BBGI ผนึก จุฬาฯ ต่อยอด “งานวิจัยไบโอฯ” เชิงพาณิชย์

จุฬา ไบโอม
สัมภาษณ์พิเศษ

งานวิจัยที่ถูกทิ้งขว้าง ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกปลดล็อกได้เลย ก็มีเพียงน้อยชิ้นเท่านั้นที่จะนำมาต่อยอดและใช้งานจริง

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.อลิสา วังใน” CTO (Chief Technology Officer) บริษัท ไบโอม จำกัด ผู้คิดค้นงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้น ถึงโอกาสครั้งสำคัญที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เตรียมหยิบงานวิจัยด้านนวัตกรรมขึ้นมาออกสู่สายตาคนไทยเร็ว ๆ นี้

บีบีจีไอร่วมทุน

“กิตติพงศ์” ฉายภาพว่า บีบีจีไอ ทำเรื่องเอทานอลมาเกือบ 20 ปี ปัจจุบันพยายามทรานส์ฟอร์มตัวเองด้วยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เข้ามาต่อยอดจากธุรกิจเดิม ทำให้ต้องมองหาพันธมิตรจึงได้ร่วมทุนกับไบโอม ที่เป็นผู้พัฒนางานวิจัยออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่

ส่วนบีบีจีไอจะนำต้นแบบมาสู่กระบวนการในการขยายกำลังผลิตและทำการตลาด รวมถึงหาโจทย์ที่เป็นความต้องการของตลาดมาให้กับไบโอม ซึ่งเป็นต้นน้ำในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

ผมในฐานะ CEO ของบีบีจีไอ ยอมรับว่างานที่เกี่ยวข้องกับไบโอเทค สิ่งที่ยากที่สุดในการนำพาทุกองคาพยพสู่ความสำเร็จ คือ การขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพราะนักวิจัยจะเชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์การวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ แต่เมื่อเข้าไปสู่โรงงานจะเป็นเรื่องของวิศวกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้เพื่อที่จะให้ได้สินค้าที่ต้องการ

และสุดท้ายก็คือ ด้านการตลาด ที่จะบอกได้ว่างานวิจัยนั้น ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร ดังนั้น บีบีจีไอจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ของไบโอม ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอ อย. คาดว่าจะสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปลายไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566 นี้

ไบโอเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งไทยมีศักยภาพและเป็นเทรนด์เทคโนโลยีของโลก การที่ไบโอม spin-off ออกมา เพราะโอกาสมีและช่วงเวลาเหมาะสม ซึ่งในธุรกิจไบโอเทคนี้ เชื่อว่าจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือ อาศัยความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน และสร้างเป็นอีโคซิสเต็มขึ้นมา ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และแน่นอนว่าในอนาคตทั้ง 2 บริษัทจะนำงานวิจัยออกมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ไบโอเซ็นเซอร์ตรวจจับยาฆ่าแมลงสำหรับผู้ประกอบการ หรือศูนย์กระจายสินค้า ใช้ในการตรวจสอบผลผลิตจากเกษตรกร

“ทั้ง 2 ยังกล่าวย้ำว่า การก้าวผ่านจากนักวิจัยเชิงลึกเพื่อทำป็นผลิตภัณฑ์ออกไปสู่โลกธุรกิจค่อนข้างยาก เพราะนักวิจัยไม่ได้มีพื้นฐานนักธุรกิจ จึงต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้

“ขณะเดียวกันเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแล้ว ยังเจออุปสรรคอีกมาก รวมถึงความล่าช้าในการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ และรูปแบบการให้ทุนสนับสนุนแบบจบเป็นครั้ง ๆ ไปอาจไม่ยั่งยืน การขยายสเกลของตลาดอาจไปต่อไม่ได้ แต่วันนี้ความเชี่ยวชาญของไบโอมและบีบีจีไอ ได้ปิดทุกช่องทางที่เป็นปัญหา จนในที่สุดงานวิจัยบนหิ้งได้สู่ตลาดแล้วจริง ๆ”

นักวิจัยสู่นักธุรกิจ

ขณะที่ “ศ.ดร.อลิสา” เล่าว่า ไบโอมเป็นนักวิจัยที่เคยใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้องปฏิบัติการ ที่ spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง 75% เป็นนักวิจัยทั้งจากจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ R&D Company คือการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology)

“การตัดสินใจก้าวออกมาเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัพ นอกจากความกล้าแล้ว ยังต้องอาศัยหน่วยงานต้นสังกัด ผู้ประกอบการที่มองเห็นศักยภาพหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย”

บทบาท R&D Arm

ไบโอมยังเป็น R&D Arm ให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างกลุ่มพลังงานอุตสาหกรรมเคมีที่อยากจะขยายตลาดเข้ามาสู่ตลาดไบโอเทค และกลุ่มสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ในธุรกิจต่าง ๆ ที่มีไอเดียดี ๆ แต่ไม่มีทั้งบุคลากร ไม่มีองค์ความรู้ไม่มีเทคโนโลยี

ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูง ไบโอมได้ทุนสนับสนุนในฐานะดีพเทคสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในโครงการการพัฒนาเอนไซม์สลายยาฆ่าแมลง เพื่อเป็นส่วนประกอบฟังก์ชั่นของน้ำยาล้างผักผลไม้ในตลาดอาหารปลอดภัยและการผลิตต้นแบบเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

“ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในวันที่ 26-27 เมษายน 2566 จะมีงาน บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านระดับต้นแบบในห้องปฏิบัติการ โดยจะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 8 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มอาหารมูลค่าสูง, กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ, กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม, กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ออกสู่สาธารณชน”

เอนไซม์ล้างผักผลไม้

“เกิดจากคำถามของเกษตรกรที่ถามว่า จุลินทรีย์ที่ใช้ย่อยสลายยาฆ่าแมลงในดินเอาไปล้างผักได้ไหม เป็นจุดเริ่มต้นที่เรานำเอมไซม์ในจุลินทรีย์มาตัดต่อยีน เป็นเอนไซม์ล้างผักผลไม้ เป้าหมายใช้ในกลุ่ม ภาคธุรกิจ เช่น โรงพยาบาล ร้านอาหาร และโรงแรมที่ต้องการเป็นกรีนโฮเทล”

เอนไซม์ล้างผักผลไม้ เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกในประเทศไทยที่สามารถย่อยสลายยาฆ่าแมลง แตกต่างจากน้ำยาล้างผักผลไม้ทั่วไปในท้องตลาด ที่ส่วนใหญ่ใช้ความสามารถในการชะล้างหรือฆ่าเชื้อโรค ไม่ได้ตัดวงจรความเป็นพิษออกจากสิ่งแวดล้อม