ดัน 33 พื้นที่ “เมืองสร้างสรรค์” Soft Power ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น

ชาคริต พิชญางกูร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“soft power” เป็นเทรนด์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้รับมอบโจทย์ให้มุ่งส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนด้านความคิด ผู้ประกอบการ ชุมชน และพื้นที่ ให้เป็น “เมืองสร้างสรรค์” ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นดันเป็น “soft power” แต่ละปีได้งบประมาณ 10 ล้านบาท สร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการ CEA ถึงการปั้น “เมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก”

สร้างแบรนด์ระดับจังหวัด

ประเทศไทยจะยกระดับตนเองขึ้นมาแข่งขันในระดับโลก ไม่ใช่การชูแค่กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ แต่ศักยภาพของแต่ละจังหวัดนั้นย่อมมี “อัตลักษณ์และเรื่องราวของตนเอง” หากถามถึงความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ที่ประเทศไทยต้องพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ขึ้นมา ถือว่าจำเป็นแม้เป็นเรื่องยากเพราะการที่จะทำให้ย่านนี้จังหวัดนี้พัฒนาศักยภาพ

เราต้องรู้ว่าอะไรคือ DNA ของพื้นที่เหล่านั้น อะไรคือตัวตนของที่แห่งนี้ แน่นอนว่ามันคือการสร้างแบรนด์ระดับจังหวัด โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ต้นทุนวัฒนธรรม ใช้อัตลักษณ์ของตนเองดึงมันออกมา ยิ่งมีของดี คนดี พื้นที่ดียิ่งดึงดูดทั่วโลกให้เข้ามาเที่ยวและลงทุนได้มหาศาล ได้ทั้ง “คุณค่า และมูลค่า” ไปพร้อมกัน

โรดแมป 3 ปี (2563-2565) แบ่งออก 2 ระดับ โดย “ระดับย่าน” ที่เป็นเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (TCDN) ปี 2565 ต้องทยอยให้ครบ 33 พื้นที่ ใน 33 จังหวัด กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จัดไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 เช่น Bangkok Design Week, สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าสกลนคร และเทศกาลงานสร้างสรรค์ครีเอทีฟนคร

ส่วน “ระดับเมือง” คือผลักดันจังหวัดให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ที่กำลังจะมี 6 จังหวัด เข้าใหม่คือเชียงราย ชูด้านออกแบบ (design), น่าน ด้านหัตถกรรม (crafts & folk art), นครปฐม สุพรรณบุรี ด้านดนตรี (music), แพร่และพัทยา ด้านฟิล์ม (film)

ความหมาย UCCN

UCCN คือ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก คือ แพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนด้านยุทธศาสตร์ในมิติศิลปวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์คน ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ กับเมืองสมาชิกอื่นทั่วโลกเป็นการประชาสัมพันธ์เมือง เพื่อประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว ในระดับสากล

อย่างภูเก็ตเป็นแห่งแรกเป็น UCCN ด้าน gastronomy หรือเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารของยูเนสโก เมื่อปี 2558 ปี 2560 เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรม กรุงเทพฯเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และสุโขทัยคือเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรม ล่าสุดเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร เช่นกัน5 ย่าน ศก.สร้างสรรค์ต้นแบบ

ในกรุงเทพฯ จะมีด้วยกัน 5 ย่าน คือ ย่านเจริญกรุง ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ย่านทองหล่อ-เอกมัย ย่านสามย่าน ย่านพระนคร ส่วนที่เชียงใหม่จะเป็นย่านช้างม่อย ขอนแก่นจะเป็นย่านศรีจันทร์ สงขลาคือย่านเมืองเก่าสงขลา และแพร่คือย่านเจริญเมือง

ในแต่ละย่านนั้นจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก CEA ในการจัดกิจกรรมถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์จุดเด่น กิจกรรมทดลองจากงบประมาณที่ได้ประมาณ 10 ล้านบาท ผลที่ออกมาเกินคาด พื้นที่เหล่านี้พัฒนาไปในเชิงสร้างสรรค์ที่ชุมชนมีรายได้

ในการคัดเลือกแต่ละพื้นที่มี 11 เกณฑ์ เราดูเรื่องของวัฒนธรรม คน พื้นที่บางจังหวัดส่งมาหลายย่าน แต่เราอาจเห็น unseen โอกาสในย่านอื่นจะเสนอกลับไปให้ทุกคนช่วยกันดู เพื่อดึงความเป็น unseen ของย่านนั้นออกมา เมื่อตกผลึกแล้วเมืองสร้างสรรค์จะเริ่มก่อตัวขึ้น ท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่เมืองที่ “น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว น่าลงทุน”

สร้างรายได้จากความคิด

เราเห็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม “สร้างรายได้ให้กับเมืองเพิ่มขึ้นทุกปี” เช่น ที่เซี่ยงไฮ้ รายได้เขาเพิ่มขึ้น 10% เฮลซิงกิ เพิ่มขึ้น 50% และในเมืองกลาสยังเกิดการจ้างเพิ่มถึง 23.4% เบอร์ลินเพิ่มขึ้น 17%

และด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้วัฒนธรรม สร้างแบรนด์จากตัวตนเอง ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ทำให้บาร์เซโลนา ติดอันดับ 6 เมืองที่ดีที่สุดในโลก (Resonance-2019 World’s Best City Brands) นี่คือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตเมืองที่เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจนที่สุด

ดังนั้น คงไม่ต้องถามย้ำว่าไทยเองยังจำเป็นที่ต้องสร้างเมืองสร้างสรรค์หรือไม่ เพราะเรามีความได้เปรียบด้านต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน “15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ด้วย 1.creative original เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง

2.creative content/media เช่น ภาพยนตร์ การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชั่น) 3.creative services เช่น การโฆษณา การออกแบบ 4.creative products เช่น แฟชั่น อาหารไทย แพทย์แผนไทย และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม