“พีระพล ทยานุวัฒน์-ภูมิระวี ใจดี” ลูกไม้คนละต้นบนถนนธุรกิจอาหาร

บนถนนบางนา-ตราด กม.10 จ.สมุทรปราการ เป็นที่ตั้งแฟล็กชิปสโตร์ ใหญ่ที่สุดของ “แกรนด์โฮม” ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากแกรนด์โฮมมาร์ท เนื้อที่ทั้งหมด 20,000 ตารางเมตร เป็นของ “เจ้าสัวราชัญ” และ “ประไพ ทยานุวัฒน์” ที่ได้เวลายื่นไม้

ส่งต่อให้คลื่นลูกที่ 2 ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “พีระพล ทยานุวัฒน์” นั่งเก้าอี้กรรมการบริหาร พร้อมด้วยทายาทลูกพี่ลูกน้องรุ่นไล่เลี่ยกัน “แบงค์-ภูมิระวี ใจดี” หนึ่งในผู้ร่วมทุน

พีระพล ชายหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 28 ปี จบปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน จากมหาวิทยาลัยพาร์สันส์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับมารับช่วงธุรกิจครอบครัวต่อจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ปลุกปั้นธุรกิจไว้จนประสบความสำเร็จ สร้าง “แกรนด์โฮม” เป็นผู้นำในวงการกระเบื้องตกแต่งบ้านและสุขภัณฑ์

ด้วยความสนใจศิลปะมาแต่เด็ก ประกอบกับเรียนจบทางด้านสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน เมื่อต้องมารับหน้าที่ในธุรกิจนี้ ความสนใจจึงพุ่งไปที่การปรับปรุงรีโนเวต โชว์รูมของแกรนด์โฮมในแต่ละสาขาให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าดั้งเดิมและรุ่นใหม่

พีระพลเริ่มต้นเล่าว่าที่มองเห็นเมื่อเข้ามารับหน้าที่ คือการเปิดร้านอาหารในโชว์รูม สิ่งที่ช่วยย้ำการตัดสินใจในเรื่องนี้ก็เพราะมีร้านอาหารอยู่ที่สาขารัตนาธิเบศร์ก่อนแล้ว

เวลาลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้าวัสดุตกแต่งบ้าน บางทีมาครึ่งวันถึงหนึ่งวัน มักจะถามถึงที่รับประทานอาหารเป็นประจำ

เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เปิดร้านอาหาร “แกรนด์ เดอ คาเฟ่” ขึ้นมา เป็นทั้งร้านอาหารและร้านกาแฟในที่เดียวกัน เฉพาะที่สาขาบางนา โดยสาขานี้จะพิเศษกว่าสาขาอื่น เพราะเป็นแฟล็กชิปสโตร์ของแกรนด์โฮมที่จะทำรีเทลจริง ๆ และจะเป็นต้นแบบให้กับสาขาอื่นด้วย

ไม่เพียงแต่มองเห็นการต่อยอดที่เกื้อหนุนธุรกิจเดิม เขายังมองทะลุถึงเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ “สมัยนี้คนอยากเดินในคอมมิวนิตี้มอลล์มากขึ้น มีไลฟ์สไตล์มากขึ้น

แกรนด์โฮมเองคิดว่าเราคงต้องมีคอมมิวนิตี้มอลล์อยู่กับแกรนด์โฮมเอง ดังนั้น จึงจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาชื่อ แกรนด์โฮมฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ซึ่งในนั้นจะมีทั้งร้านอาหาร แกรนด์ เดอ คาเฟ่ เป็นร้านอาหารของเราเอง ขณะเดียวกันคนในบริษัทก็ดูแลเรื่องการหาพันธมิตรร้านค้าอื่นมาเปิดด้วยกัน และดูในเรื่องของเช่าบริหารพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้เรามีร้านอาหารญี่ปุ่นมาเปิดชื่อ Cha Cha An ต่อไปจะมีฟู้ดคอร์ต และบริการจัดเลี้ยงด้วย”

พีระพลมองว่า ธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างท้าทายในแง่ของการบริหารจัดการร้าน หากทำไม่ดีมีโอกาสสะดุดล้มได้ง่าย ๆ เขาบอกว่าสำหรับสาขาบางนาได้เติม “ความพิเศษ” ลงไปในร้านตามคอนเซ็ปต์ที่ว่า “ร้านอาหารก็คือโชว์รูมของแกรนด์โฮม” ฉะนั้นข้าวของต่าง ๆ ที่ใช้ในร้านอาหารจะเป็นสินค้าที่วางขายอยู่ในแกรนด์โฮมทั้งหมด เริ่มจากโต๊ะ เก้าอี้ จาน ชาม อุปกรณ์ครัว ไปจนถึงกระเบื้องปูพื้น ฯลฯ

“คนที่มากินอาหารจะเห็นและได้ใช้จริง เห็นแล้วอยากได้ก็สามารถซื้อกลับบ้านไปได้เลย แบบว่า See Now Buy Nowอย่างโต๊ะหรือที่รองแก้ว จานชาม ซื้อได้หมด”

การทำร้านอาหารในลักษณะ See Now Buy Now พีระพลบอกว่าจะมีอีกที่สาขารามอินทรา ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุง ทำไปได้สัก 80% แล้ว ต่อจากนั้นจะปรับเปลี่ยน

ที่สาขารัตนาธิเบศร์ อาจจะไม่กุ๊กกิ๊กเท่าที่บางนา แต่เป็นสไตล์ลอฟต์ (Loft) เหมือนกัน ที่สำคัญที่สาขารัตนาธิเบศร์มีเมนูอาหารอีสาน แต่ที่บางนามีพิซซ่าแทน

ในส่วนร้านอาหาร แกรนด์ เดอ คาเฟ่ ร้านอาหารไทย-อิตาเลียน “แบงค์-ภูมิระวี ใจดี” หนุ่มนักเรียนนอกอีกคน ดีกรีปริญญาตรีจากสาขาและมหาวิทยาลัยเดียวกับ พีระพล และพ่วงปริญญาโทจากคณะ Msc Construction Economics and Management มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ เล่าเพิ่มเติมว่า ครัวของแกรนด์ เดอ คาเฟ่ สาขาบางนา ต้องถือว่าใหญ่มาก พื้นที่ 1 ใน 3 ของร้านเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “อยากโชว์ครัว…ครับ” สั้น ๆ ได้ความหมายตรง ๆ

เขาบอกว่าการเริ่มต้นเซตอาหารของร้านมาจากความต้องการให้เป็นร้านอาหารแบบทานได้ตลอดวัน และเข้ามาใช้บริการได้ในหลายช่วงอายุ

“พยายามหารูปแบบกัน เพราะไม่ได้อยากทำเป็นอาหารฟิวชั่นจ๋า แต่เป็นอาหารที่ทานได้เรื่อย ๆ ทุกเพศทุกวัย มีอาหารไทยบ้าง ยุโรปบ้าง ส่วนใหญ่เน้นอาหารจานเดียวสามารถทานได้หนึ่งคน แวะมาซื้อสินค้าของที่นี่แล้วหาที่รับประทานอาหารเร็ว ๆ แบบรีบมารีบไป”

ถามว่าชอบทำอาหารมาก่อนหรือเปล่า? ชายหนุ่มหัวเราะเขิน ๆ บอกว่าไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลย ทุกอย่างมาเริ่มต้นที่ร้านนี้ทั้งหมด ตั้งแต่หาที่ปรึกษามาให้คำแนะนำ หาเชฟมาสอนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยิ่งเมื่อต้องมารับผิดชอบ ควบคุมร้านเลยทำให้กลายเป็น “คุณนายละเอียด”

รู้ทุกเรื่องรู้ทุกอย่าง ต้องดูวัตถุดิบ ต้องดูของที่ซื้อมาใช้ให้คุ้มค่า “ต้องศึกษาหาความรู้ว่าอาหารจานหนึ่งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มาถึงตอนนี้พอมีความรู้บ้างแล้วครับ…”

สำหรับแบงค์ เขาเพิ่งกลับมาเมืองไทยไม่ถึงปี และมาช่วยงานธุรกิจร้านอาหารเป็นแห่งแรก จึงถือว่า แกรนด์ เดอ คาเฟ่ เป็นโรงเรียนฝึกหัดสำหรับการทำงาน ทั้งเรียนรู้เรื่องอาหาร วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนเมือง

แบงค์บอกว่าเรื่องการตกแต่งร้าน ภาชนะที่ใช้ พีระพลเป็นคนรักษาคอนเซ็ปต์และให้โจทย์ ส่วนเขาเป็นคนไปจัดการให้ตอบโจทย์และได้ตามคอนเซ็ปต์ของพีระพล “ต้องขึ้นอยู่กับเมนูด้วยว่าอาหารแบบนี้ต้องใช้จานชามแบบไหนจึงดูน่ารับประทาน หรือบางครั้งเราเห็นจานชามก่อนแล้วจึงค่อยคิดเมนูขึ้นมาให้แมตช์กับภาชนะก็มี

สรุปคือเป็นร้านอาหารเพื่อโชว์ผลิตภัณฑ์ไปในตัว” ชายหนุ่มหัวเราะชอบใจ ก่อนบอกว่าต่อจากนี้จะเน้นเมนูอาหารมากขึ้นให้มีความหลากหลาย อาจแยกออกมาเป็นร้านขนมหวานหรืออะไรต่าง ๆ ตามที่จะคิดทำได้

แกรนด์โฮม มีทั้งหมด 6 สาขา สำหรับแกรนด์ เดอ คาเฟ่ ของแกรนด์โฮม สาขาบางนา เปิดให้บริการ 6 เดือนกว่าแล้ว ทั้งสองหนุ่มบอกว่าสามารถทำรายได้ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่าที่ติดตามในโซเชียลมีเดีย เห็นว่าลูกค้าตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ทั้งสองคนประสานการทำงานให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางและเป็นระบบมากขึ้น และทดสอบในทุกจุด เพื่อหาจุดอ่อน

และปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการค่อย ๆ ทำให้ร้านได้มาตรฐานคงที่ “แกรนด์โฮมยังเป็นธุรกิจหลัก ร้านอาหารเป็นอะไรที่มาเสริมมากกว่า คิดว่า ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก ผมยอมรับว่า เราทั้งคู่ยังเป็นมือใหม่ บางครั้งก็อาจมีปัญหา แต่นั่นก็คือบทเรียนที่จะค่อย ๆ สอนให้เราเติบโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้นในอนาคต”