ปลดล็อก “พันธนาการ” ดัน “อุตสาหกรรมไทยโกอินเตอร์”

เกรียงไกร เธียรนุกุล

“อุตสาหกรรมไทย ติดปีก โกอินเตอร์” เป็นหนึ่งในหัวข้อในงานสัมมนา “Thailand : Take off” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน โดยมี “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพว่า สิ่งที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กับทาง ส.อ.ท.ประเมิน และมีความกังวลคล้ายกันคือ เครื่องยนต์ภาคการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์สำคัญคงจะไม่ได้เป็นตัวสร้างตัวเลขจีดีพีเท่าไหร่ จากกำลังซื้อทั่วโลกลดลง

โดยเฉพาะจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ส่งผลให้ส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง 7-8 เดือน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าการส่งออกในปี 2566 จะทำได้อย่างมากคือ -1% หรือเสมอตัวที่ 0%

พบพิธา ฝาก 5 เรื่อง

ในโอกาสที่ ส.อ.ท.ประชุมร่วมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ฝากไว้ 5 เรื่องคือ 1.เรื่องราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟ เป็นตัวฉุดรั้งความสามารถทางการแข่งขัน เรื่องนี้ทาง ส.อ.ท.ได้มอบหมายให้ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. เป็นหัวหน้าทีมในการขับเคลื่อน

2.เรื่องแรงงาน สะท้อนถึงเรื่องการขาดแคลนแรงงาน การอัพสกิล รีสกิล ในการที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เรื่องนี้เป็นคีย์ที่สำคัญที่ต่างชาติให้ความสนใจ

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่พรรคก้าวไกลใช้นโยบายขึ้นค่าแรงงาน 450 บาทต่อคนในการหาเสียง หากมีการขึ้นค่าแรงแบบกระชากทีเดียวจากประมาณ 300 บาทต่อคน เป็น 450 บาทต่อคน หรือขึ้นทีเดียวกว่า 35% ถือเป็น “ยาแรง” ซึ่งผู้ใช้แรงงานคงชอบ แต่ยาแรงจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาจจะช็อกและหัวใจวายได้

ดังนั้น เราจะแก้ไขปัญหาระยะยาวได้อย่างไร ส.อ.ท.เสนอเรื่อง pay by skills การจ่ายตามทักษะแรงงาน ต้องมีแผนการอัพสกิล รีสกิลให้ชัดเจน และมุ่งไปแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพไม่ให้พุ่งขึ้น ในส่วนนี้จะไม่ใช่แค่แก้ปัญหาค่าแรง แต่จะแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

3.เอสเอ็มอี เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบกับทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย ที่เอสเอ็มอีหลายกลุ่มล้มหายตายจากไป

แต่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่การที่ฟื้นตัวเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเสริม ถ้าหากไม่ดูแลเรื่องต้นทุนค่าไฟ ค่าแรง และดอกเบี้ยถือเป็นการซ้ำเติมเอสเอ็มอี ดังนั้นจะต้องมีการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และทำให้ถูกต้อง

4.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม ease of doing business หรือการกิโยตินกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นกับดักและเป็นตัวล็อก เช่น ขอเปิดร้านอาหาร 1 ร้าน ต้องผ่านกฎหมายจาก 14 หน่วยงาน กลายเป็น “พันธนาการ” จนเราขยับอะไรไม่ได้ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ทำเรื่องนี้ กกร.ได้ศึกษากับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ข้อสรุปว่า

หากแก้ไขเรื่องนี้โดยการทำ “บล็อกเชน” จะช่วยให้ลดความสูญเสียให้ประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านบาท และถ้าสามารถปรับแก้ได้ทั้งหมด สร้างเม็ดเงินได้กว่า 1 ล้านล้านบาท สามารถยกระดับประเทศ และที่สำคัญยังช่วยปัญหาคอร์รัปชั่นได้

และ 5.เรื่องสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อน BCG เรื่องนี้รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ แต่อยากให้ทำต่อ อย่ามองว่า “ไม่ใช่นโยบายพรรคจึงไม่ทำต่อ หากเป็นเช่นนั้นก็น่าเสียดาย” นอกจากนี้รัฐและเอกชนควรร่วมมือกันโดยการวางกลไกการทำงาน ผ่านการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.)

โดยเฉพาะ กรอ.ด้านพลังงาน เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และต่อไปให้มี กรอ.ด้านน้ำ เนื่องจากไทยเริ่มเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่รอบนี้จะอยู่นาน เพราะฉะนั้นภาคการเกษตรที่เราดีอยู่ เป็นครัวของโลก และภาคเกษตรที่ปลูกผลไม้เพื่อการส่งออกจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างแรก ที่จะได้รับผลกระทบต่อไปคือโรงงาน

แผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

ในส่วนของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคต ส.อ.ท.วางแนวทางว่าต้องมาจาก 2 ส่วนคือ 1.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการมีอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เปลี่ยนจาก OEM (รับจ้างผลิต) เป็น ODM (รับจ้างออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไรเป็นการผลิตคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนจากแรงงานเป็นแรงงานขั้นสูง

และ 2.จะต้องสร้างเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (next-Gen industries) คือการมุ่งดึงการลงทุนจาก S-curve เดินหน้านโยบาย BCG และคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เราจะเริ่มเห็นว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และเกิดการตั้งกฎกติกาในรูปแบบการเก็บภาษีกับทุกอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนอย่าง CBAM ขณะที่จีนได้เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเช่นกัน นี่คือความท้าทายของการผลิตของโลก

อินโดฯมาแรงลงทุน อีวี-อิเล็กฯ

การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นเป้าหมายสำคัญของไทย ซึ่งจากการประเมินของภาคเอกชน แม้ไทยจะยังมีข้อได้เปรียบหลายเรื่อง แต่คู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซียเริ่มเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยในปี 2565 สัญญาณมาแรงกว่าเวียดนาม ปีก่อนสามารถดึงดูดการลงทุน FDI ได้ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าเวียดนาม 27,720 ล้านเหรียญสหรัฐ

และไทย 11,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าแรงงานอินโดนีเซียถูกกว่าไทยและเวียดนาม ต้นทุนค่าไฟฟ้า 3.32 บาทต่อหน่วย รองจากเวียดนามที่ค่าไฟฟ้า 2.75 บาทต่อหน่วย อินโดฯทำข้อตกลงทางการค้ากับ 18 ประเทศ รองจากเวียดนามทำ 55 ประเทศ และไทยทำ 19 ประเทศ

ไทยและอินโดนีเซียมีเป้าหมายดึงดูดกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก new S-curve 2 อุตสาหกรรม คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งอินโดนีเซียมุ่งดึงลงทุนอีวี แทนที่ไทยซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์

อินโดนีเซียมีจุดแข็งที่มี “แหล่งแร่นิกเกิล” จำนวนมาก จึงเริ่มเห็นโรงงานแบตเตอรี่ที่เป็นต้นทุนใหญ่กว่า 40% ของการผลิตรถ EV ตัดสินใจตั้งฐานการผลิตที่นั่น เพราะต้นทุนแร่ถูกและยังมีต้นทุนค่าไฟต่ำกว่าอยู่ที่ 1.64-3.79 บาทต่อหน่วย ส่วนไทยอยู่ที่ 2.91 บาทต่อหน่วย โดยส่วนใหญ่เป็นค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นและสหรัฐ แต่ไทยเป็นค่ายรถยนต์จากจีน ดังนั้น 2 ประเทศ จึงพยายามดึงดูดการลงทุนจากค่ายเทสลา ซึ่งไทยเป็นรอง 3 ต่อ 7

“สิ่งที่เรากังวลคือเรื่องภาษี โดยเฉพาะโครงสร้างของประเทศเรามีปัญหา ในเรื่องของอาเซียนไชน่าเอฟทีเอ นำเข้าชิ้นส่วนเป็นศูนย์ ตอนนี้เราได้ออกกติกา การนำเข้าจะเป็นศูนย์ได้ต้องมีโลคอลคอนเทนต์ 40% สิ่งที่เรากังวลคือเมื่อเราผลิตแบตเตอรี่จากประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่า 40% แต่ชิ้นส่วนอื่น ๆ นำเข้าจากจีน เท่ากับเราจะไม่ได้อะไรเลย”

ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยส่งออกอันดับ 2 ของไทย เป็นรองชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ มีการจ้างงาน 1 แสนคน มีอุตสาหกรรมเจ้าใหญ่ ๆ อย่างเวสเทิร์นดิจิทัล ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แต่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เราทำอยู่ “ปลายเชน” มาก ๆ เราได้แต่ค่าแรงค่าประกอบ สิ่งที่อยากได้คือ IC design IC manufacturing และ IC packaging หากสามารถทำได้ จะมีรายได้มากขึ้นและไม่โดนดิสรัปชั่น