“ไทยลีก” ฟองสบู่แตก เปิดฐานะการเงินทีมรุ่ง-ร่วง

ไทยลีก

สโมสรค้างค่าเหนื่อยนักเตะเกิดขึ้นอีกครั้งใน “ไทยลีก” กับกรณี “โปลิศ เทโร เอฟซี” ทีมดังระดับตำนาน “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดสถานะการเงินทีมใหญ่ทีมดังของ “บิ๊กเนม” ในไทยลีก ทีมไหนรุ่ง ทีมไหนร่วง และใช่ว่าทีมใหญ่จะทำกำไรได้เสมอไป

เรื่องใหญ่ของ “ไทยลีก” ช่วงนี้คงหนีไม่พ้นความระส่ำของ มังกรโล่เงิน “โปลิศ เทโร เอฟซี” ทีมระดับตำนานที่กำลังพุ่งชนวิกฤตถึงขั้นไม่จ่ายเงินนักเตะร่วม 6 เดือน

หนำซ้ำยังโดนแบนซื้อ-ขายผู้เล่นในตลาดรอบ 2 เดือนมกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากถูกตัดสินให้แพ้กรณีที่ไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับ 2 อดีตนักเตะที่มีการยกเลิกสัญญากันไป มูลค่ารวม 1.2 ล้านบาท แม้จะทยอยจ่ายแล้วแต่ก็ยังไม่ครบจำนวน

“สินทวีชัย หทัยรัตนกุล” นักเตะรุ่นเก๋าของเทโร และนายกสมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย ได้นำนักเตะรุ่นน้องยื่นร้องเรียนต่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ยากลำบาก ยังไม่ได้คุยและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียกับสโมสรนี้

แม้ไม่นานนี้ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 เทโรเพิ่งจะมีการแถลงร่วมทุนกับกลุ่มทุนจากประเทศกัมพูชา นำโดยพระองค์เจ้านโรดม อัมฤทธิวงศ์, สมเด็จพระนโรดม นรินทรพงษ์ และเจ้าชายนโรดม รวิจักร์ ที่จะเข้ามาร่วมกันบริหารสโมสร พร้อมถือหุ้น 49% ภายใต้วงเงิน 200 ล้านบาท และอีก 100 ล้านบาทเพื่อใช้พัฒนาสโมสร แต่เจ้าชายกัมพูชาก็ไม่จ่ายเงินตามนัด

ทั้งนี้ “มาดามอ้อ-นฬาพร ไชยนิน” รองประธานสโมสรฝ่ายหารายได้และสิทธิประโยชน์ของโปลิศ เทโร เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มทุนกัมพูชา ที่ไม่มาตามนัดและยังไม่มีทีท่าจะยุติปัญหาได้ สำหรับฟอร์มการเล่น ตอนนี้โปลิศ เทโร อยู่อันดับ 9 ในตารางคะแนน แข่ง 14 นัด เก็บได้ 19 แต้ม

กรณีเทโรไม่ใช่ครั้งแรกในไทยลีกที่สโมสรค้างค่าเหนื่อยนักเตะซึ่งไปถึงขั้นยุบทีมในที่สุด อาทิ ทีมระดับตำนานอย่าง “ทีโอที เอสซี” ที่ต้องยุบทีมไปเมื่อปี 2559 เมื่อนักฟุตบอลยื่นหนังสือร้องเรียนเพราะไม่ได้รับเงินเดือน สุดท้ายสปอนเซอร์ก็ถอนตัวในที่สุด และ “บีบีซียู เอฟซี” เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมทีมในลีกรองอีกหลายทีม ที่สถานะน่าเป็นห่วงกว่าทีมในลีกสูงสุดเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่าสโมสรในไทยลีกอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์และท่อน้ำเลี้ยงจากเจ้าของทีมเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับว่าใครมีคอนเน็กชั่นและทุนหนาขนาดไหน แต่ก่อนอาจจะมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดด้วย แต่ปัจจุบันก็อย่างที่ทราบกันดี จากหลักพันล้านบาทลดฮวบเหลือ 50 ล้านบาท จนทั้ง 16 ทีมต้องไปจัดการกันเอง

ยิ่งค่าบัตรผ่านประตูไม่ต้องพูดถึง ไม่ใช่ทุกสโมสรที่จะมีคนเข้าชมจนแน่น หากไม่ใช่บิ๊กแมตช์หรือเป็นทีมดัง ที่โดดเด่นด้านนี้ เห็นจะเป็นปราสาทสายฟ้า “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” นัดแรกในบ้านของฤดูกาลนี้นัดเดียวที่สนาม “ช้าง อารีน่า” แฟนบอลเข้าชมเกมที่สนามถึง 16,606 คน โกยรายได้บัตรผ่านประตู 616,990 บาท และค่าสินค้าที่ระลึก 12,214,183 บาท รวม 12,831,173 บาท มากกว่ากำไรของบางทีมตลอดทั้งฤดูกาล

ทีมใหญ่ใช่ว่าจะกำไร

บรรดาทีมใหญ่ในไทยลีกของ “บิ๊กเนม” ส่วนมากทำกำไรได้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ของ “เนวิน ชิดชอบ” ดีกรีแชมป์ไทยลีก 8 สมัย และบอลถ้วยอีกหลายรายการ ฟันกำไรไปถึง 48,683,204 บาท จากรายได้รวม 512,996,059 บาท

“บีจี ปทุม ยูไนเต็ด” ของ “ปวิณ ภิรมย์ภักดี” 1 ทีมที่มีความพร้อมมากที่สุดในไทยลีก ทั้งนักเตะดาวดัง และส่วนสนับสนุนที่ครบครัน ปี 2565 สามารถทำรายได้รวม 376,905,937 บาท กำไร 4,512,863 บาท

ฉลามชล “ชลบุรี เอฟซี” โดย “วิทยา คุณปลื้ม” และ “อรรณพ สิงห์โตทอง” ปีล่าสุดพลิกทำกำไร 4,949,564 บาท รายได้รวม 131,033,493.87 บาท จากที่ขาดทุนติดต่อกัน 3 ปีก่อนหน้า แต่ตอนนี้ฟอร์มย่ำแย่ ไม่ชนะ 5 นัดติด อยู่รองบ๊วยตาราง มี 10 คะแนน

ส่วน “เชียงราย ยูไนเต็ด” ของประธานฮั่น “มิตติ ติยะไพรัช” บ้านใหญ่เชียงราย ปีล่าสุดกำไร 14,053,584 บาท จากรายได้ 103,464,077 บาท พลิกกลับมาจากขาดทุน 2 ปีก่อนหน้าเช่นกัน

แต่ทีมใหญ่ก็ใช่ว่าจะกำไร หากแต่ความแข็งแกร่งจากเจ้าของก็เป็นส่วนสำคัญที่หนุนให้ทีมยังอยู่ได้ ที่น่าแปลกใจไม่น้อย คือ สิงห์เจ้าท่า “การท่าเรือ เอฟซี” ของ “มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ” ที่ปีล่าสุดมีรายได้รวม 266,609,751 บาท แต่ขาดทุน 48,258,678 บาท

อีกทีมที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย คือ “เมืองทอง ยูไนเต็ด” แชมป์ไทยลีก 4 สมัย โดย “วิลักษณ์ โหลทอง” ประธานสโมสร ขาดทุนไปถึง 56,557,354 บาท จากรายได้รวม 180,783,946 บาท

ที่เป็นทีมใหญ่และขาดทุนมากที่สุด คือ “ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด” ประธานสโมสร “ขจร เจียรวนนท์” ที่ขาดทุน 100-200 ล้านบาทติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2561 โดยปี 2565 มีรายได้รวม 123,545,331 บาท แต่ขาดทุนไปถึง 322,869,805 บาท น่าคิดว่าถ้าปราศจากเงินทุนจากเจ้าของ ทีมจะเป็นอย่างไร

น้องใหม่น่าจับตา

มาดูรายได้น้องใหม่ฤดูกาลนี้กันบ้าง ทีมเสือป่าราชา “นครปฐม ยูไนเต็ด” ของ “พาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์” ทายาท “ไชยา สะสมทรัพย์” ตำนานบ้านใหญ่นครปฐม ปี 2565 ทำรายได้รวม 28,351,314 บาท กำไร 349,194 บาท

“ตราด เอฟซี” ประธานสโมสร “ชูชีพ เลี้ยงถนอม” และ “วิเชียร ทรัพย์เจริญ” ประธานที่ปรึกษา ทำรายได้รวม 5,250,003 บาท ขาดทุนไปถึง 8,732,103 บาท ฟอร์มตอนนี้อยู่อันดับ 13 ของตารางคะแนน แข่ง 14 นัด ชนะ 4 เสมอ 4 แพ้ไป 6 นัด

อีกทีมน้องใหม่ที่เลื่อนชั้นขึ้นมาและถูกให้ความสนใจไม่น้อย คือ ช้างป่าห้วยขาแข้ง “อุทัยธานี เอฟซี” มีประธานสโมสรเป็นถึงรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย อย่าง “ชาดา ไทยเศรษฐ์” และ “เบนซ์-ธนาชัย ปั้นงาม” ทายาทเศรษฐีเมืองอุทัย เรื่องคอนเน็กชั่น ท่อน้ำเลี้ยง และสปอนเซอร์จึงไม่น่าห่วง ฟอร์มตอนนี้รั้งอันดับ 8 ของตารางคะแนน