีการทำงานที่ยาวนานเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ด้วยจำนวนคนที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ประโยชน์ที่ได้จากการทำงาน 4 วัน

รายงานของ World Economic Forum ในปี 2563 เรื่อง The Future of Jobs ได้คาดการณ์ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกแห่งการทำงาน โดยหลายองค์กรจะให้การยอมรับการทำงานที่ยืดหยุ่นอย่างเต็มที่

ซึ่งหลักการดังกล่าวถูกนำไปต่อยอดทดสอบในปี 2565 โดยร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 4 Day Week Global โดยมีนายจ้างในไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้าร่วม และผลการวิจัยพบว่า คนทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มีสุขภาพดีขึ้น มีระดับความเครียดลดลง รู้สึกเหนื่อยน้อยลง รู้สึกมีความสุขมากขึ้น และมีความพึงพอใจส่วนตัวมากขึ้น การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และทำให้คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ มีการศึกษาในปี 2565 ที่แยกออกมาในสหราชอาณาจักร พบว่า ปัจจุบันบริษัท 73 แห่งและพนักงาน 3,300 คน ได้ผลลัพธ์ที่ได้ก็คล้ายกัน โดยการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และได้รับค่าจ้าง 5 วันเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ธุรกิจส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการทดลองการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ระบุว่า มีแนวโน้มว่าจะนำไปใช้ในอนาคต โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นเล็กน้อยหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ 86% ระบุว่ามีแนวโน้มสูงที่พวกเขาจะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์หลังจากจบการทดลองนี้

การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันทำให้ผู้คนทำงานได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง ย้อนกลับไปในปี 2562 บริษัท Microsoft ในประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และรายงานว่าประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 40%

ตัวอย่าง 12 บริษัทเสนอสัปดาห์ทำงาน 4 วัน

ตัวอย่าง 12 บริษัทในฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ที่เสนอสัปดาห์ทำงาน 4 วัน ดังนี้

  • Amazon
  • Basecamp
  • BigLaw
  • Bolt
  • Buffer
  • CARFAX
  • Ecosia
  • Forbes Advisor
  • Kickstarter
  • KRÜSS
  • Lamborghini
  • Microsoft
  • Panasonic
  • Samsung
  • thredUp
  • Toshiba
  • Unilever

กฎหมายวันทำงานในไทย

กฎหมายการทำงานในประเทศไทยกำหนดชั่วโมงการทำงานในเวลาทำงานปกติ โดยงานทั่วไป “ไม่เกิน 8” ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมง

วันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

ส่วนวันหยุดตามประเพณี ต้องไม่ น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

วันหยุดพักผ่อนประจำปีต้องไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้

ไทยแก้กฎหทาย คุ้มครองลูกจ้าง หลังเลิกงานไม่ต้องตอบไลน์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ ประเทศไทยมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้

มาตรา 23/1 วรรคสาม บัญญัติว่า “เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับกับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควรคุมงาน ผู้ตรวจงาน หรือแม้กระทั่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้า”

ซึ่งเป็นการนำหลักการเรื่องสิทธิในการยุติการติดต่อสื่อสารของลูกจ้างหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาทำงาน (Right to disconnect) มาบัญญัติไว้ในกฎหมายแรงงานประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งหลักการเรื่องนี้ปรากฏในกฎหมายแรงงานในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ชิลี โปรตุเกส เป็นต้น

อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 เรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) มาตรา 12