คุยกับ “นายก PMAT” “ต่ออายุเกษียณแค่ทางเลือกหนึ่ง”

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการขยายอายุเกษียณจากราชการจากอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี เพราะต้องรอการแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2493 เสียก่อน แต่กระนั้นต้องยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เป็นสังคมผู้สูงอายุที่ยังหาตัวตายตัวแทนไม่ทันที่จะก้าวขึ้นมาสืบทอดตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ผลเช่นนี้ จึงทำให้ภาครัฐเกิดความคิดว่าเมื่อเกิดช่องว่างในระหว่างการทำงาน จึงเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะต่ออายุข้าราชการในบางตำแหน่ง เพื่อให้พวกเขาเป็นโค้ช หรือพี่เลี้ยงเพื่อสอนงานให้กับข้าราชการรุ่นถัดมาให้มีความเชี่ยวชาญเสียก่อน

และไม่เฉพาะแต่ข้าราชการเท่านั้นหากบางตำแหน่งในภาคเอกชนก็ทำท่าว่าจะประสบปัญหาดุจเดียวกัน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้งานบุคคล (Human Research & KM Center) สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ทำการสำรวจ 23 กลุ่มธุรกิจในภาคเอกชน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 520 คน สรุปผลออกมาบางส่วนว่าการขยายอายุเกษียณพนักงานเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการยืดเวลาให้กับพนักงานที่อยู่กับองค์กรเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น

ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพในระยะยาว เพราะสิ่งสำคัญคือการหันมาใส่ใจ และทุ่มเทกับการสร้าง และพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพที่เพียบพร้อม และเติบโตทันต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กร และสังคม เพราะถ้าบุคลากรเติบโตอย่างต่อเนื่อง องค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับเรื่องนี้ “บวรนันท์ ทองกัลยา” ในฐานะนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย คนใหม่ล่าสุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องแนวทางการเกษียณอายุของภาคเอกชนนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย

“เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยขณะนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ขณะที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลง จึงทำให้เกิดช่องว่างในการพัฒนางานบุคคลขึ้น แม้ผ่านมาบางองค์กรจะมีการวางแผนสืบทอดตำแหน่งกันอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริง อยู่เฉพาะแต่องค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบการบริหารการจัดการงานบุคคลที่ดี ดังนั้น บางองค์กรที่ตั้งรับไม่ทันอาจเกิดปัญหาในระยะยาว”

“เนื่องจากบางตำแหน่งยังสร้างคนขึ้นมาไม่ทัน ที่สุดจึงต้องขยายเวลาเกษียณอายุของผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้พวกเขาสอนงานให้กับพนักงานรุ่นน้อง ๆ เสียก่อน ผลเช่นนี้จึงทำให้เราทำการสำรวจ 23 กลุ่มธุรกิจ จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 520 คน ในกลุ่มธุรกิจการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย, ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม, ธุรกิจยานยนต์, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง, ธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ และธุรกิจอื่น ๆ ต่างปรากฎผลไปในทำนองเดียวกันว่า เรื่องดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาสำคัญของบางองค์กรจริง ๆ”

“เพราะจากอายุเกษียณของพนักงานในปัจจุบัน ปรากฏออกมาชัดเจนว่าพนักงานที่เกษียณอายุ 60 ปี มีอยู่ประมาณ 67% ขณะที่น้อยกว่า 60 ปี มีอยู่ประมาณ 28% นอกจากนั้นยังพบข้อมูลบางส่วนที่ผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าไม่ระบุอายุเกษียณอยู่ประมาณ 3% ส่วนผู้ที่เกษียณอายุที่ 62 ปีขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 2% ถามว่าข้อมูลตรงนี้บอกอะไร คำตอบคือบอกอย่างมีนัยสำคัญว่า ปัจจุบันพนักงานยังคงเกษียณอายุที่ 60 ปี มากกว่าเกษียณอายุมากกว่า 62 ปีขึ้นไปอยู่เป็นจำนวนมาก”


ถึงตรงนี้ “บวรนันท์” บอกว่า หากมองจากผลสำรวจในทางตรงข้าม โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่องแนวทางการขยายเวลาการเกษียณอายุของพนักงาน ต่างปรากฏผลออกมาชัดเจนว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดเรื่องการขยายเวลาเกษียณอายุอยู่ที่ประมาณ 53% 

“แต่อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล 37% แต่กระนั้นเริ่มมีบางองค์กรเริ่มศึกษา และดำเนินการขยายเวลาเกษียณอายุของพนักงานบ้างแล้วที่ 10% สำหรับผลสำรวจตรงนี้ นอกจากจะทำให้เห็นความตื่นตัวของภาคเอกชนที่เริ่มนำข้อมูลบางส่วนมาพิจารณาเรื่องขยายเวลาเกษียณอายุการทำงาน ยังทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึกด้วยว่าปัจจุบันการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในตำแหน่งงานเฉพาะด้านมีอยู่ประมาณ 43%, การพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งงานไม่ทันเวลา 27% และไม่ได้เตรียมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เกษียณสู่พนักงานมีอยู่ประมาณ 13%”

“ถามว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยใด ๆ บ้าง คงต้องบอกว่าการที่ภาคเอกชนพิจารณาการขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานน่าจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และคุณภาพของผู้สูงอายุน่าจะดีขึ้น นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับบางตำแหน่งที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ ส่วนที่นอกจากนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงพนักงานเก่าแก่ที่อยู่กับองค์กรมานาน, พนักงานยังสนุกกับงาน และสร้างคุณค่าให้กับองค์กรอยู่, บางองค์กรอาจใช้ช่องว่างในการต่ออายุเพื่อเป็นอีกทางในการจ่ายเงินเกษียณลดลง หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับผู้จบการศึกษาที่ยังขาดทักษะการทำงาน จึงทำให้ต้องมีการต่ออายุเกษียณ”

สำคัญไปกว่านั้น “บวรนันท์” ยังมองว่าจากผลสำรวจเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขยายเวลาเกษียณอายุการทำงาน ปรากฏว่าคำตอบเรื่องการพัฒนาระบบการสืบทอดตำแหน่งงานที่เหมาะสมสูงถึง 25% รองลงมาคือการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพนักงานสูงอายุ 22% ส่วนการประเมินความพร้อมทางด้านสุขภาพการทำงานตามสาขาอาชีพ 14%, การบริหารช่องว่างระหว่างวัยของผู้ร่วมงาน 14% และการวางแผนความก้าวหน้าในสายอาชีพ 13%

“สำหรับอายุที่เหมาะสมในการเกษียณอายุการทำงาน ผลสำรวจออกมาว่า 65 ปี สูงถึง 39%, 60 ปี 32%, 55 ปี 14%, 63 ปี 9%, ไม่ระบุอายุเกษียณ 4% และ 70 ปี มีอยู่ 2% ถามว่าข้อมูลตรงนี้บอกอะไร คำตอบคือกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามยังเชื่อมั่นว่าพนักงานที่อายุ 60 ปี และ 65 ปี ยังน่าจะทำงานต่อได้ เพราะนอกจากจะมีความรู้ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งยังจะช่วยสอนพนักงานรุ่นต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย”

“เพราะฉะนั้น เมื่อดูแนวทางการขยายอายุเกษียณที่เหมาะสมกับแต่ละบริษัท ผลสำรวจจึงออกมาว่าการพิจารณาการขยายเวลาเกษียณอายุเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นมีสูงถึง 61%, พิจารณาขยายเวลาเกษียณอายุเป็นรายตำแหน่ง 25% และขยายเวลาเกษียณอายุโดยให้มีผลกับพนักงานทั้งบริษัทมีเพียง 14%”

เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่พิจารณาเกษียณอายุ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง เช่น ซีอีโอ, กรรมการผู้จัดการ, ผู้อำนวยการ, ผู้จัดการ, ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ, ตำแหน่งที่ใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน, ฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายอำนวยการ หรือฝ่ายสนับสนุนงานสำคัญด้านต่าง ๆ

ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งที่หาตัวตายตัวแทนยาก ดังนั้น หากจะขยายอายุเกษียณให้กับพนักงาน ตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นทางเลือกแรก ๆ สำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างความมั่นคง และยั่งยืน ให้กับบริษัทต่อไปในอนาคต