ครม.ไฟเขียว อัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ พ่วง 3 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 7 ระดับ 7 กลุ่มจังหวัด โดยมีอัตราค่าจ้างต่ำสุด 308 บาท และสูงสุด 330 บาท ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นอกจากนี้ยังเห็นชอบ 3 มาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่

1.มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 1.15 เท่า ของค่าจ้างรายวันที่จ่ายแก่ลูกจ้าง สำหรับค่าจ้างที่จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2561

โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1.บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 2.อัตราค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้กับลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2561 ต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนได้กำหนดประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 และ 3.ต้องไม่เป็นรายจ่ายค่าจ้างที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี จำนวน 5,400 ล้านบาท

2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2563 จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและให้คำปรึกษา โดยกลุ่มเป้าหมายตลอดระยะเวลาโครงการมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 50,000 กิจการ และบุคลากรในภาคธุรกิจ SMEs ได้รับการถ่ายทอดความรู้ 250,000 คน

3.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงการนำระบบด้านดิจิทัลมาใช้ในกิจการเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ระยะเวลา 3 ปี สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับปรุง และ 2.การปรับปรุงมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เพื่อขยายให้ครอบคลุมถึงการอบรมบุคลากรให้มีทักษะเฉพาะทางสูงขึ้น โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม ร้อยละ 200 ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 7 ระดับ 7 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย 1.กลุ่มจังหวัดที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาท/วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง 2.ค่าจ้างขั้นต่ำ 325 บาท/วัน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา 3.ค่าจ้างขั้นต่ำ 320 บาท/วัน 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพังงา

4.ค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาท/วัน 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี 5.ค่าจ้างขั้นต่ำ 315 บาท/วัน 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี และอ่างทอง 6.ค่าจ้างขั้นต่ำ 310 บาท/วัน 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู และสตูล และกลุ่มที่ 7 ค่าจ้างขั้นต่ำ 308 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี