ตะวัน วัตุยา โรงหนังวันวาน มติชน(ด)รามา

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 “สำนักพิมพ์มติชน” บูท J47 มาในธีม “มติชน(ด)รามา” โรงภาพยนตร์ย้อนยุค จากฝีแปรงและผลงานกำกับของ “ตะวัน วัตุยา” ที่จะพาทุกคนกลับสู่วันวานยุค 80s อีกครั้ง เมื่อสมัยที่โรงภาพยนตร์นอกห้างยังรุ่งเรือง พบกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2566

ฝันอยากเป็นผู้กำกับ

ตะวัน วัตุยา
ตะวัน วัตุยา

“ตะวัน วัตุยา” เผยว่า เป็นคนวาดรูปได้ตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เด็ก ๆ ก็ชอบวาดรูปกันเกือบทุกคน จริง ๆ ความฝันแรกไม่ได้คิดว่าอยากเป็นจิตรกร เพราะครอบครัวชอบดูหนังกันมากเลยอยากเป็นผู้กำกับหนัง และเป็นหนังแนวตลาดด้วย ไม่ใช่หนังอาร์ต

จุดเปลี่ยนอยู่ตอน ม.3 เพราะเป็นคนไม่ค่อยสนใจเรียน ตอนนั้นคิดง่าย ๆ ว่าอยากไปเรียนวาดรูปจะได้ใส่กางเกงขายาว ไว้ผมยาวได้ เลยไปสอบเข้าช่างศิลป์ ไม่เรียนมัธยม แต่ก็ไว้ผมยาวไม่ได้อยู่ดีเพราะต้องเรียน ร.ด.

ADVERTISMENT

ความชอบในการดูหนังกลายมาอยู่ในงานศิลปะช่วง 2-3 ปีที่แล้ว เดิมทีไม่เคยคิดเอาเรื่องพวกนี้มาทำเป็นอาร์ต แต่มีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปดูสิ่งต่าง ๆ ช่วงที่หล่อหลอมตัวตนของเราขึ้นมา ทั้งหนัง เพลง การ์ตูน และเกม ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงความฝันแรกที่บอกว่าอยากเป็นผู้กำกับหนัง จึงเริ่มหยิบจับมาผสมกันเป็นเพนติ้ง

โรงหนัง ความสุขในวันวาน

สมัยก่อนโรงหนังสแตนด์อะโลนมีเยอะมาก เพราะทีวีไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แถมยังเป็นทีวีขาวดำหรือทีวีเครื่องเล็กด้วย แต่การไปดูหนังเราสามารถดูหนังกลางแปลงหรือหนังโรงได้ในราคาถูก แล้วทุกอย่างเป็นสี ใหญ่โต ทั้งเสียงทั้งขนาดจอ เลยทำให้ทุกคนอยากเข้าโรงหนัง เป็นความสุขที่ “มันเจ๋งอะ”

แต่ก่อนจะมีโรงหนังชั้นหนึ่งและชั้นสอง โรงหนังชั้นหนึ่งจะฉายเรื่องเดียว หนังจบถึงออกได้ ส่วนโรงหนังชั้นสองจะเป็นหนังควบ ฉาย 2-3 เรื่อง เราเข้าออกเวลาไหนก็ได้ ผมก็ดูทั้งสองแบบ ตอนเด็กผมอยู่แถวฝั่งธนฯ ใกล้กับวงเวียนใหญ่ จะมีโรงหนังสามโรงที่ฉายหนังควบ

ADVERTISMENT

“มากสุดคือดูหนังสี่เรื่องในวันเดียว ออกจากบ้านไปถึงก็กินข้าวกลางวัน ดูหนังสองเรื่อง ออกมากินข้าวเย็นแล้วดูหนังอีกสองเรื่อง”

ผมโตมาในยุคที่หลาย ๆ อย่างไม่ได้รวมกัน เราไม่ได้ไปห้างแล้วเจอทุกสิ่ง ตอนนั้นห้างยังมีไม่กี่ห้าง ห้างเป็นที่เราเอาไว้ซื้อของ ทุกอย่างมันแยกอยู่คนละที่ตามจุดประสงค์ เช่น ห้องสมุด ห้องดูหนัง ฟังเพลง จะเป็นเอกเทศของมัน

ADVERTISMENT

“เป็นเรื่องยุคสมัย จะบอกว่าอะไรดีกว่ากันไม่ได้ แต่ผมทันยุคที่สิ่งเหล่านี้ยังแยกกันอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าชอบที่เห็นมันอยู่แยกกัน”

อ่านเอาเรื่อง “อยากลืมกลับจำ”

ตะวัน วัตุยา เผยว่า แม้ช่วงหลังอ่านหนังสือค่อนข้างน้อย เพราะงานเยอะมาก แต่มีเล่มหนึ่งตอนที่ได้ทำปก อ่านแล้วรู้สึกสนุก คือ “อยากลืมกลับจำ” ของสำนักพิมพ์มติชน สารคดีชีวประวัติ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” จากความทรงจำของ “จีรวัสส์ ปันยารชุน” ผู้เป็นบุตรี

ป้าจีเล่าเรื่องได้สนุกมาก ตอนอ่านผมอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วก็ยังจำได้ถึงเรื่องการเดินทางของป้าที่จะไปอเมริกาแต่ไปยากมาก ผมค่อนข้างชอบหนังสือเล่มนี้ ผมก็ไม่เคยคิดว่าแต่ก่อนเวลาจะไปต่างประเทศจะยากขนาดนั้น เราจะต้องนั่งรถไฟที่มาเลเซีย แล้วไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์ กว่าจะไปถึงยุโรป

ตอนนั้นคุยกับเพื่อนที่ญี่ปุ่น เพื่อนบอกผมว่า ลองคิดดูสิว่าอีก 50 ปี คนรุ่นนั้นก็จะมองว่าคนรุ่นเรานั่งเครื่องบินกันเหรอ คนยุคนั้นอาจใช้เครื่องย้ายมวลสาร เขาอาจจะไปอเมริกาในเวลา 10 นาที หรือครึ่งชั่วโมง ไม่ใช่ 1 วันเหมือนตอนนี้ก็ได้ ตะวัน วัตุยา กล่าว

มติชน(ด)รามา งานมหกรรมหนังสือ ครั้งที่ 28

ตะวัน วัตุยา กล่าวว่า “ดรามา” ปะปนในหนังไทยเกือบทุกเรื่อง เมื่อสำนักพิมพ์มติชนจะทำธีมหนัง ผมก็นึกถึงช่วงที่มีความสุขกับการดูหนัง ยุคที่หนังไทยรุ่งเรืองมาก คือ ช่วง 70s-80s และช่วงนั้นหนังบู๊มีเยอะมาก เลยคิดว่าอยากย้อนไปสู่ยุคนั้นซึ่งเป็นยุคที่หนังแอ็กชั่นรุ่งเรือง

ตัวละครที่วาดออกมาเป็นการผสมหนังหลาย ๆ เรื่อง เหมือนทำคอลลาจ ผมตัดแปะจากความทรงจำ เอาหนัง 20 เรื่องมายำรวมกัน สิ่งที่หนังไทยทุกเรื่องมีเหมือนกัน คือ พระเอก ผู้ร้าย ตัวโกง มือปืน อันธพาล มาเฟีย ตลก และดาวยั่ว

ผมคิดว่าสนุกที่เราย้อนไปดูหนังเก่า แล้วรู้ว่าเราจำผิด จริง ๆ เราเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ เพราะเราเอาหนังเรื่องอื่นมาผสมกัน พอเราดูอีกทีมันเป็นแบบนี้ ผมเอาอารมณ์แบบนี้มาใช้ เอาหลาย ๆ เรื่องมาผสมกัน

“ชีวิตจริงกับละคร อันไหนดรามากว่ากัน ตอนนี้มันจะแยกยาก หลายสิ่งที่เราเคยคิดว่ามันเป็นแค่ละครมันก็เกิดขึ้นจริงได้ เรารู้สึกว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคที่หลายอย่างปะปนกัน แล้วมันก็ลวงเราจนทำให้สับสน”

ผมคิดว่าอาร์ตมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรนะ มันก็เป็นตัวของมัน มันก็ถูกสร้างมาเพื่อตอบสนองคนสร้าง อยู่ที่คนสร้างจะหวังอะไรกับมันหรือไม่ได้หวัง อย่างผมไม่ได้หวังอะไร ผมว่าอาร์ตไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ได้ทำให้คนกลายเป็นคนดี เหมือนที่การมีอาร์ตพุทธศิลป์เต็มไปหมดก็ไม่ได้ทำให้คนธรรมะธัมโมขึ้น

“หนังสืออาจจะเปลี่ยนคนได้ แต่ผมว่าอาร์ตไม่ได้เปลี่ยน”