ไขทุกมิติ “โกลเด้น บอย” โบราณวัตถุที่ร้อนแรงสุดในเวลานี้

โกลเด้น บอย
เรื่อง: ธนกฤต ก้องเวหา และ ปดิวลดา บวรศักดิ์
ภาพ: ปานตะวัน รัฐสีมา

แม้ “โกลเด้น บอย” ยังไม่หวนคืนกลับไทย แต่วัตถุล้ำค่าชิ้นนี้ดูจะทำให้วงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีคึกคักไม่น้อย ชวนไขทุกมิติและรู้จัก โกลเด้น บอย ให้มากขึ้น กับสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา Golden Boy เทพแห่งที่ราบสูง ?”

เดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับข่าวดีคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมโทรโพลิแทน (The Metropolitan Museum of Art) หรือ “เดอะ เม็ต” ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศส่งคืนโบราณวัตถุอายุนับพันปีจำนวน 2 รายการให้แก่ไทย ประกอบด้วย “โกลเด้น บอย” (Golden Boy) ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองทั้งองค์ และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ

แม้โกลเด้น บอย จะยังไม่หวนคืนถิ่นค้นพบ เพราะกว่าเดอะเม็ตจะส่งคืนไทยก็เดือนพฤษภาคม 2567 แต่กระแสโบราณวัตถุล้ำค่าชิ้นนี้ก็คึกคักในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเติมเต็มเรื่องราวของราชวงศ์มหิธรปุระ ที่ปกครองอาณาจักรเขมรโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยมีพื้นเพอยู่ที่แถบต้นแม่น้ำมูล

“ศิลปวัฒนธรรม” ผู้นำคอนเทนต์ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม ในเครือมติชน จึงจัด สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานคับคั่ง

งานนี้มี 2 นักวิชาการชั้นนำ อย่าง “ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์” นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย “ตัวจริง” ที่รู้ลึกเรื่องโบราณวัตถุของไทยเป็นอย่างดี

และ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดี มาร่วมพูดคุยอย่างออกรส ไขปริศนา-ขุดลึกหาคำตอบแบบไม่มีกั๊ก โดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินรายการ ซักถามสรุปประเด็นได้อย่างน่าสนใจ

โกลเด้น บอย 1 ล้านบาท

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เดอะ เม็ต ขึ้นป้ายอธิบายโบราณวัตถุชิ้นนี้ว่า เป็น “พระศิวะ” จากนครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา กระทั่งต่อมาหลักฐานต่าง ๆ ชี้ชัดว่า แท้จริงแล้วพบที่บ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย

เดอะ เม็ต เขียนว่า โกลเด้น บอย เป็นพระศิวะยืน อังกอร์ (นครวัด) เสียมเรียบ จึงไม่เคยสงสัยกันว่าเป็นของไทยมาก่อน กระทั่งเราพบว่ามีเอกสารของดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำโกลเด้น บอย ออกนอกประเทศ ที่ระบุว่า มีประติมากรรมสำคัญพบในประเทศไทย เป็นแบบบาปวน กะไหล่ทอง อยู่ที่ เมโทรโพลิแทน

ในอ้างอิงของเอกสารนี้บอกว่า เจอที่บ้านยาง อ.ละหาน และยังมีส่วนฐานหินปรากฏให้เห็นอยู่ ไม่ได้อยู่ในกัมพูชา แปลว่าต้องเป็นของประเทศไทยแน่ ดร.ทนงศักดิ์เล่า

ดร.ทนงศักดิ์ติดตามหาฐานประติมากรรมโกลเด้น บอย ด้วยการค้นคว้าจากหลักฐานมากมาย โดยเฉพาะหนังสืออ้างอิงบันทึกการค้าขายของดักลาส แลตช์ฟอร์ด ทำให้ติดตามจนได้ไปพบปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา เพราะในเอกสารระบุชัดทั้งที่ตั้ง แหล่งที่พบ ราคาซื้อขาย เรียกได้ว่ามีข้อมูลเกือบทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตาม และเป็นหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อการส่งคืนโบราณวัตถุชิ้นนี้

ที่บ้านยางโป่งสะเดา ดร.ทนงศักดิ์พบร่องรอยฐานซากปราสาท รวมถึงร่องรอยฐานหินที่เชื่อว่าเคยเป็นฐานของประติมากรรมมาก่อน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เซนติเมตร ทั้งยังได้พูดคุยสอบถามชาวบ้านที่รู้เรื่องการซื้อขายโกลเด้น บอย อีกด้วย

“คุณเสถียรเป็นบุคคลสำคัญ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด เข้ามาติดต่อขอซื้อกับพ่อของคนนี้ เพราะพ่อเขาให้เช่าบ้านเป็นสำนักงานซื้อขายโบราณวัตถุจากประโคนชัยทั้งหมด การซื้อขายโกลเด้น บอย เมื่อปี 2518 เป็นเรื่องฮือฮาอย่างมาก แล้วก็ขายออกเมื่อขุดพบแค่คืนเดียว ในราคา 1 ล้านบาท มีมหรสพเฉลิมฉลองในหมู่บ้านกันอย่างยิ่งใหญ่”

ส่วนเรื่องโกลเด้น บอย เป็นพระศิวะหรือไม่ ดร.ทนงศักดิ์ บอกว่า ไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ บ่งบอกว่าเป็นพระศิวะเลย และไม่น่าใช่เทพทวารบาลด้วย แต่น่าจะเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มากกว่า

อ้างอิงจากจารึกจำนวนหนึ่งที่เอ่ยถึงพระองค์ เช่น จารึก K384 ที่กล่าวถึงบรรพบุรุษของพระองค์ว่า อยู่ที่ “กษิตินทราคราม” (บ้างสะกด กษิตินทราคาม) ซึ่งนักวิชาการค้นหามานานแล้วว่าอยู่ที่ไหนหากโกลเด้น บอย คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็เป็นไปได้ว่า ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา คือกษิตินทราคราม

โกลเด้น บอย คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

ด้าน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ก็เห็นพ้องกับ ดร.ทนงศักดิ์ ว่า โกลเด้น บอย คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 3 ประการ ดังนี้

1. ”รูปแบบที่ตั้ง” เพราะจุดค้นพบโกลเด้น บอย คือปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา สันนิษฐานว่าพื้นที่แถบนี้เป็นศูนย์กลางอำนาจของ “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นต้นราชวงศ์ ทั้งยังปรากฏประติมากรรมมากมายในกลุ่มประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย ที่ได้รับอิทธิพลแบบพุทธมหายาน

2. “รูปแบบศาสนา” บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลพุทธมหายานอย่างมาก มีมาก่อนโกลเด้น บอย และราชวงศ์มหิธรปุระด้วยซ้ำ

ศิริพจน์ยกบันทึกของ “ปุณโยทยะ” ภิกษุจากอินเดีย ซึ่งบันทึกนี้อยู่ในช่วงเดียวกับพระถังซัมจั๋ง ปุณโยทยะได้นำนิกายโยคาจารไปสู่เมืองจีน แต่หยุดพักที่เจนละบกหรือปัจจุบันคืออีสานใต้ และถ่ายทอดนิกายโยคาจาร

แต่เมื่อไปถึงจีนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ จึงมายังเจนละบกอีกครั้ง และพบว่า นิกายโยคาจารได้รับความนิยมอย่างมาก

คนที่รับพุทธศาสนานิกายโยคาจารน่าจะเป็นกลุ่มนักเรียนสงฆ์ในวิทยาลัย เพราะที่ศรีเทพปรากฏ “เขาคลังใน” ที่นักวิชาการคาดว่าอาจเป็นวิทยาลัยสงฆ์ เหมือนกับมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย

เป็นอีกหนึ่งหลักฐานด้านศาสนา ที่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า โกลเด้น บอย คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจราชวงศ์มหิธรปุระเต็มไปด้วยความเลื่อมใสในพุทธมหายาน เชื่อมโยงกับประติมากรรมแบบประโคนชัย ที่แสดงให้เห็นถึงนิกายดังกล่าว

3. ที่บอกได้ว่า โกลเด้น บอย เป็นรูปแทนกษัตริย์แห่งลุ่มแม่น้ำมูล คือ เทคโนโลยีและรูปแบบการผลิต เพราะเมื่อเทียบกับประติมากรรมชิ้นอื่น ๆ ในกลุ่มประโคนชัยที่พบใกล้เคียงกัน จะเห็นว่ามีการหล่อด้วยเทคนิคแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นแบบพิเศษเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โกลเด้น บอย

สังคมไทยได้อะไรจากโกลเด้น บอย”

ในมุมของ ดร.ทนงศักดิ์ เห็นว่า โกลเด้น บอย เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของไทยกับกัมพูชาได้ค่อนข้างดีมาก เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า วัฒนธรรมเขมรในอดีตมีพัฒนาการทางสังคมอย่างไร เช่น เกิดในที่ราบสูงโคราช ก่อนแผ่ลงไปทางที่ลุ่มโตนเลสาบ

“เรามักถูกสอนว่า วัฒนธรรมเขมรแผ่จากข้างล่างขึ้นมาข้างบนเสมอ เราไม่เคยนึกเลยว่า ครั้งหนึ่งความยิ่งใหญ่ของตัววัฒนธรรมจะเกิดขึ้นบนที่ราบสูงแล้วแผ่ลงข้างล่าง ซึ่งโกลเด้น บอย และปราสาทหินพิมาย เป็นตัวยืนยันที่ดีมาก”

ขณะที่ศิริพจน์เห็นว่า สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับการผลิตชุดความรู้ และต่อยอดไปสู่มิติเศรษฐกิจ

“เวลาที่เราได้โบราณวัตถุ ไม่ใช่แค่การจัดแสดงอย่างเดียว สิ่งสำคัญกว่าคือการผลิตชุดความรู้และเผยแพร่ออกไป อาจพ่วงเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา ในเมื่อโกลเด้น บอย มาจากบ้านยาง ก็ควรผลิตคอนเทนต์และหาวิธีจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับชุมชนรอบ ๆ”

นับเป็นอีกกิจกรรมเสวนาคุณภาพจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ที่เปิดมุมมองและมิติใหม่เกี่ยวกับ “โกลเด้น บอย” โบราณวัตถุที่ไทยกำลังจะได้คืนจากสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคมนี้ ได้ดียิ่งขึ้น

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

นิตยสาร-พอดแคสต์ แบบเต็มอิ่ม

ไม่เพียงสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” ที่ “ศิลปวัฒนธรรม” จัดขึ้นเพื่อเปิดแง่มุมใหม่ ๆ เกี่ยวกับโบราณวัตถุระดับทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ชิ้นนี้เท่านั้น

ยังมี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2567 ที่มาพร้อมเรื่องเด่น “โกลเด้น บอย” จาก 2 นักวิชาการเบอร์ต้น อย่าง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ รับประกันเนื้อหาสุดเข้มข้น เปิดพรีออร์เดอร์แล้ววันนี้ ! ติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กเพจ : Silpawattanatham-ศิลปวัฒนธรรม

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

และพลาดไม่ได้ ! กับ SILPA PODCAST “Golden Boy” ระดมกูรูวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดี มาเสิร์ฟประเด็นเด็ด ๆ จัดเต็ม 4 EP. ได้ทั้งเกร็ดความรู้และความเพลิดเพลิน ที่นี่ที่เดียว

พบ 4 นักวิชาการชั้นนำ ทั้ง รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ เริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ติดตามได้ทางยูทูบ : Silpawattanatham-ศิลปวัฒนธรรม

เสริมทัพด้วยทัวร์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ โดยศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) “GOLDEN BOY ตามรอย ‘มหิธรปุระ’ จ.นครราชสีมา-บุรีรัมย์ นำชมโดย ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ วันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2567 (3 วัน 2 คืน) ราคา 12,000 บาท/ท่าน

สอบถามเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่ง โทร. 09-2246-4140, 09-5246-9572 หรือติดตามรายละเอียดที่เฟซบุ๊กเพจ : Matichon Information Center