Thailand Coffee Fest 2023 สัมผัสเมล็ดกาแฟพิเศษไทย 13-16 ก.ค.นี้

กาแฟ

สัมผัสเมล็ดกาแฟพิเศษไทยที่ชนะรางวัล “Thai Specialty Coffee Awards 2023” ใน “Thailand Coffee Fest 2023” งานของคนรักกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ IMPACT Exhibition Center Hall 5-8 วันที่ 13-16 ก.ค.นี้

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 สืบเนื่องจาก “Thai Specialty Coffee Awards 2023” การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยเพื่อค้นหาเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ไทยคุณภาพดีที่สุดประจำปี 2023 ที่จบลงไปเมื่อ 9 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา

สมาคมกาแฟพิเศษไทยชวนคนรักกาแฟและผู้ที่สนใจสัมผัสสุดยอดเมล็ดกาแฟที่ได้รับรางวัลดังกล่าวในงาน “Thailand Coffee Fest 2023 : Good Coffee for Everyone” เทศกาลของคนรักกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดร่วมกับ “The Cloud” บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ที่ IMPACT Exhibition Center Hall 5-8 ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ค. 66

“นางสาวณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์” นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวว่า การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2013 ภายใต้แนวคิดที่ต้องการชูคุณภาพกาแฟพิเศษไทยให้เป็นที่รู้จักและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก พร้อมผลักดันการให้รางวัลกับเกษตรกรผู้ชนะการแข่งขันทั้งจาก 3 กระบวนการ

กระบวนการผลิตแบบเปียก (Washed Process) เป็นกระบวนการที่ใช้น้ำในการแปรรูปทุกขั้นตอน ซึ่งเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีความชัดเจนในเรื่องของรสชาติและกลิ่น รสชาติ ที่มีกรดคล้ายผลไม้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีคุณภาพที่สม่ำเสมอและควบคุมการกระบวนการผลิตได้ง่ายรูปแลบการผลิตแบบอื่น ๆ

Advertisement

กระบวนการผลิตแบบแห้ง (Natural Process) เป็นกระบวนการผลิตที่นำผลเชอรี่สุกจัดมาตากประมาณ 15-30 วันให้แห้งจนเนื้อและเปลือกหลุดออกจากเมล็ด เนื่องจากผลิตแบบแห้งทำให้ไม่ถูกน้ำชะล้างสารต่าง ๆ ออกจากเปลือกและเมือกของผลกาแฟ ทำให้เมล็ดกาแฟสามารถดูดซับสารต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ รสชาติจึงออกมาในแนวจัดจ้านและเข้มข้น

สุดท้าย คือ กระบวนการผลิตแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง (Honey Process) โดยนำผลเชอร์รี่กาแฟแช่น้ำเพื่อทำให้คัดแยกแล้วสีเปลือกออก จากนั้นหมักเมล็ดกาแฟกับเนื้อไว้และนำไปตากจนแห้งโดยที่ไม่ขัดเมือก ทำให้ความหวานของเนื้อกาแฟซึมเข้าสู่เมล็ดและทำให้เกิดกลิ่นคล้ายผลไม้ด้วย

เมล็ดกาแฟจากน่าน คว้า 3 แชมป์

การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือผู้ชนะทั้ง 3 กระบวนการมีแหล่งปลูกกาแฟที่บ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ทั้งหมด ได้แก่ คุณวิชัย กำเนิดมงคล Cupping Score 91.63 (Washed Process), คุณนภาพร กำเนิดมงคล Cupping Score 91.23 (Natural Process) และคุณสรพงษ์ จิรนันทนุกุล Cupping Score 89.42 (Honey Process)

Advertisement

สำหรับเกษตรกรผู้ชนะการแข่งขัน 10 ลำดับแรกจากทั้ง 3 รางวัล มีสิทธิได้เข้ารับการประมูลจากกลุ่มผู้สนใจ ซึ่งมีผู้เข้าประมูลจำนวนมาก แข่งขันราคากันดุเดือดในหลักหมื่นบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมูลค่าสูงที่สุดที่ประมูลได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33,500 บาทต่อกิโลกรัม และมียอดการประมูลรวมกันทั้งสิ้นกว่า 4.46 ล้านบาท

การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมีการพัฒนาการองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง หลายรายเริ่มเข้าใจว่ากาแฟที่ดีต้องมาจากแหล่งกำเนิดที่ดี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งใส่ใจสายพันธุ์พิเศษ, บำรุงต้น, บำรุงดิน, ใส่ปุ๋ย, ตัดแต่งกิ่ง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการต่าง ๆ และส่งต่อถึงผู้บริโภค

คุณภาพเมล็ดกาแฟพิเศษไทยสามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้อย่างแน่นอน เพราะมีมาตรฐานสูงแต่ความท้าทายคือมีปริมาณผลผลิตค่อนข้างน้อย และเพียงพอต่อการส่งออก ถือเป็นทเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค และหากความนิยมกาแฟสายพันธุ์พิเศษในประเทศสูงขึ้นเท่าใด กาแฟพิเศษไทยก็จะได้รับความนิยมตามไปด้วย

กลุ่มคนต้นน้ำต้องการยกระดับ

นายบริรักษ์ อภิขันติกุล ตัวแทนคณะกรรมการตัดสินการประกวด กล่าวว่า จำนวนเมล็ดกาแฟที่ส่งเข้าประกวดมีจำนวนเกือบ 300 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่าน่าแปลกใจ เนื่องจากก่อนการประกวดคณะกรรมการคาดการณ์ว่า เมล็ดกาแฟที่ส่งเข้าประกวดน่าจะลดลง เพราะผลผลิตที่น้อยลงจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทั่วโลก

แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนต้นน้ำที่ผลิตเมล็ดกาแฟต้องการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แม้จะเจอวิกฤตแต่เกษตรกรก็ยังแบ่งเมล็ดกาแฟเข้าร่วมการประกวดเช่นเดิม นอกจากนี้คะแนนเฉลี่ยของการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยยังสูงขึ้นทุกปี โดยปีนี้อยู่ในกลุ่ม Specialty Grade (80 คะแนนขึ้นไป) ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก

ต้องยอมรับว่า เกษตรกรเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “กาแฟที่ดี” อีกทั้งกาแฟพิเศษไทยราคาผลผลิตยังสูงขึ้นทุกปี และเป็นอีกวงการที่อยู่รอดแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา นายบริรักษ์กล่าว