“AP” มองเทรนด์อนาคต ปรับธุรกิจตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงวัย

การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เป็นสถานการณ์ที่หลายประเทศกำลังเผชิญหน้า ซึ่งนอกจากการออกนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อรับมือกับจำนวนผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว มองอีกแง่หนึ่งยังถือว่าเป็นโอกาส และความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจเช่นกัน

หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน คือ อสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่ออนาคตกลุ่มผู้สูงวัยจะกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้อง “มองไกล” และ “เตรียมการ” ตั้งแต่ตอนนี้ว่าจะวางโจทย์ธุรกิจอย่างไร และรูปแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยจะต้องเป็นแบบใด

“วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนกลุ่ม Gen X หรือคนอายุ 35-55 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของไทย หรืออยู่ที่ 32% ซึ่งคนกลุ่มนี้อีก 10-15 ปี จะเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ นั่นหมายความว่าจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่จะเกษียณพร้อม ๆ กัน โดยเป็นสถานการณ์เดียวกับญี่ปุ่นที่มีคนยุคเบบี้บูมเยอะมาก เพราะก่อนหน้านั้น ภาครัฐมีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนประชากรกันอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่วัยเกษียณเช่นกัน

“เมื่อเราเห็นเทรนด์นี้ จึงเตรียมขยายพอร์ตสินค้าคอนโดมิเนียมไปยังกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเรามองว่า กลุ่มคนวัยทำงาน หรือ Gen X ในตอนนี้กำลังจะก้าวสู่วัยเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือเรียกว่าเป็นกลุ่ม the young old โดยจากการทำวิจัยพบว่าเมื่อก้าวสู่วัยเกษียณ ไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยอะ และยังเป็นคนที่ young at heart อยู่”


หากมองให้ลึกถึงลักษณะของกลุ่ม the young old นั้น ส่วนใหญ่จะดูแลตัวเองได้ รู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็ง ไม่ค่อยพึ่งพาอาศัยคนอื่น และไม่ได้คิดว่าต้องมีคนมาดูแล รวมถึงไม่กลัวการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกทั้งมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย และการทำงาน ตลอดจนเปิดกว้างกับการเรียนรู้ และหาอะไรใหม่ให้ชีวิต หรือกล่าวโดยสรุปคือ ยังมีความเป็น active lifestyle


“โจทย์ใหญ่สำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือ เราจะออกแบบที่อยู่อาศัยให้คนกลุ่มนี้อย่างไร ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่การสร้างสังคมผู้สูงอายุ แต่ต้องออกแบบให้เป็นการอยู่อาศัยของ mix generation ตอบโจทย์คนที่มีกายภาพแตกต่างกัน เพราะท้ายที่สุด ไม่มีใครอยากถูกแยกไปอยู่ในสังคมของตนเอง คนสูงอายุย่อมอยากอยู่กับคนหนุ่มสาวด้วย”

ทั้งนี้ จากจุดแข็งของเอพีที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น อย่างบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป-MECG) นับเป็นข้อได้เปรียบในแง่ของการส่งต่อองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว โดยปี 2018 ญี่ปุ่นมีประชากร 126.3 ล้านคน จำนวนนี้ 34.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือคิดเป็น 27% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 38.4% ในปี 2065

ล่าสุด เอพีได้จัดทริปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้การพัฒนานวัตกรรมที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงวัยของกลุ่ม MECG รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นอย่างบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุปูพื้น (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) เพื่อเป็นแนวทางและผนวกกับการออกแบบคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยของเอพี ที่มีแนวคิด intergeneration living ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

หนึ่ง rethink space ปรับวิธีคิดในการออกแบบพื้นที่ และนำหลัก universal design เข้ามาผสมผสาน

สอง redefine living สร้างนิยามใหม่ของการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่ ทั้งทำเลที่ตั้งที่อยู่ในเมือง, เพิ่มสัดส่วนของพื้นที่ส่วนกลาง และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้

สาม remodeling community พัฒนาโมเดลที่ส่งเสริมความสุขในการอยู่อาศัย ทั้งด้านจิตใจ และคุณค่าต่อชุมชน


“คอนโดฯจะผสานความต่างของทุกเจเนอเรชั่นเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งวางไว้ให้เป็นคอนโดฯ 30 ชั้น พื้นที่ห้อง 35-40 ตร.ม.ขึ้นไป เพราะต้องมี facilities ที่ออกแบบเฉพาะเพื่อผู้สูงวัย โดยคอนโดฯอยู่ในทำเลสาทร-ตากสิน ห่าง 5 นาทีจากรถไฟฟ้าสถานีวุฒากาศ และจะเปิดตัวในปี 2563”