ดวงกมล เจียมบุตร ดึง “OUTLET” ท้องถิ่นขายเครื่องประดับ

สัมภาษณ์

การผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก (ฮับ) ภายใน 3 ปี ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมากสำหรับกระทรวงพาณิชย์ “ดวงกมล เจียมบุตร” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่จะเข้าไปร่วมส่งเสริมฮับในอุตสาหกรรมนี้ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

Q : นโยบายการส่งเสริม “ฮับอัญมณี”

ในอนาคตไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับ (hub) ในอีก 3 ปีข้างหน้า GIT มีบทบาทจะต้องเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดการยกระดับของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการรับรองมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นส่วนต้นน้ำได้มีจัดคอร์สฝึกอบรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ (Gem & Jewelry Training Course) ปีละ 15 คอร์ส เพื่อสอนเทคนิคใหม่ ๆ

ในการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ และเข้าไปช่วยในเรื่องวัตถุดิบ โดยสร้างความร่วมมือกับประเทศแหล่งวัตถุดิบ เช่น แอฟริกา โมซัมบิก ในการสำรวจแหล่งแร่ต่าง ๆ หรือการหาวัตถุดิบทดแทน เช่น พลอยเทียม หรือวัตถุดิบเทียม/วัตถุดิบสังเคราะห์ต่าง ๆ เพราะตลาดอัญมณีไม่ใช่เฉพาะอัญมณีแท้เพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มคอสตูมฯมีความต้องการวัตถุดิบทดแทนเช่นกัน เพียงแต่ต้องเน้นการดีไซน์ให้สวยงามตรงความต้องการของผู้บริโภค

กลางน้ำ GIT เข้าไปช่วยส่งเสริมการเจียระไน ออกแบบ พัฒนาฝีมือ ไปช่วยเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ปรับปรุงคุณภาพ เช่น ก่อนหน้านี้ได้จัดโครงการประกวดออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์มุกเพื่อยกระดับการพัฒนาสินค้ามุกซึ่งเป็นวัตถุดิบอัญมณีในท้องถิ่นภาคใต้ ที่ไทยมีจุดแข็งเพราะมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงในระบบอีโคฟาร์มมิ่ง ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ไทยมีมุกหลากหลาย ทั้งมุกน้ำจืด มุกน้ำเค็ม เปลือกมุก มุกเม็ดเล็กซึ่งไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งหากสามารถนำพวกเปลือกมุก กาบมุก หรือมุกเม็ดเล็กมาดีไซน์เป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงามก็จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะประกาศผลการตัดสินในงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 62 ในเดือนกันยายนนี้ ทางสมาคมได้จัดให้เกาหลีใต้มาช่วยดูด้านส่งเสริมฝึกอบรมด้วย ส่วนปลายน้ำทางสถาบันจะเน้นส่งเสริมการทำตลาด การจัดงานแสดงสินค้าและการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตามนโยบาย รมว.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ต้องการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (hub)

Q : แนวทางการส่งเสริม

ในเดือนมีนาคมนี้เตรียมเปิดตัวโครงการ “Buy With Confidence” สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หลังจาก GIT จัดทำโครงการคัดเลือกและพัฒนาผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีเอกลักษณ์ในแต่ละจังหวัดออกมาประมาณ 15 จังหวัด และเข้าไปช่วยพัฒนาแบบและให้การรับรองมาตรฐาน GIT แล้ว

Q : จุดเริ่มต้นของโครงการเป็นอย่างไร

เมื่อพัฒนาผู้ประกอบการแล้ว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) เห็นว่าควรต้องมีช่องทางจำหน่ายให้เค้า จึงประสานไปที่ร้านค้า outlet ในเครือข่ายของกระทรวงพาณิชย์ ร้านค้าในพื้นที่ให้มีสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางจำหน่าย เอาต์เลตขายอัญมณีจะช่วยดันเศรษฐกิจท้องถิ่น

นำร่องกับเครื่องประดับจาก 4 จังหวัดที่คัดเลือกมา คือ เครื่องประดับจากเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา, เครื่องเงิน จ.เชียงใหม่, เครื่องทอง จ.สุโขทัย และเครื่องทองจากจ.เพชรบุรี ซึ่งได้พัฒนาแบบและนำมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 61 (Bangkok Gem & Jewelry Fair) หลังจากนี้จะทยอยพัฒนาในจังหวัด กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด สตูล และภูเก็ต เป็นต้น จนครบ 15 จังหวัด

Q : เป้าหมายร้าน outlet เครื่องประดับ

กระทรวงต้องการช่วยยกระดับรายได้ให้กับชุมชนกระจายรายได้สู่ภูมิภาค เพราะเครื่องประดับในแต่ละจังหวัดล้วนแต่มีเอกลักษณ์/อัตลักษณ์ ซึ่งเมื่อนำมาพัฒนาต่อยอดทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในจังหวัดเพิ่มขึ้น3% จากปกติ เช่น ใน 4 จังหวัดแรกมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วม 17 ราย จากผู้ประกอบการ 1,000 คน มีการจ้างแรงงาน 50,000 คน หลังจากนี้ทาง GIT ประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในภูมิภาคในการส่งออก โดยให้โอกาสได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และช่วยทำอีคอมเมิร์ซด้วย

Q : ผลการออกเครื่องหมายฮอลมาร์กปีก่อน

หลังจากที่ GIT ได้ส่งเสริมผู้ส่งออกโลหะมีค่าได้มาขอรับการรับรองเครื่องหมายรับรองโลหะมีค่า (ฮอลมาร์ก) เมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้ส่งออกส่วนหนึ่งที่ให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการ ซึ่งในการรับรองจะใช้วิธีการสุ่มตรวจสอบเครื่องประดับบางชิ้น เช่น ส่งออกลอตละ 10,000 ชิ้น อาจจะสุ่มตรวจ 30-40 ชิ้น หากผ่านก็จะได้รับการรับรองทั้งหมด เครื่องหมายนี้ถือเป็นเครื่องหมายที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ แต่ด้วยเหตุที่มาตรฐานนี้ยังเป็นลักษณะความสมัครใจ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการสร้างความรู้จักอย่างแพร่หลายเพื่อให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการมาขอรับรองมากขึ้น

ในปีที่ผ่านมาทาง GIT ได้เร่งประชาสัมพันธ์การรับรองฮอลมาร์กของไทยไปยังตลาดต่างๆ ทำให้มีบางประเทศ เช่น ดูไบ ที่ให้การยอมรับเครื่องหมายฮอลมาร์คของไทยแล้ว ซึ่งในปีนี้ทางสถาบันมีแผนจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยผ่านการจัดสัมมนา Business Talk ในงานแฟร์ในต่างประเทศ เช่น บาเรนห์ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ศรีลังกา และฮ่องกงอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ตลาดแต่ละประเทศรับรู้ว่าไทยมีเครื่องหมายรับรองนี้ แม้ว่าในบางประเทศจะมีเครื่องหมายฮอลมาร์กของประเทศตนเอง แต่การสร้างความมั่นใจทำให้เกิดการยอมรับเครื่องหมายฮอลมาร์กไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น

Q : ทิศทางการส่งออกปีนี้

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 3% จากปีก่อน หรือมีมูลค่า 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในเดือนแรกหากแยกเฉพาะยอดส่งออกอัญมณีไม่รวมทองคำ ก็จะเห็นว่ายอดการส่งออกขยายตัว 8% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัวดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อดี