BLACKPINK ต่อ-ไม่ต่อสัญญา ปรากฏการณ์ออกจากค่ายไม่ออกจากวง ?

blackpink ต่อสัญญา
ภาพจาก X (Twitter) อย่างเป็นทางการของ BLACKPINK
เผยแพร่ครั้งแรก 22 พฤศจิกายน 2566
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 29 ธันวาคม 2566

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจปรากฏการณ์ “ออกจากค่ายไม่ออกจากวง” ที่กลายเป็นวิถีปฏิบัติในวงการ K-Pop เมื่อศิลปินตัดสินใจเดินหน้าบนเส้นทางใหม่ แต่ก็ยังต้องการรักษาตัวตนบนเส้นทางเดิม

จากที่ประเด็นการต่อสัญญาของ 4 สาววง “BLACKPINK” กับต้นสังกัดอย่าง “วายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (YG Entertainment) เป็นที่จับตาของหลายฝ่ายมานาน เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ตามเวลาเกาหลีใต้ YG Entertainment ได้ประกาศว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงภายในคณะกรรมการบริหารของบริษัท เกี่ยวกับการลงนามในสัญญาศิลปินกลุ่มแบบพิเศษกับสมาชิกทั้ง 4 คน ได้แก่ จีซู เจนนี่ โรเซ่ และลิซ่า เป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (29 ธ.ค. 2566) สำนักข่าว Newsis ในเกาหลีใต้ รายงานว่า สมาชิกทั้ง 4 คนตัดสินใจไม่ต่อสัญญาสำหรับกิจกรรมเดี่ยวกับ YG Entertainment อย่างเป็นทางการ ถือเป็นบทสรุปของมหากาพย์การต่อสัญญาของวง BLACKPINK ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566

โดยรายงานข่าวระบุด้วยว่า สมาชิกทั้ง 4 คนมีแผนจัดตั้งบริษัทของตนเอง ซึ่งเจนนี่ได้ก่อตั้งค่ายเพลงที่ชื่อว่า “ODD ATELIER” ในเดือนที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอผลงานและภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ให้กับแฟนคลับ รวมถึงมีเป้าหมายที่จะทำกิจกรรมในวงการแฟชั่นด้วย ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ได้แก่ จีซูจะมุ่งไปที่งานด้านการแสดง ลิซ่าจะเน้นการทำงานในต่างประเทศ และโรเซ่จะโฟกัสที่งานด้านดนตรีเป็นหลัก

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการของทุกฝ่าย รวมถึงยังเป็นสิ่งที่แฟน ๆ K-Pop เรียกกันติดปากว่า “ออกจากค่ายไม่ออกจากวง” ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติที่พบได้ในศิลปิน K-Pop รุ่นที่ 2-3 ที่แม้ว่าจะหมดสัญญากับต้นสังกัดเก่า และเซ็นสัญญากับต้นสังกัดใหม่ เพื่อโฟกัสกับการทำกิจกรรมในฐานะศิลปินเดี่ยวหรือนักแสดงไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถกลับมาทำกิจกรรมในนามวงได้เมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น “Girls’ Generation” เกิร์ลกรุ๊ปเจ้าของเพลงฮิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Gee, Oh!, The Boys, I Got A Boy ฯลฯ ที่เป็นศิลปิน K-Pop กลุ่มแรก ๆ ที่จุดประกายโมเดล “ออกจากค่ายไม่ออกจากวง” ขึ้นมา เนื่องจากในปี 2560 สมาชิก 3 คน ได้แก่ ทิฟฟานี่ ซูยอง และซอฮยอน ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ “เอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (SM Entertainment) ต้นสังกัดเดิม เพื่อมุ่งทำกิจกรรมเดี่ยวตามที่ต้องการ แต่ทั้ง 3 คนจะยังมีสถานะเป็นสมาชิกของวง และยังคงแนะนำตัวด้วยความภาคภูมิใจในฐานะ “โซนยอชิแด” (ชื่อภาษาเกาหลีของวง) เสมอ

จากนั้นในปี 2561 สมาชิกที่ตัดสินใจต่อสัญญากับต้นสังกัดเดิมอย่างแทยอน ซันนี่ ฮโยยอน ยูริ และยุนอา (ปัจจุบัน “ซันนี่” ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับต้นสังกัดเดิมแล้ว) ได้ปล่อยผลงานเพลงภายใต้ยูนิต “Girls’ Generation-Oh!GG”

จนกระทั่งในปี 2565 สมาชิก Girls’ Generation ทั้งหมดได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีของวง และปล่อยอัลบั้มพิเศษที่มีเพลงไตเติ้ลชื่อว่า “FOREVER 1” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองกับเหล่า “โซวอน” (ชื่อแฟนคลับของวง Girls’ Generation) ที่ให้การสนับสนุนสมาชิกทุกคนมาโดยตลอด

girls-generation
Girls’ Generation – FOREVER 1

แน่นอนว่าการกลับมารวมตัวในรอบ 5 ปีของวง Girls’ Generation คือการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าการออกจากค่ายไม่ออกจากวงนั้นเป็นไปได้ และคลายความกังวลในใจของศิลปินหลาย ๆ คนที่ต้องการก้าวต่อไปในเส้นทางใหม่ ๆ แต่ยังคงต้องการรักษาไว้ซึ่งชื่อวงและกลุ่มแฟนคลับอันเป็นที่รัก

ซึ่งในปีเดียวกันก็มี “EXID” และ “KARA” สองเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของวงการ K-Pop ที่ตัดสินใจกลับมารวมตัวเพื่อปล่อยผลงานพิเศษเฉลิมฉลองให้กับขวบปีแห่งการครบรอบเช่นกัน หลังจากที่สมาชิกแต่ละคนแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมเดี่ยวมานานหลายปี

ซานดาร่า พัค (Sandara Park) สมาชิกของวง 2NE1 กล่าวในการสัมภาษณ์กับรายการ Radio Star ของเกาหลีใต้ว่า การกลับมารวมตัวกันและปล่อยอัลบั้มใหม่ของ Girls’ Generation เป็นสิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกว่าไอดอลรุ่นที่ 2 ยังมีตัวตนอยู่ในวงการนี้ และทำให้ความปรารถนาที่วงของตนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งแรงกล้าขึ้นด้วย

ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องผิดที่จะกล่าวว่า การตัดสินใจของวง Girls’ Generation เป็นการสร้างมูฟเมนต์ใหม่ ๆ ให้กับวงการ K-Pop จากที่เมื่อก่อนไม่ได้มีแนวทาง “ออกจากค่ายไม่ออกจากวง” เป็นทางเลือกหลังจากศิลปินหมดสัญญากับต้นสังกัดเดิมให้เห็นมากนัก

อีกหนึ่งกรณีที่เป็นภาพสะท้อนของการออกจากค่ายไม่ออกจากวงได้อย่างชัดเจน คือการกลับมารวมตัวกันของวง “GOT7” ในปี 2565 ด้วยการปล่อยผลงานเพลง “NANANA” หลังจากที่ในปี 2564 สมาชิกทั้ง 7 คนอย่างเจบี มาร์ก จินยอง แจ็กสัน ยองแจ แบมแบม และยูคยอม ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ “เจวายพี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (JYP Entertainment) ต้นสังกัดเดิม และแยกย้ายไปทำกิจกรรมเดี่ยวกับต้นสังกัดใหม่

got7
GOT7 – NANANA

ซึ่งความน่าสนใจในกรณีของวง GOT7 คือการที่สมาชิกทุกคนสามารถใช้ชื่อ “GOT7” ในการทำกิจกรรมของวงต่อได้ แม้ว่าจะไม่มีสมาชิกที่อยู่ภายใต้ต้นสังกัดเดิมก็ตาม นั่นเป็นเพราะความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามมาตรา 8 หรือ Standard Exclusive Contract for Pop Culture Artists (singers-centered) ของคณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลีใต้ (Korea Fair Trade Commission หรือ KFTC) ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2557 ที่ระบุว่า

ตลอดระยะเวลาของสัญญา บริษัทจะถือครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการจดทะเบียน การแก้ไข การใช้ชื่อกลุ่ม ชื่อเกิด ชื่อบนเวที ชื่อเล่น รูปภาพ รูปคน ลายมือ และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของศิลปิน แต่เมื่อสัญญาผูกขาดสิ้นสุด สิทธิทั้งหมดจะต้องถูกโอนไปยังศิลปินแทน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยผ่านรายการ “แบมจิบ” บนยูทูบ (YouTube) ของ “แบมแบม-กันต์พิมุก ภูวกุล” สมาชิกชาวไทยของวง GOT7 ในตอนที่มีแขกรับเชิญเป็น “พัค จิน-ยอง” ผู้ก่อตั้ง JYP Entertainment ว่า JYP อนุญาตให้สมาชิกใช้ชื่อวงจากต้นสังกัดเดิมในการทำกิจกรรมต่อได้ ในขณะที่อีกหลาย ๆ บริษัทเลือกที่จะไม่ให้สมาชิกใช้ชื่อวงเดิม ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่บางต้นสังกัดใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการนำชื่อวงไปจดเป็นกรรมสิทธิ์ใช้ทางการค้าแต่เพียงผู้เดียวในภายหลัง

แม้ว่าการออกจากค่ายไม่ออกจากวงจะยังคงมีความซับซ้อนในแง่ของรายละเอียดและเงื่อนไขในสัญญาอีกมากมาย โดยเฉพาะการตกลงในผลประโยชน์ระหว่างต้นสังกัดเดิมและต้นสังกัดใหม่ เมื่อศิลปินตัดสินใจกลับมารวมตัวเพื่อออกผลงานเฉพาะกิจ และการจัดสรรตารางของกิจกรรมกลุ่มให้สอดคล้องกับกิจกรรมเดี่ยว แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่ศิลปินจะรักษาชื่อวงและกลุ่มแฟนคลับที่เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่วันแรก รวมถึงทิศทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของต้นสังกัดที่เปิดใจให้กับสัญญาในลักษณะนี้มากขึ้น