ชุดาภา จันทเขตต์ ผู้กำกับฯ “หมอหลวง” นักปฏิวัติละครไทย

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

ความสำเร็จในงานอาจยังไม่ภาคภูมิใจเท่ากับคนพูดถึงงานของเรา นี่คือประโยคทองของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครช่อง 3 ที่มีเรตติ้งพุ่งสูงสุด เธอจึงคาดหวังให้ “หมอหลวง” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านแพทย์แผนไทย ทั้งฝากถึงรัฐบาลใหม่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงสู่ระดับสากลอย่างจริงจัง

“คุณชุ-ชุดาภา จันทเขตต์” ผู้จัดละครและผู้กำกับละครเรื่องหมอหลวง เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติคนเราคาดหวังกับความสำเร็จอยู่แล้ว เพราะทุกการทำงานต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่ ยิ่งได้มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ แล้วผลตอบรับออกมาดีก็เกิดความภูมิใจ มีความสุข และรู้สึกว่าเราทำสำเร็จแล้ว

ยอมรับเลยว่า เราใช้เวลาในการรีเสิร์ชข้อมูลเชิงลึกมาก ๆ นานถึง 2 ปี โดยเฉพาะเรื่องยาในละคร โดยที่นางเอกเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ก็จะมีความรู้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่แพทย์ แล้วนางเอกได้ข้ามไปอยู่อีกภพหนึ่งเป็นตัวแทนคนดูหรือผู้เล่าเรื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะวิธีการรักษาโรค

จุดเริ่มต้นละคร “หมอหลวง”

แรงบันดาลใจเกิดขึ้นเพียงแวบเดียว จากการดูรายการทีวีที่สัมภาษณ์แพทย์แผนปัจจุบัน เรื่องการนำยาแพทย์แผนไทยมาผสมผสาน แล้วสามารถรักษาโรคมะเร็งทรวงอกให้หายได้เกือบ 100% เธอจึงไปหาข้อมูลต่อ และรู้ว่ามีสูตรเช่นนี้มาตั้งแต่โบราณ ทำให้เรารู้สึกทึ่งในสรรพคุณสมุนไพรไทย

แม้ชุดาภาจะไม่ใช่คนที่ทานสมุนไพร แต่เวลาเราอยากรู้หรือได้แรงบันดาลใจอะไรก็จะศึกษาเต็มที่ ถึงขั้นไปถามกระทรวงสาธารณสุขจนได้รับคำแนะนำให้ปรึกษากับ “อาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา” ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทย และได้รับตำรายาโบราณมาหลายเล่ม จากนั้นจึงเริ่มพยายามอ่าน

ยากที่สุดของหมอหลวงคือ บท ที่ผ่านการรีเสิร์ชเยอะมาก เพราะการรักษาโรคเป็นเรื่องยาก จะต้องเล่าอย่างไรให้คนดูเกิดความเชื่อ ดึงคนดูเอาไว้ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องเล่าให้มีทั้งความบันเทิงและสาระ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์และยา ก่อนนำทุกอย่างมาย่อยให้ดูง่าย

แต่เนื่องจากเป็นละครเพื่อความบันเทิง ปี พ.ศ. จึงอาจไม่ตรงกับเหตุการณ์จริงบ้าง ไม่อย่างนั้นวิธีการเล่าเรื่องจะยาก หรืออย่างสมัยโบราณที่มีตำราจารึกวิธีการรักษาโรคไว้ที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) เสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งแรก ซึ่งไม่เหมือนในละครที่จำลองให้มีการสอบเข้าและเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ขึ้นมา เป็นต้น

หมอหลวง ซอฟต์พาวเวอร์แพทย์แผนไทย

ชุดาภากล่าวว่า ละครหมอหลวงได้นำซอฟต์พาวเวอร์ 2 เรื่องที่เด่นชัดของไทยมานำเสนอ ได้แก่ การรักษาแบบแพทย์แผนไทย และการกินอาหารเป็นยา เนื่องจากต้องการให้คนเข้าใจเรื่องแพทย์แผนไทยมากขึ้นผ่านความบันเทิงที่รับมาโดยไม่รู้ตัว

ย้อนไป 100 กว่าปีที่แล้วก่อนที่จะมีแพทย์แผนปัจจุบัน ยาไทยใช้รักษาโรคทุกชนิด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะรักษาหายทุกโรค เพราะยังไม่ได้มีการพัฒนาถึงขีดสุด ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ถึงขีดสุด มีอีกหลายโรคที่รักษาไม่ได้ ดังนั้น เวลาทำละคร เราต้องการให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และนักวิจัยเกิดความเข้าใจ ได้แรงบันดาลใจ กระตุ้นความอยากรู้ นำไปสู่การศึกษาจนเกิดการพัฒนา นั่นคือจุดมุ่งหมาย

สำหรับการผลักดันวงการบันเทิงให้เกิดเป็นซอฟต์พาวเวอร์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ชุดาภากล่าวว่า ต้องพัฒนางานให้แข่งขันและส่งออกได้ ซึ่งงานดี ๆ มีอยู่ทุกช่อง แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จเป็นซอฟต์พาวเวอร์มันต้องมีพลังจากองค์กรและการสนับสนุนที่จริงจังจากภาครัฐ คนเบื้องหลังเพียงแต่เป็นแรงกระตุ้นและจุดประกายเท่านั้น ไม่ใช่รู้สึกว่าละครเรื่องนี้ดีก็เรียกซอฟต์พาวเวอร์ อีก 2 ปีมีเรื่องใหม่ก็เรียกซอฟต์พาวเวอร์ วนไปเช่นนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร

ไทยต้องมองโอกาสในการแข่งขัน อุตสาหกรรมบันเทิงในเอเชียไม่ได้มีหลายประเทศ ที่โดดเด่นเพียงเกาหลีใต้เท่านั้น ต้องนำเสนอจุดเด่น วัฒนธรรม และธรรมชาติของคนไทยออกมา ยังไม่ต้องเท่าเกาหลีใต้ก็ได้ แต่เราต้องมุ่งสู่การเป็นเบอร์ 2

นอกจากนี้ งานบันเทิงส่วนใหญ่ที่คนเสพยังเป็นตัวบ่งบอกระดับสมองของประชาชนในประเทศ หากงานพวกนี้มันถูกพัฒนาและคนทั้งประเทศสามารถเสพโดยเข้าใจ งานบันเทิงจะสามารถยกระดับและพัฒนาคนได้

“ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมด้านบันเทิงเพื่อส่งออกของไทยสบายมาก เรามีบุคลากรที่เก่งทุกด้าน โฆษณาของเราติดอันดับโลก ใครก็มาจ้าง หลาย ๆ งานก็ถ่ายทำในเมืองไทย”

30 ปี กับความอิ่มตัวในงานเบื้องหน้า

ชุดาภาโลดเเล่นอยู่ในวงการบันเทิงมาเป็นเวลา 30 ปี โดยเริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 18 ปี ก่อนเรียนมหาวิทยาลัยเสียอีก ซึ่งชีวิตเบื้องหน้าในวงการที่ผ่านมาทำให้เธอรู้สึกอิ่มตัว และหันมาทำงานเบื้องหลังได้ประมาณ 12 ปีแล้ว

ชุดาภาเล่าว่า จริง ๆ เป็นคนที่ชอบงานการแสดง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มาถึงจุดอิ่มตัว ถึงขนาดที่ว่าปัจจุบันนี้ ใครให้ไปแสดง ไปออกรายการ หรือไปทำอะไรที่เกี่ยวกับเบื้องหน้าจะแอนตี้เลย เพื่อนเรียกถ่ายรูปยังไม่ถ่าย เบื่อถึงขนาดนั้น แต่พอเวลามาอยู่งานเบื้องหลังรู้สึกว่าเป็นตัวเองมากกว่า เพราะตอนแสดงต้องไปรับบทบาทอื่น ขณะที่การอยู่เบื้องหลังงานทุกอย่างเป็นตัวของเราเอง

นอกจากนี้ ชุดาภายังกล่าวถึงสไตล์การทำงานที่มักกำกับละครพลอตมากกว่าหยิบนิยายมาทำ โดยมองว่าในหนึ่งปีมีคนเขียนนิยายออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่ก็น้อยเรื่องที่ดังและประสบความสำเร็จ ในเมื่อไม่มีนิยายก็ต้องพลอตเรื่องขึ้นมาเอง และทำเป็นละครให้ประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นวิธีที่ยากมาก แต่เหตุผลที่เลือกจะพลอตเรื่องมากกว่า เพราะเป็นความท้าทาย

สาวพาณิชย์ศิลป์ ชอบบุกเบิก เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้

ชุดาภาให้ความสำคัญกับงานเป็นอันดับแรกในชีวิต แต่เป็นคนแบ่งเวลาไม่เก่ง เวลาสนใจเรื่องอะไรก็จะหมกมุ่นกับสิ่งนั้น นอกจากนี้ ยังเป็นคนชอบเรื่องธุรกิจ เป็นคนมีความสุขกับการได้สร้างอะไรขึ้นมา แม้เมื่อก่อนจะไม่เข้าใจตนเองว่าเราชอบเป็นนักธุรกิจก็ตาม

“จริง ๆ คือเราเป็นคนชอบเริ่มต้น ชอบบุกเบิก แต่พอทำจนสำเร็จขึ้นมาแล้ว ก็จะหมดแพสชั่นทันที ต้องให้คนบริหารมาทำต่อ”

ชุดาภายังเล่าต่อไปว่า นอกจากชอบธุรกิจยังมีความเป็นศิลปิน จึงเกิดการผสมผสานทั้งสองอย่างจนเป็น “พาณิชย์ศิลป์” ซึ่งคือตัวตนที่แท้จริง เวลาที่นำพาณิชย์ศิลป์มาอยู่เบื้องหลังงานละคร จึงไม่ได้ทำงานบันเทิงอย่างเดียว แต่ต้องมองตลาดด้วยทุกครั้ง ว่าผลงานชิ้นนี้จะต้องขายได้หรือไม่

“งานที่มาจากมือเราต้องมีตลาดรองรับ เพราะถ้าทำแล้วขายไม่ได้ แม้จะเป็นงานที่ดีมาก แต่มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่ได้เห็นก็มองว่าไม่คุ้ม ขณะเดียวกัน เราทุ่มเททำงานเต็มที่ 100% มีคนเห็นผลงานชิ้นนั้นเป็นจำนวนมาก แล้วงานของเราให้อะไรกับคนอื่น คือเราไม่เอาแค่ขายดีอย่างเดียว เราต้องขายดีแบบมีคุณภาพ เพราะเราโตพอที่จะรู้สึกว่า การที่เราจะฝากผลงานอะไรไว้กับสังคม ก็ควรมีคุณค่า”

สำหรับไลฟ์สไตล์ชีวิตเธอ เป็นคนไม่ชอบไปเดินห้าง แต่ชอบต้นไม้ โดยคิดว่าการปลูกต้นไม้ทำให้มีความสุข เป็นการคืนธรรมชาติให้กับโลก เธอมีความห่วงใยเรื่องภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้ว เพราะคิดว่าต้องช่วยกันรักษาก็เลยเริ่มปลูกต้นไม้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครตื่นตัวเรื่องนี้เท่าใดนัก

ในช่วงแรกที่ยังไม่มีที่ดินของตัวเองมากนักก็ใช้วิธีปลูกรอบบ้าน เมื่อเริ่มมีกำลังมากพอก็ซื้อที่ดินแล้วเริ่มปลูกป่าจริงจัง ใช้เวลากว่า 10 ปี เหตุที่ใช้เวลานานเพราะไม่ศึกษาให้ดีก่อน มุ่งแต่อยากทำ ถ้าศึกษาข้อมูลก่อนคงใช้เวลาเพียง 1 ปี เพราะจะรู้ว่าต้นไม้พันธุ์ใดเหมาะสมกับพื้นที่ใด

“จริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนที่ชอบทำอะไรตามกระแส เพราะจะทำให้เราตามหลังคนอื่น เราควรจะเป็นผู้นำกระแส แต่คนส่วนใหญ่อาจจะกลัวการที่จะต้องออกมาทำอะไรพิเศษ เพราะตอนที่อยู่ในกระแสเกาะกลุ่มกันไป คือเซฟโซน เราเป็นคนที่ไม่ชอบเซฟโซน เราเป็นคนชอบความท้าทาย”

ทำไมต้อง มาริโอ้ และ คิมเบอร์ลี่

หลังประสบความสำเร็จกับ “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” คำถามที่ว่าเพราะเหตุใดคู่พระนางของ “หมอหลวง” ยังต้องเป็น “มาริโอ้ เมาเร่อ” และ “คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส” ชุดาภาเผยว่า ที่จริงจะเปลี่ยนพระนางเป็นคู่ใหม่เลยก็ได้ แต่ตนเองรู้สึกว่าสามารถทำงานกับทั้งคู่ได้ง่าย มาริโอ้และคิมเบอร์ลี่ มีความเข้าใจตนเองและเนื้องานเป็นอย่างดี

แม้ทั้ง 2 เรื่องจะแตกต่างกัน ทั้งตัวบทและฟีลลิ่ง แต่บอกเพียงไม่กี่ประโยคก็รู้ใจ หมอหลวงกับทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ไม่ใช่ภาคต่อและไม่เกี่ยวข้องกัน “ทองอ้น” และ “ทองเอก” แคแร็กเตอร์ต่างกันอย่างชัดเจน ส่วน “ชบา” และ “บัว” ก็เช่นกัน

ละครของชุดาภา ไม่ว่าพระเอกจะเก่งเพียงใด แต่จะมีความธรรมดาเป็นแกนหลัก ไม่ได้หล่อจนสาว ๆ ต้องกรี๊ดทั้งเรื่อง ในหมอหลวง บทหล่อถูกส่งให้ “ทองแท้” (มาสุ จรรยางค์ดีกุล) เพราะเราต้องการให้มาริโอ้มีความธรรมดา ทะเล้น ซึ่งคนดูจะรู้สึกใกล้ชิด คุ้นเคย และสัมผัสได้ง่าย

“คนดูอาจจะกรี๊ดพี่ทองแท้ แต่เพียงฉากเดียวที่ทองอ้นถูกพ่อตี ทุกความสงสารและกำลังใจก็พุ่งมาสู่มาริโอ้อย่างล้นหลาม นั่นคือข้อพิสูจน์ว่าคนดูรักและซึมซับพระเอกธรรมดา ๆ คนนี้โดยไม่รู้ตัว แม้จะตามกรี๊ดพระเอกในฝันอย่างทองแท้ก็ตาม”

เราเอานักแสดงมาเล่น ต้องไม่ใช่เล่นแค่เสมอตัว บทต้องส่งให้เขาได้รับความประทับใจจากคนดูเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงเราทำสำเร็จแล้วเช่นกัน หมอหลวงใช้เวลาในการถ่ายทำเพียง 6 เดือนเท่านั้น เพราะนักแสดงทุกคนทำงานหนักก่อนจะเปิดกล้อง มีการส่งตัวละครที่เป็นนักเรียนและอาจารย์หมอไปเรียน ยิ่งอาจารย์หมอเป็นนักแสดงที่หน้าตาไม่คุ้นสำหรับช่อง 3 จึงมีคำถามว่า เป็นครูหมอจริงหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ชุดาภาต้องการให้คนดูพูดประโยคนี้ เพราะว้าวกับครูหมอ

“เราต้องเข้าใจธรรมชาตินักแสดง บทในเรื่องจะเขียนแบบไหนต้องเข้าใจนักแสดง ถ้ารู้จักนักแสดงเราดี เราก็จะหยิบเขามาใช้ได้ดี และงานก็จะออกมาดีเช่นกัน”