อายิโนะโมะโต๊ะโมเดล ชูนวัตกรรมจัดการของเสีย ยึดหลัก BCG ประหยัด 600 ล้าน/ปี

อายิโนะโมะโต๊ะโมเดล ชูนวัตกรรมจัดการของเสีย ยึดหลัก BCG ประหยัด 600 ล้าน/ปี

อายิโนะโมะโต๊ะโมเดล ชูนวัตกรรม จัดการของเสีย ยึดหลัก BCG ประหยัด 600 ล้าน/ปี

วันที่ 21 เมษายน 2566 ภาคอุตสาหกรรมเกษตร นับเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งรองรับผลผลิตทางการเกษตรในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า โดยเฉพาะ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการใช้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมนำเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ฉันทานนท์ วรรณเขจร” เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้านเทคนิคและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตร ตามนโยบาย BCG Model ระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2566 ที่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จ.กำแพงเพชร

BCG ลดค่าพลังงาน-ลดปล่อยคาร์บอน

อายิโนะโมะโต๊ะ ดำเนินธุรกิจโดยการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้อง BCG Model โดยมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ชีวมวลที่นำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อผลิตพลังงานไอน้ำทดแทนการใช้น้ำมันเตา โดยจากเดิมมีอัตราการใช้น้ำมันเตาในการผลิตเชื้อเพลิงวันละ 500 ตัน ราคาลิตรละ 15 บาท มีปริมาณการใช้ต่อปี 58 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่ารวมต่อปี ประมาณ 900 ล้านบาท

แต่หลังจากบริษัทได้นำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตา ทำให้มีต้นทุนลดลง โดยราคาแกลบราคาตันละ 2,000 บาท มีปริมาณการใช้ต่อปีประมาณ 170,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมต่อปี ประมาณ 300 ล้านบาท

ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้มากถึงปีละ 600 ล้านบาท แล้วยังสามารถลดต้นทุนค่าพลังงานลงได้ประมาณร้อยละ 40 และยังช่วยลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนได้ปีละประมาณ 190,000 ตัน

ตั้ง เอฟ ดี กรีน เพิ่มมูลค่าของเสีย

ขณะที่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน เพื่อให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วม (Coproduct) โดยมีการจัดตั้งบริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาและบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ร่วม

ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตผงชูรสจากโรงงาน อาทิ น้ำ และสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการหมัก เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำ รวมทั้งขี้เถ้าของแกลบที่ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงนำมาผสมกับปุ๋ยน้ำ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงดินอื่น ๆ ในรูปแบบปุ๋ยปั้นเม็ด สารเร่งราก และวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ที่นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เกิดการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย

พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตกร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ ของการผลิตในโรงงานประเทศไทย

โดยการทำศึกษาวิจัยในพื้นที่ควบคู่ไปกับการริเริ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อาทิ การเลือกต้นพันธุ์ดีปลอดโรค การตรวจวิเคราะห์ดินและการแนะนำปุ๋ยให้เหมาะกับปริมาณความต้องการของพืช การให้บริการตรวจโรคใบด่างซึ่งเป็นโรคหลักที่ก่อให้เกิดความเสียหายในแปลงมันสำปะหลัง

การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ โดยทำเป็นแปลงทดลองเกษตรกร 1 คนต่อพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 500 ราย และทางบริษัทจะมีการขยายเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมให้ครบตามเป้าหมาย 2,800 ราย ในระยะต่อไป

ซึ่งฐานข้อมูลที่รวบรวมจะช่วยให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ (ปริมาณแป้ง) ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนา

ประยุกต์ใช้ AI

พร้อมกันนี้ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสร้างประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร เช่น การใช้ระบบ Artificial Intelligence (AI) ในการตรวจสอบการติดโรคใบด่างของมันสำปะหลัง เป็นต้น และส่งเสริมการใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น ใบอ้อย และชิ้นไม้สับ ที่จะช่วยให้ลดการเผาในการทำการเกษตรที่จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดข้อมูล หรืองานวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตรอื่น ๆ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ส่วนเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0-2940-7309 ในวันและเวลาราชการ