พระมาลาของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ถูกประมูลที่ 73 ล้านบาท

พระมาลาของจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต
พระมาลาของจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต

พระมาลาทรงบิกอร์นสีดำของ “จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต” ในศตวรรษที่ 19 ถูกประมูลที่ราคา 73 ล้านบาท ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าว BBC รายงานว่า พระมาลา (หมวก) ทรง “บิกอร์น” (Bicorne) ของจักรพรรดิ “นโปเลียน โบนาปาร์ต” ถูกประมูลที่ราคา 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.9 ล้านยูโร) หรือสูงถึง 73 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะประมูลได้ระหว่าง 600,000-800,000 ยูโร

การประมูลดังกล่าวจัดโดยบริษัท โอเซอนา (Osenat) ในย่าน “ฟงแตนโบล” (Fontainebleau) ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยผู้ที่ประมูลหมวกไปไม่ได้แสดงตัว

พระมาลาสักหลาดสีดำใบนี้ นโปเลียน โบนาปาร์ต เคยใส่สมัยที่เขาปกครองฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 19 และถูกเก็บไว้โดยตระกูลเสนาธิการในวังของนโปเลียน โดยเจ้าของคนล่าสุดคือ “ฌอง หลุยส์ โนสิเย่ร์” (Jean-Louis Noisiez) นักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อปีที่แล้ว ทำให้หมวกใบนี้กลับคืนสู่บริษัทประมูลอีกครั้ง

ภาพจาก AFP

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่านโปเลียนเป็นเจ้าของหมวกบิกอร์นประมาณ 120 ใบ ตลอดหลายปีที่เขาปกครองฝรั่งเศส ราวกับว่ามันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเขา โดยคาดว่ามีเพียง 20 ใบเท่านั้นที่หลงเหลือในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในคอลเล็กชั่นส่วนตัวของนักสะสมหรือคนที่ประมูลได้

“ฌอง ปิแอร์” ผู้ดำเนินการประมูลจากบริษัทโอเซอนา กล่าวว่า ผู้คนจำหมวกใบนี้ได้ทุกที่เมื่อพวกเขาเห็นมันในสนามรบ พวกเขารู้ว่านโปเลียนอยู่ที่นั่น และเมื่ออยู่ในที่ส่วนตัว เขาจะสวมมันไว้บนศีรษะเสมอ หรือถือมันไว้ในมือ และบางครั้งก็โยนมันลงบนพื้น นั่นคือสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ

ภาพจาก AFP

หมวกใบนี้ยังมีที่มาไร้ที่ติ ซึ่งอยู่ในตระกูลเสนาธิการในวังของนโปเลียนตลอดศตวรรษที่ 19 และมีสัญลักษณ์ที่นโปเลียนติดไว้ในปี ค.ศ. 1815 (พ.ศ. 2358) ระหว่างการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากการถูกเนรเทศบนเกาะเอลบาไปยังเมืองอองทีบส์ ซึ่งเขาเป็นผู้นำในการกลับคืนสู่อำนาจในช่วงสั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ถูกนำมาประมูล ได้แก่ จานเงินที่ปล้นมาจากรถม้าของนโปเลียนภายหลังความพ่ายแพ้ของเขาที่วอเตอร์ลู ในปี ค.ศ. 1815 และโต๊ะเครื่องแป้งไม้ที่เขาเป็นเจ้าของ พร้อมด้วยมีดโกน แปรงสีฟันสีเงิน กรรไกร และข้าวของอื่น ๆ ฌอง ปิแอร์ กล่าว