GE HealthCare เปิดตัวเทคโนโลยีทางการแพทย์ตัวใหม่ ในประเทศไทย

ธีรวรรณ ศรีสุข GE HealthCare

GE HealthCare เปิดตัวโซลูชั่นใหม่สำหรับการวินิจฉัยโรค ในประเทศไทย มุ่งลดปริมาณรังสีในการตรวจ เพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ในอนาคต

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวธีรวรรณ ศรีสุข ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ยีอี เมดิคอล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่สำคัญ GE HealthCare จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามายกระดับการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพ ตลอดจนปรับปรุงผลลัพธ์ด้านการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น ในขณะที่ลดค่าใช้จ่ายลง

ปัจจุบันประชากรสูงอายุในประเทศเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลในระดับท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งอัตราของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้นก็เป็นตัวเร่งเรื่องความต้องการบริการด้านสุขภาพ ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข

ดังนั้น การนำโซลูชันดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นวิธีที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้

GE HealthCare ที่ริเริ่มโดยโทมัส อัลวา เอดิสัน มานานกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีธุรกิจครอบคลุม 150 ประเทศทั่วโลก ที่นำเทคโนโลยีการแพทย์คุณภาพสูงมาช่วยวินิจฉัยอย่างแม่นยำ ในประเทศไทยเองมีเครื่องมือแพทย์กว่า 700 ยูนิต กระจายอยู่ตามโรงพยาบาล 600 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำอำเภอ ไปจนถึงศูนย์ส่งเสริมสุขภาพตำบล

GE HealthCare
เครื่องตรวจ MRI

MRI คลายความกังวลผู้ป่วย

เครื่อง MRI เป็นเครื่องมือที่ใช้เคลื่นสนามแม่เหล็ก GE พัฒนาขึ้นบนหลักคิด 3 ด้าน คือ ให้คนไข้คลายความกังวลขณะตรวจ สนับสนุนแพทย์ให้ทำงานสะดวกขึ้น และมีคุณภาพสำหรับการตรวจวินิจฉัย

โดยคิดค้นส่วนคอยล์รับสัญญาณขึ้นใหม่จากขดลวดจำนวนมาก เพื่อช่วยลดความอึดอัดและความกังวลให้คนไข้ที่ต้องถูกคอยล์แบบเดิมครอบไว้ทั้งตัวนานกว่า 20 นาทีขณะตรวจ

GE ออกแบบคอยล์ตัวใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะในลักษณะของผ้าห่ม เพื่อทำให้คนไข้ผ่อนคลาย และรู้สึกปลอดภัยเวลาตรวจ อีกทั้งยังโค้งรับไปตามร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบ AI ที่เข้ามาช่วยผู้ใช้งานให้ทำงานสะดวกมากยิ่งขึ้น

ส่วนสำคัญที่สุดในเครื่อง MRI ของ GE คือการแสดงผลภาพ เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยอย่างตรงจุดที่สุดจากภาพที่คมชัด โดยมีการกำจัดเสียงรบกวนในภาพออกไป ทำให้แพทย์วินิจฉัยหรือเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

GE HealthCare
เครื่องวัดปริมาณรังสีในตัวผู้ป่วย

ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยควรได้รับ

GE มีการพัฒนาโปรเจ็กต์เกี่ยวกับปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ เนื่องจากการใช้เครื่องดังกล่าวมีปริมาณรังสีเข้ามาเกี่ยวข้อง หากใช้น้อยเกินไปภาพที่ออกมาอาจไม่ดีพอที่จะวินิจฉัยโรค ในทางกลับกันหากใช้มากเกินไป ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งอาจเกิดกับทั้งคนไข้และแพทย์ผู้รักษา

ซอฟต์แวร์ที่ GE พัฒนาเป็นการบริหารจัดการปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการตรวจ ปริมาณรังสีจะถูกส่งเข้ามายังโปรแกรม ทำให้แพทย์เห็นว่าคนไข้แต่ละคนได้รับรังสีไปเท่าใด จากนั้นจึงเอามาเปรียบเทียบกับรังสีที่ควรจะได้รับ ซึ่งเป็นการบูรณาการกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ และจะนำไปสู่การคำนวณปริมาณรังสีที่เหมาะกับคนไทยได้ในอนาคต โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 50 แห่งที่มีซอฟต์แวร์ดังกล่าว

GE ใช้ข้อมูลของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิสำหรับการคำนวณปริมาณรังสี ซึ่งมากกว่าที่ทางการแพทย์ใช้ตรวจมหาศาล

ปกติแล้วเครื่องมือทุกชนิดจะช่วยในการสร้างภาพเพื่อวินิจฉัย ถ้าอยากให้ภาพสวย ดูง่าย ก็ใส่รังสีเพิ่มเข้าไป แต่ GE มุ่งพัฒนาว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ภาพสวยในขณะที่ปริมาณรังสีต้องน้อย เครื่องวัดปริมาณรังสีของ GE จึงต้องมีความไวและฉลาด ซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยโดยเรียนรู้จากแพทย์ โดยลดปริมาณรังสีได้ถึง 30 %

GE HealthCare
เครื่องช่วยหัตถการ

หุ่นยนต์ช่วยหัตถการ

หุ่นยนต์เอกซเรย์ระนาบเดี่ยวช่วยทำหัตถการซึ่งเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และมีเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการคำนวณปริมาณรังสีโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด ช่วยรักษาผู้ป่วยทั้งหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดแกนกลางลำตัว ขณะกำลังผ่านตัด

GE คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและแพทย์เป็นสำคัญ จึงพัฒนาหุ่นยนต์นี้ขึ้นเพื่อให้เข้าทำหัตถการได้ทุกด้านของผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ตัวเครื่องสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างเป็นอิสระรอบห้อง สร้างความสะดวกให้แก่ผู้ผ่าตัดเข้าถึงตัวคนไข้ได้ง่ายขึ้น และสามารถควบคุมได้ด้วยตนเองผ่านระบบอัจฉริยะ แทนรุ่นเดิมซึ่งเป็นระบบติดตั้งอยู่กับที่ นอกจากนี้ตัวหุ่นยนต์ยังสามารถติดตั้งในห้องผ่าตัดขนาดมาตรฐานได้

เอ็กซ์เรย์เต้านมระบบดิจิทัล

ปัญหาของหญิงไทยในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นมะเร็งเต้านม ลักษณะทางกายภาพของเต้านมหญิงไทยนั้นค่อนข้างหนา ทำให้แพทย์อ่านค่าจากเครื่องตรวจได้ยาก GE จึงพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำให้อ่านค่าได้แม่นยำขึ้นและลดความเจ็บปวดของคนไข้ให้ลดน้อยลง ด้วยฟังก์ชั่นที่ช่วยสร้างภาพจากอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับขนาดเต้านมคนไข้ โดยใช้ปริมาณรังสีเพียงเล็กน้อย

ที่สำคัญ GE ยังมีเทคโนโลยี ที่ให้คนไข้กดรีโมตเอง ว่าเครื่องจะเข้าใกล้เต้านมได้เพียงใด ทำให้คนไข้คลายกังวลและกล้าตรวจมากขึ้น ซึ่งผลวิจัยพบว่า การที่คนไข้ใช้เครื่องมือเอง ได้ผลดีกว่าที่เจ้าหน้าที่ไปบีบให้

GE HealthCare
เครื่องตรวจมวลกระดูก

ตรวจความหนาแน่นกระดูก คาดการณ์อนาคต

เครื่องตรวจความหนาแน่นกระดูก เป็นการป้องกันมากกว่าการรักษา โดยตรวจว่ามีมวลกระดูกหนาหรือบาง เพื่อคาดการณ์ว่ามีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากเพีงใดในอนาคต

นอกจากตรวจสอบมวลกระดูกแล้ว ยังสามารถตรวจกล้ามเนื้อ และรู้ตำแหน่งไขมันในช่องท้องได้ด้วย เพื่อป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี โดยอุปกรณ์ชนิดนี้นิยมกันมากในวงการกีฬา

GE HealthCare
เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่

เอกซเรย์เคลื่อนที่ เครื่องมือสำคัญยุคโควิด-19

เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ถือกำเนิดมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ความต้องการตรวจปอดมีสูงมากและโรงพยาบาลในตอนนั้นมีข้อจำกัดในการใช้งานเครื่องเอกซเรย์เดิมเป็นอย่างมาก  เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่สามารถไปได้ทุกน่วยในสาธารณสุข ตั้งแต่การออกพื้นที่บริการตลอดจนผู้ป่วยติดเตียง

ภาพที่เกิดขึ้นจะมีความคมชัดสูง โดยมี AI ที่ทำการตรวจสอบขั้นแรกให้ก่อนถึงมือแพทย์ หากพบสิ่งผิดปกติจะทำเครื่องหมายไว้ ซึ่งผลจะถูกส่งถึงหน้าจอของแพทย์แบบเรียลไทม์ อีกทั้งเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่จะให้พลังงานและปริมาณรังสีที่น้อยกว่าเครื่องขนาดใหญ่แบบเดิมมาก

GE HealthCare
Molecular imaging

เทคโนโลยีเวชศาสตร์นิวเคลียร์

โดยส่วนมากแหล่งกำเนิดรังสีจะออกมาจากเครื่อง แต่เครื่องเทคโนโลยีเวชศาสตร์นิวเคลียร์นี้รังสีจะออกมาจากตัวคนไข้ผ่านการฉีดยา หลักการของเครื่องจึงเป็นความไวในการรับสัญญาณเมื่อคนไข้เข้าไปสแกน

ภาพที่ปรากฎออกมาจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยมีจุดสีดำเป็นตัวบอกถึงความผิดปกติที่เกิดในร่างกาย เมื่อเซลล์หรือวัยวะทำงานหนักหรือผิดปกติ จึงส่งรังสีออกมาเป็นจำนวนมากกว่าบริเวณอื่น

เมื่อคนไข้เป็นจุดกระจายรังสี ตัวรับสัญญาณจึงต้องอยู่ใกล้ให้มากที่สุด GE มีการพัฒนาหัววัด 12 หัว ที่ยื่นออกมาใกล้คนไข้ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นแผ่นขนาบข้าง ซึ่งไม่ครอบคลุมร่างกายในทุกตำแหน่ง

เครื่องอัลตราซาวด์เต้านม 3 มิติ

เครื่องอัลตราซาวด์เต้านม 3 มิติ เป็นการตรวจสแกนเต้านมโดยไม่ใช้การแพร่รังสี ลักษณะของหัวตรวจจะใหญ่มากขึ้นกว่าเทคโนโลยีแบบเดิม ซึ่งสแกนได้ทั่วเต้านม โดยทำเพียง 3 ท่า คือ ด้านหน้า ด้านข้าง และตรงกลางอย่างครอบคลุม

เครื่องนี้ต่างจากการตรวจแมมโมแกรมโดยคนไข้จะไม่ได้รับปริมาณรังสี ตามความมุ่งหมายของ GE ที่ต้องการลดปริมาณรังสีในตัวคนไข้ให้ได้มากที่สุด

การตรวจสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพียงคนไข้นอน หัวตรวจจะทำการสแกนทั่วเต้านมโดยเคลื่อนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง

GE HealthCare
CT Scan

CT Scan รองรับการใช้งานของแพทย์และคนไข้

GE คิดค้นเครื่อง CT ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับคนไข้ทุกรูปแบบและเพิ่มความสะดวกให้กับแพทย์ที่ต้องทำงานกับคนไข้ ด้วยเทคโนโลยี AI อย่างกล้องอัจฉริยะ ที่เข้ามาจับตำแหน่งคนไข้เพื่อให้การรักษาออกมาเหมาะสมที่สุด และสร้างภาพที่คมชัด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณรังสีจำนวนมาก ซึ่งลดลงกว่าวิธีเก่าถึง 30 %

นอกจากตัวเครื่อง GE ยังมีซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในการทำงานให้เร็วขึ้น เนื่องจากโรคเกี่ยวกับสมอง การทำงานย่อมขึ้นกับเวลา ซอฟต์แวร์และ AI จะประมวลผลในขั้นต้นให้แล้วส่งไปยังแพทย์ เพื่อลดภาระในการทำงานให้มีขั้นตอนที่น้อยลง

GE HealthCare
Ultrasound

อัลตราซาวน์และแฮนด์เทล ใช้งานได้ทุกพื้นที่

เครื่องอัลตราซาวน์จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ในการตรวจสอบอวัยวะภายใน เช่น ดูความยืดหยุ่นของเนื้อตับ เมื่อแพร่คลื่นเสียงลงไป แพทย์จะทราบถึงความแตกต่างทันทีว่าสุขภาพตับและไขมันในตับเป็นอย่างไร ซึ่งยังคงมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยอ่านค่าต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

หนึ่งอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของ GE คือ แฮนด์เทลอัลตราซาวน์ ที่แพทย์สามารถสแกนคนไข้ได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถนำเครื่องมือขนาดใหญ่ไปได้

เครื่องตัวนี้ที่มีขนาดเล็กสามารถพกพาและตรวจคนไข้ได้อย่างสะดวก โดยจะมีภาพแสดงผลที่หน้าจอโทรศัพท์ผ่านบลูทูธ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต และสะดวกกว่าการใช้หูฟัง Stethoscope เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถส่งภาพตรงมาที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยวินิจฉัยได้ทันทีหากมีความจำเป็น

แอปพลิเคชั่นบริการทางไกล

เมื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ถูกส่งไปประจำยังโรงพยาบาลต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการดูแลและบำรุงรักษา GE มีระบบแอปพลิเคชั่นที่บริการด้วยความทันสมัย สามารถแจ้งซ่อมและตรวจสอบได้ครบวงจร

หากย้อนกลับไป เครื่องที่อยู่ตามโรงพยาบาลห่างไกลต้องใช้กำลังคนและระยะเวลาในการซ่อมแซมนานพอสมควร ทำให้ไม่สามารถบริการคนไข้ได้ แต่ดิจิทัลเซอร์วิสที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นี้สามารถตรวจสอบได้จากระยะไกล โดยเข้าควบคุมหน้าจอของเครื่องและแก้ไขได้ทันที

ระยะเวลาที่เครื่องหยุดดำเนินการจึงลดลงไปเป็นจำนวนมาก คนไข้ก็สามารถรับบริการได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสามารถวางแผนใช้เครื่องอย่างเป็นระบบมากขึ้น จากแอปพลิเคชั่นที่แจ้งข้อมูลทั้งในส่วนระยะเวลาใช้เครื่อง และจำนวนคนไข้ในช่วงเวลาต่าง ๆ

ไอทีโซลูชัน

สุดท้าย GE มีระบบไอทีเพื่อรวบรวมข้อมูลของคนไข้ ซึ่งเชื่อมทุกโรงพยาบาลให้สามารถอ่านผลวินิจฉัยเกี่ยวกับรังสีร่วมกันได้อย่างครอบคลุม หมดปัญหาแผ่นฟิล์มเปิดไม่ได้ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถือผลตรวจไปต่างโรงพยาบาล