ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ดาวเด่นโลกการเงินสายไอที

ดาวเด่นแห่งวงการการเงินอีกหนึ่งคนที่มากความสามารถ นอกจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านงานจากบริษัทระดับโลกแล้ว

ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไอที ปัจจุบัน ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus) บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยนวัตกรรม AI (Artificial Intelligence) เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ นับเป็นแห่งแรกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินและการธนาคารของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลงานที่เห็นเด่นชัดในตอนนี้คือ การปรับปรุงแอปพลิเคชั่น SCB ที่เป็นมากกว่าระบบการเงินออนไลน์แต่มีสิ่งใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้ใช้บริการอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ดร.สุทธาภา ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) และฝ่ายวิเคราะห์ความเสี่ยงของธนาคาร นอกจากนี้ ดร.สุทธาภายังเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร และสถาบันการเงินในตลาดทุน สภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกด้วย

ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.สุทธาภามีบทบาทในวงการการเงินและการธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง และมีประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี ในองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง กระทรวงการคลัง และเป็นผู้ก่อตั้งและดูแลสายงานวิเคราะห์ความเสี่ยง (risk analytics) กลุ่มบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ของไทย

สำหรับแวดวงการศึกษา ดร.สุทธาภาเป็นวิทยากรให้สถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยฮิโตะสึบะชิ ประเทศญี่ปุ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ รวมทั้งยังเขียนคอลัมน์ประจำรายเดือนชื่อว่า “In Ponderland” ให้แก่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ย้อนไปในวัยเรียน ดร.สุทธาภา ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง (King”s Scholarship) จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ การบริหารและนโยบาย สถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ (M.I.T.) ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ (ICho) ครั้งที่ 23 และในปี พ.ศ. 2550 ดร.สุทธาภา ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 21 ผู้นำรุ่นใหม่ที่สถาบันเอเชียโซไซตี้ ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นผู้บริหารที่ลูกน้องรักและให้การนับถืออย่างมาก ด้วยสไตล์การทำงานที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดความเห็นรวมถึงไอเดีย ที่ ดร.สุทธาภาเปิดโอกาสให้แสดงวิสัยทัศน์กันได้เต็มที่ในที่ประชุม

“บางคนอยากเรียนที่เป็นการฝึกตามแบบแผนเท่านั้น หรือว่าเราต้องการที่จะเรียนจากคนที่เก่งกว่าเราเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วตั้งแต่ทำงานมาเรื่อย ๆ พบว่า ยิ่งน้องจบมาใหม่ ๆ เด็กลงเท่าไหร่ยิ่งต้องเรียนจากเขามากขึ้น เพราะว่าเราจะได้เข้าใจภาพทั้งกรอบ การรับฟังต้องมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิต ถือว่าโชคดีมากที่ได้ทำอะไรหลายอย่างที่ท้าทายแล้วก็ผู้ใหญ่ก็ให้โอกาส ฉะนั้นถึงได้รู้ว่ามันไม่มีอะไรที่เราได้มาในชีวิตที่ได้มาเพราะตัวเอง ทุกอย่างเกิดจากการที่มีคนเอื้อช่วยเหลือเรา ไม่ว่าจะทั้งข้างบนช่วยเราในการเปิดโอกาสให้ เพื่อนร่วมงานส่งเสริม รวมทั้งน้อง ๆ ในทีม หรือคนรอบ ๆ ข้างที่ช่วยดันหนุนให้ขึ้นมา ฉะนั้นทีมเป็นสิ่งที่สำคัญ”

ด้วยดีกรีความสามารถที่กวาดประสบการณ์มามากมาย ดร.สุทธาภามีมุมมองการทำงานที่เปิดกว้างทำให้การพัฒนาไม่หยุดยั้ง และที่สำคัญเธอไม่ได้มองว่าการเป็นหญิงหรือชายจะเป็นอุปสรรคในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำแต่อย่างใด

“สำคัญที่สุดคือ หลักการในชีวิตนี้ เรามองว่าหน้าที่ของเราในลีดเดอร์เป็นผู้บริหารนี้ คือ สร้างตน สร้างคน สร้างทีม สร้างสังคม สร้างชาติ สร้างสถาบัน และให้สถาบันไปสร้างชาติ”

ดร.สุทธาภามองว่า บทบาทของผู้หญิงไทยในสังคมไทยจริง ๆ แล้ว ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ สังคม ไม่ว่าจะเรื่องของบาลานซ์ ในเรื่องของการทำงาน ภาระที่อยู่ที่บ้าน แน่นอนที่สุดด้วยข้อจำกัดทางชีววิทยาหรืออะไรต่าง ๆ การดูแลครอบครัว การเลี้ยงดูลูก มักจะทำให้ภาระเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าอย่างแน่นอน แต่จริง ๆ ที่ถ้ามองไปแล้วเทียบกับสังคมอื่น ๆ สังคมไทยค่อนข้างให้เกียรติผู้หญิงมาก โดยส่วนตัวเป็นคนที่ทำงานมาตลอดทั้งคุณพ่อ และคุณแม่ก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงต้องทำงาน ฉะนั้นก็ถือว่าตัวเองก็ค่อนข้างโชคดีที่มีซัพพอร์ตซิสเต็มที่สามารถสนับสนุนให้สามารถทำได้ทั้งสองด้าน แน่นอนที่สุด ผู้ชายเองก็จำเป็นที่จะต้องดูแลครอบครัวเหมือนกัน หมายถึงต้องดูแลลูก ดูแลอะไรอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งเธอเองก็ต้องดูแลลูกสาวและลูกชายทั้ง 2 คน

“จริง ๆ ผู้หญิงไทยเราเก่งมานานแล้ว ในอดีตผู้หญิงไทยเป็นคนที่ทำงานเก็บเงิน ฉะนั้นจะคิดเลขเก่งมาก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา

ขณะที่ผู้ชายไปรับราชการ ผู้ชายจะเขียนหนังสือเก่ง ขณะที่ผู้หญิงต้องคิดเลขทั้งวันเพื่อจัดสรรงบประมาณในบ้าน ทั้งค่าใช้จ่าย การจ้างงาน จึงไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัวผู้หญิงไทย อีกอย่างรู้สึกว่าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่มีผู้บริหารกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้หญิงมาแล้ว 2 ท่าน ตั้งแต่ท่านผู้หญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้หญิงคนแรกในโลกการเงินที่เต็มไปด้วยผู้ชาย ฉะนั้นในแง่หนึ่งก็เป็นองค์กรที่สนับสนุนในการที่ผู้หญิงทำงานและบาลานซ์ มีชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้านที่สมดุล คนที่ 2 ก็คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ซึ่งท่านมีวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงทำงาน และท่านเองก็จะพูดเสมอว่า ครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ มองในเรื่องที่ว่า ถ้าสมมุติลาเพื่อดูแลครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่หรือลูกท่านก็จะสนับสนุนจริง ๆ อย่างในต่างประเทศก็จะพบว่าผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่มีผู้หญิงกับผู้ชายใกล้เคียงกัน จะมีการเติบโตของบริษัทที่มีเสถียรภาพมากกว่า โดยเฉพาะด้านบริหารการเงินจะมีความสมดุลมากกว่า คือจะเห็นได้ว่ามีความยืนยาวมากกว่า”

ในส่วนของเรื่องเทคโนโลยี ผู้บริหารเอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus) เชื่อว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนเรามองถึงไฟฟ้าเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ภายในเวลาอันรวดเร็วมันก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ทุกวันนี้เรามองไปรอบตัวเราไม่ได้นึกถึงว่ามันมีไฟฟ้า เราแค่คิดว่าต้องมีอยู่แล้วโดยเฉพาะสังคมเมือง

“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็น มันไม่ได้จำเป็นในตัวเนื้อหาในวิชาของมันเอง มันจำเป็นในเรื่องของการสร้างตรรกะ โลจิก และการตั้งคำถาม มันทำให้เราตั้งคำถามนั้นเองและตอบคำถามนั้นเอง หาวิธีที่จะตอบคำถาม ตอบไม่ถูกก็จะถอยมาแล้วจะตอบบทใหม่ได้ เพราะว่านั้นคือวิธีการทำงานทางธุรกิจ หรือในการทำงานในชีวิตประจำวันคือ เราต้องเป็นคนที่ตั้งโจทย์ได้ เมื่อไหร่ที่เราตั้งโจทย์ไม่ได้เราไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำได้ เราจะเป็นคนที่คอยรับโจทย์คนอื่นอยู่เสมอ ฉะนั้นการตั้งคำถามสำคัญ”

ดูจากสายงานและสายการเรียนของ ดร.สุทธาภา ล้วนเป็นสายเคร่งเครียดและสายวิชาการ แต่ในยามว่างสิ่งที่เธออ่านคือ หนังสืออัตชีวประวัติของบุคคลในทุกสาขาอาชีพ เพื่อดูวิธีคิด การใช้ชีวิตของคนนั้น ๆ คือสิ่งที่ทำมาตลอด และต้องอ่านให้ได้เดือนละ 2 เล่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้มากกว่านี้

“ช่วงหลัง ๆ ทำได้แค่นี้ อ่านหนังสือได้เดือนละ 2 เล่ม ช่วงหลังก็สมองฝ่อไปก็ทำได้แค่นี้ค่ะ (หัวเราะ) แต่ว่าสำคัญที่สุดคือว่า เริ่มเรียนรู้จากคนรอบข้าง บางทีเราอ่านหนังสือเราจะถูกตีกรอบความคิดไปตามนักเขียนหรือไปตามคนเขียน เราต้องตั้งคำถามก่อนจะเชื่อ”

จริง ๆ แล้ว ดร.สุทธาภาเป็นนักอ่านตัวยงที่อ่านแทบทุกอย่าง ทั้งนิยาย หนังสือเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ ไบโอกราฟี่ เขาเรียกตัวเองว่า

“เป็นคนที่ชอบอ่านผสมกัน ระหว่างฟิกชั่นกับน็อนฟิกชั่น”

การพัฒนาตัวเองด้วยการเปิดกว้างรับฟังและรับรู้ในทุกด้าน ทำให้ ดร.สุทธาภาเป็นหนึ่งในผู้บริหารสายการเงินที่เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นศาสตร์และศิลป์ที่หาคนเข้าใจได้ไม่ง่าย