BPP รุดหน้าตลาดไฟฟ้าสหรัฐ ลงทุน Temple II เพิ่มกำลังผลิต 378 เมกะวัตต์

BPP รุดหน้าตลาดไฟฟ้าสหรัฐ

BPP เข้าลงทุน “Temple II” โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเทคโนโลยี CCGT ในสหรัฐ กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 378 เมกะวัตต์ พร้อมรับรู้รายได้ทันที พร้อมตั้งเป้าลงทุน 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เข้าซื้อบริษัท CXA Temple 2, Holdco, LLC ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ขนาด 755 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

การเข้าซื้อกิจการของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วครั้งนี้ ส่งผลให้ BPP มีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่นในสหรัฐ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการผสานพลังร่วมกับโรงไฟฟ้า Temple I ซึ่งมีอยู่เดิม รวมไปถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้ทันที

โดยข้อตกลงนี้ทำผ่านบริษัท Temple Generation Intermediate Holdings II, LLC1 ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BPP ส่งผลให้ BPP สามารถเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนได้ราว 378 เมกะวัตต์

ก้าวสำคัญของ BPP

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของ BPP และนับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศยุทธศาสตร์และต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจของ BPP

กิรณ ลิมปพยอม
กิรณ ลิมปพยอม

ในปัจจุบัน BPP กำลังขยายไปยังหน่วยธุรกิจอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดในตลาดสหรัฐ ชึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) ที่เป็น 1 ใน 7 ผู้นำของตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในสหรัฐ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าครัวเรือน (Power Retail) อีกด้วย

“จากทำเลที่ตั้งที่ใกล้เคียงกันของโรงไฟฟ้าของ Temple I และ Temple II ทำให้เราสามารถผสานพลังและสร้างคุณค่าร่วมกัน ช่วยให้การดำเนินการและบริหารจัดการโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถคว้าโอกาสในการทำกำไรได้มากขึ้นในตลาดไฟฟ้าเสรี นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลงและสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นในที่สุด (Economies of Scale)”

@ 4 จุดเด่น Temple II

นายกิรณกล่าวเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II มีจุดเด่นอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อหลัก โดยข้อแรกคือ Temple II ถือเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา เพราะใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงอยู่ในลำดับการเรียกจ่ายไฟฟ้า (merit order) ที่เหมาะสมสอดรับกับสภาพตลาดและการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีของ ERCOT อีกทั้งมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการควบคุมการปล่อยมลสาร

ต่อมาคือ มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 750,000 ครัวเรือนทั่วรัฐเท็กซัสตอนกลาง จึงมีบทบาทสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของภูมิภาคดังกล่าว

อีกข้อที่สำคัญคือ ตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่เอื้อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีได้แบบเรียลไทม์รวมถึงอยู่ในทำเลเดียวกันกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I จึงส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนทำให้ BPP มีโอกาสสร้างกำไรในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีได้

สุดท้ายคือ การมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นนี้ช่วยเสริมข้อได้เปรียบของ BPP ในการบริหารจุดคุ้มทุนและการกระจายความเสี่ยงที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจไฟฟ้าของบริษัท

“คาดว่าจะรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/2566 ทั้งนี้ BPP ยังคงมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศยุทธศาสตร์ทั้ง 8 แห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) และจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเดินหน้าขยายกำลังผลิตสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568” นายกิรณกล่าว