ทำบุญอยู่ที่ “ใจ” ทำที่ไหนก็ได้บุญ รูปแบบที่เปลี่ยนไปสะท้อนวิถีชีวิตผู้คน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ “วันออกพรรษา” อยู่ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีตามปฏิทินไทย การออกพรรษาถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่า ปวารณา (แปลว่า อนุญาต หรือยอมให้) ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติคือ

ให้โอกาสแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดระยะเวลา 3 เดือน สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาคด้วยจิตที่ดีต่อกัน เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือนได้มีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น

เมื่อถึงวันออกพรรษาพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญบุญกุศลแก่พระภิกษุสงฆ์ ที่ตั้งใจจำพรรษาเพื่อปฏิบัติธรรมตลอดจนครบระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งการบำเพ็ญบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีคือ

1.ตักบาตรเทโวหรือตักบาตรเทโวโรหณะ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือหลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน ประเพณีการตักบาตรเทโวในสมัยพุทธกาลนั้นกล่าวคือ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา 1 พรรษา

และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสนคร การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในครั้งนั้น บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน

สำหรับของที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาใส่บาตรอาจแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น โดยบางแห่งอาจนิยมทำข้าวต้มลูกโยน ที่ทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบมะพร้าว ไว้หางยาวเพื่อสะดวกในการโยนใส่บาตร นอกจากประเพณีการตักบาตรเทโวแล้ว ยังมีพิธีทอดกฐิน พิธีทอดผ้าป่า และประเพณีการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมทำกันในวันออกพรรษาด้วย

2.ทอดกฐิน ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐาซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองสาวัตถี

แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์ พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 30 รูปล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์ และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เฝ้าพระบรมศาสดา

เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ทั้ง 30 รูปได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาตามความตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงเรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์แล้วตรัสอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินได้

3.ทอดผ้าป่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรับจีวรจากชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงต้องเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ หรือผ้าที่ห่อศพ

เมื่อรวบรวมผ้าเหล่านั้นพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาทำความสะอาด ตัดเย็บและย้อมเพื่อทำเป็นจีวร สบง การทำจีวรของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลกล่าวได้ว่าค่อนข้างยุ่งยาก ครั้นชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์จึงนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรงจึงต้องนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่าง ๆ

เช่น ตามป่าช้าหรือข้างทางเดิน เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพบก็นำเอามาทำเป็นสบง จีวร จึงเป็นที่มาของพิธีการทอดผ้า สำหรับในประเทศไทยพิธีทอดผ้าป่าได้รื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยทรงมีพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระพุทธศาสนาไว้

4.เทศน์มหาชาติ ถือเป็นการทำบุญที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวทั้ง 13 กัณฑ์แล้วจะได้บุญกุศลแรง

ประเพณีการเทศน์มหาชาติจะทำในช่วงหลังออกพรรษาและหลังกฐิน ซึ่งก่อนที่จะมีการเทศน์มหาชาติจะต้องแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้า เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีเวลาเตรียมของไปทำบุญ ในวันเทศน์มหาชาติเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์เทศน์จะนำเครื่องกัณฑ์เทศน์ใส่กระจาด ซึ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วย ขนมต่าง ๆ เช่น ขนมกรอบ ขนมกง ขนมกรุย ข้าวเม่ากวน

นอกจากนี้ ยังมีอาหารแห้งอีกด้วย อาทิ ข้าวสาร น้ำปลา ผลไม้ และยังมีเครื่องกัณฑ์อื่น ๆ อีก เช่น ผ้าไตร บาตร ย่าม เครื่องบริขาร ทั้งนี้ จะต้องเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน และเงินถวายบูชากัณฑ์เทศน์ด้วย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปรูปแบบการทำบุญต่างมีพัฒนาการสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปข้างหน้า รวมถึงในยุคที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน

ไม่เว้นแม้กระทั่ง “การทำบุญ” ที่เปลี่ยนไปสู่ทำบุญออนไลน์ สอดรับกับกระแสไร้เงินสด (cashless society), สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ส่งไปใส่บาตรและเปิดวิดีโอคอลรับพร, การฟังเทศน์ฟังธรรมผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง หรือการโอนเงินทำบุญผ่านช่องทางต่าง ๆ

แน่นอนว่ารูปแบบที่เปลี่ยนไป คำถามที่เกิดขึ้นของผู้มีจิตศรัทธาในการทำบุญ อาจจะมีคำถามว่า “ทำบุญออนไลน์” จะได้บุญหรือไม่ แตกต่างอย่างไรกับการไปทำบุญด้วยตัวเอง ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ รวบรวมคำตอบของคำถามนี้สำหรับผู้ใจบุญยุคใหม่

การทำบุญที่ได้บุญมากมี 3 องค์ประกอบ

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ) เทศนาธรรมให้ความรู้ว่า การทำบุญที่ได้บุญมากมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ 1.วัตถุที่เราทำบุญได้มาซึ่งสุจริต 2.เจตนาบริสุทธิ์ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มีความศรัทธาเต็มเปี่ยม 3.ผู้รับเป็นผู้มีศีลมากเพียงใด

ดังนั้น หากเงื่อนไข 3 ข้อนี้เท่ากันก็จะได้บุญเท่ากัน โดยทั่วไปแล้วการไปถวายหรือทำบุญที่วัดนั้นมีความปลื้มปีติ ยิ่งปลื้มคือเจตนา ความศรัทธาเลื่อมใสเพิ่มบุญก็จะมากตามส่วน จากความพยายาม เช่น การขับรถไปวัด การหาซื้อสิ่งของไปทำบุญ ทำให้เกิดความตั้งใจ บุญก็เพิ่มตาม

แต่ปัจจุบันการมีเทคโนโลยีทำให้คนทำบุญทำกุศลได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะบางทีเราอยากไปวัดเราทำยังไม่ได้แต่จิตใจเราอยากทำตอนนี้ก็ทำออนไลน์ไปเลย แต่หากเมื่อมีเวลาวันไหนว่างก็สามารถไปทำที่วัดได้

“การไปถวายที่วัดคือได้ถวายกับมือ ได้ปลื้ม ศรัทธาเพิ่ม ความตั้งใจเพิ่ม บุญก็เพิ่มตามส่วน ไม่มีเวลาก็ทำออนไลน์ แต่หาโอกาสได้ก็ไปทำบุญที่วัด”

การทำบุญไม่ได้อยู่ที่ “รูปแบบ” แต่อยู่ที่ “เจตนา”

พระมหาไพรวัลย์ วรวณุโณ แห่งวัดสร้อยทองให้ความเห็นว่า ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า การทำบุญให้ทานจะได้รับกุศลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความตั้งใจ เจตนา และความพร้อม ดังนั้น การจะได้บุญหรือไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่เจตนา แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความบริสุทธิ์ของจิตทั้งก่อน ระหว่าง และหลังทำบุญ

ถ้าเราเข้าใจว่าการทำบุญเป็นเรื่องของการซื้อขายไปแล้ว สักแต่ว่าทำให้มันสำเร็จไป นั่นก็อาจจะไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการทำบุญให้ทาน หลายต่อหลายคนคิดว่ามีเงินทองแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ เช่น ปัจจุบันนี้ใช้วิธีโอนเงินก็คงได้แต่บุญมันน้อย

แต่ถ้าเราใช้ความพร้อมในทางอื่น เช่น ทางกายและทางใจ ตั้งใจอย่างเต็มที่ สิ่งของที่ทำบุญทำทานไม่จำเป็นต้องแพงเลย เพราะราคาของที่ให้ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าจะได้บุญมากหรือน้อย บุญนับกันที่ว่าปัจจัยการทำบุญ “ประณีตหรือไม่ประณีต”

“รูปแบบการทำบุญที่เปลี่ยนไปไม่เป็นการทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย แต่เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปบ้างก็สั่งอาหารดีลิเวอรี่มาถวายพระ เสร็จแล้ววิดีโอคอลให้พร ซึ่งนั่นก็เป็นบททดสอบสังคม”

ทำบุญออนไลน์มีมายาวนานก่อนมี “อินทอร์เน็ต” เสียอีก

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ระบุว่า การทำบุญสามารถทำได้ทุกรูปแบบ สิ่งสำคัญคือเงินที่นำมาทำบุญต้องเป็นเงินสุจริต ไม่เดือดร้อนใคร และใจเป็นกุศล ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะทำบุญรูปแบบใดก็ตาม หากทำบุญด้วยใจ ท้ายที่สุดก็ได้บุญเช่นกัน

“การทำบุญออนไลน์มันคือของเก่านานมาแล้ว นั่นคือ การฝากไปทำบุญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งแท้จริงแล้วถามว่าฝากไปทำบุญกับไม่ทำบุญเลย การฝากไปทำบุญก็คงย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน”

การทำบุญในโอกาสต่าง ๆ และในช่วงวันออกพรรษา ที่ถือเป็น “งานบุญใหญ่” อีกหนึ่งงานที่ทะนุบำรุงศาสนา แม้โอกาสอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้จัดงานใหญ่โตเหมือนช่วงก่อนยุคโควิด-19 และมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมตามยุคสมัย

ทางเลือกในการทำบุญออนไลน์ หรือการฟังเทศน์ฟังธรรมผ่านออนไลน์ ถือเป็นอีกรูปแบบการทำบุญรูปแบบใหม่อีกรูปแบบหนึ่งของพุทธศาสนิกชนยุคโควิด-19 ที่ได้รับบุญกุศลอีกช่องทางหนึ่ง

เพียงแค่มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังทำบุญ เท่านี้ก็สามารถได้บุญรับพรอย่างปลอดภัยในยุคที่เปลี่ยนไปของปัจจุบัน