บริหารสไตล์ RATCH องค์กรอยู่ได้หรือไม่ คนสำคัญที่สุด

นวพล ดิษเสถียร
นวพล ดิษเสถียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

การบริหารคนทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยรูปแบบ work from home (WFH) หรือรูปแบบอื่น ๆ ไม่ได้มองแค่เพียงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของพนักงานเท่านั้น เพราะในขณะนี้บางองค์กรยังใช้เป็นตัวช่วยลดต้นทุนของบริษัท ขณะที่บางองค์กรศึกษาเผื่อไปจนถึงว่าขนาดขององค์กร และกำลังคนที่มีสอดคล้องกันหรือไม่

อีกทั้งท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจต่าง ๆ อย่างไร โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) อย่าง “บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” หรือ “RATCH Group” ที่กุมกำลังผลิตไฟฟ้าอันดับต้น ๆ ของประเทศไม่น้อยกว่า 8,174.01 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 6,599 เมกะวัตต์ และมีกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงหลักอีกกว่า 4,344.58 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการในต่างประเทศอีกราว 2,065 เมกะวัตต์

เบื้องต้น “นวพล ดิษเสถียร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า ราช กรุ๊ป ปรับตัวตั้งรับวิกฤตไปพร้อม ๆกับการทำงานปกติ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ต้องปรับ “เปลี่ยน” รูปแบบการทำงาน และเพิ่มการสื่อสารต่าง ๆ ให้การทำงานมีความสมูทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์เป็นหลักทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันพนักงานจากโควิด-19 ด้วยการกำหนดมาตรการในการทำงาน ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ใน 5 เรื่อง คือ

หนึ่ง ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การประชุมทางออนไลน์, จัดทำคู่มือเพื่อการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือในทุกหน่วยงาน, มีระบบปฏิบัติงานทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นเครือข่ายระบบงานภายในบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนหนึ่งมาจากจุดแข็งของทีมไอทีที่พร้อมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่บ้าน (work from home-WFH)

สอง กำหนดให้พนักงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านเป็นหลัก สามารถเข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานได้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ในกรณีที่เข้ามาทำงานที่สำนักงาน เงื่อนไขที่กำหนดไว้คือพนักงานต้องแจ้งไทม์ไลน์ของพนักงานในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง

สาม มาตรการรักษาความปลอดภัยในสำนักงาน มีการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ, การจัดแอลกอฮอล์เพื่อบริการสำหรับพนักงาน, มีการแจกหน้ากากอนามัย, ทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่สำนักงานให้มีความถี่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงที่โควิด-19 ระบาดจนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

โดยในกรณีบุคคลที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงที่ต้องการเข้ามายังสำนักงาน หลังจากเข้ามาแล้วจะมีการปิดพื้นที่ดังกล่าวก่อน พร้อมกับทำความสะอาด และฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทันที

สี่ ประกาศขอความร่วมมือพนักงานให้ “หลีกเลี่ยง” ไปยังพื้นที่เสี่ยงที่มีการติดเชื้อ รวมถึงในกรณีที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากพบว่ามีอาการไข้ให้พนักงานรีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งยังให้หยุดงานเป็นระยะเวลา 14 วัน

ห้า กำหนดให้พนักงานและผู้ปฏิบัติงานของคู่ค้าหลักที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่องานจะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา

“แนวทางปฏิบัติในบริษัทของเรามีความชัดเจนให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน ยกเว้นที่เป็นงานปฏิบัติการ หรือ operation ที่โรงไฟฟ้าจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียน และทำงานเป็นกะ ตามความจำเป็นเท่านั้น เพราะความปลอดภัยของพนักงานเป็นเป้าหมายอันดับแรกที่เราต้องการ เนื่องจากองค์กรจะอยู่ได้หรือไม่ ล้วนอยู่ที่คนทำงานทั้งสิ้น”

เมื่อถามถึงระบบสวัสดิการของพนักงานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ภายใต้วิกฤตโควิด-19 “นวพล” บอกว่า เรามีการจัดทำประกันคุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมจากสวัสดิการประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิม ทั้งยังมีการตรวจสุขภาพ และสวัสดิการการรักษาฟัน รวมไปจนถึงการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆของพนักงาน เช่น ระบบสายตา และวัคซีนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นให้กับพนักงานด้วย

“ส่วนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็มีการดำเนินการให้กับพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงความรุนแรงของโรค และถ้าหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น จะถือเป็นการคุ้มครองพนักงานของบริษัทเพื่อให้เขามีสุขภาพดีขึ้น ทั้งหมดที่ดำเนินการเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่าได้ผลหรือไม่จากประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทอีกด้วย”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาโครงการลงทุนปัจจุบันใน 4 กลุ่มหลักที่ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศ, โรงไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานทดแทน, โรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทุกอย่างจากการผลิตไฟฟ้าจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เช่น การจัดหาเชื้อเพลิง, การพัฒนาระบบสายส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า

รวมถึงการลงทุนในธุรกิจเดินเครื่อง และบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีเตรียมความพร้อมลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่น ๆ อีกด้วย นั่นหมายความว่า ราช กรุ๊ปมีแผนรับคนทำงานเพิ่มเติมแน่นอน

“นวพล” อธิบายในเรื่องนี้ว่า สำหรับการรับพนักงานใหม่ (newcomer) ยังคงดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัทที่กำหนดไว้ในแผนขยายธุรกิจของบริษัท โดยยังคงมีการรับพนักงานใหม่เพิ่มเติมในปีนี้ ตามความจำเป็นของงานที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ อีกทั้ง สำหรับเกณฑ์ และคุณสมบัติของผู้สนใจเข้ามาสมัครงานของราช กรุ๊ป ยังคงใช้มาตรการเดิม

“โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพนั้น ไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณาตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ แต่ที่ให้ความสำคัญด้วยก็คือวัดจากความพร้อมในการทำงานจริง และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพที่จะทำให้มีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้น”

“เพราะจากกรณีของโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาอยู่ที่บ้านมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการทำงานแบบ hybrid work หรือการผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน และที่สำนักงานเข้าไว้ด้วยกัน จึงทำให้หลายคนอาจมองเรื่องการลดขนาดองค์กร (downsizing organization) ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ แต่สำหรับราช กรุ๊ปไม่มีนโยบายลดขนาดองค์กร แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตใด ๆ ก็ตาม อีกทั้งยังมีความจำเป็นจะต้องขยายธุรกิจตามแผนดำเนินการที่วางไว้ ทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในโครงการต่าง ๆ อีกด้วย”

“ทั้งนั้นเพราะขนาด และจำนวนของพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอสำหรับงาน และธุรกิจที่ราช กรุ๊ปมีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว ที่สำคัญเรายังบริหารคนทำงานจากส่วนที่เป็นพนักงานชั่วคราว หรือ out sourcing สำหรับงานบางประเภทด้วย ส่วนการพิจารณาลดขนาดขององค์กรของแต่ละบริษัท ผมมองว่าขึ้นอยู่กับเงื่่อนไข ความจำเป็น และบริบทของภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจ และสถานะของบริษัทนั้น ๆ เพราะถ้าต้องลดขนาดองค์กรจริง ๆ จะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งยังต้องหาแนวทางลดผลกระทบ เพื่อร่วมดูแลพนักงานในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว