“จุรินทร์” ตั้งวอร์รูมรับมือเอลนีโญ กระทบข้าว-พืชเกษตร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“จุรินทร์” ตั้งรับเอลนีโญ ตั้งวอร์รูมสู้ภัยแล้ง หวั่นกระทบการผลิต-การตลาด-ราคาข้าวและพืชเกษตรสำคัญ

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมติดตาม สถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตรโดยเฉพาะเรื่อง “ข้าว” ว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งวอร์รูม (war room) เพื่อติดตามสถานการณ์เอลนีโญของโลกและไทย รวมถึงติดตามการผลิต การตลาด และสถานการณ์ราคาในตลาดโลกของข้าวและพืชผลทางการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ

นายจุรินทร์กล่าวว่า วอร์รูมจะประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานและผู้แทนส่วนราชการ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง

โดยให้เสนอแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้ทูตพาณิชย์จาก 58 ประเทศทั่วโลกติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคา และการตลาดของพืชเกษตรทุกตัว โดยเฉพาะข้าว รายงานให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์

สถานการณ์เอลนีโญ

จากภาพรวมสถานการณ์เอลนีโญ ประกอบกับมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ตลาด และราคาของข้าว จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า สถานการณ์เอลนีโญในไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับปานกลางที่ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2558/2559 ซึ่งเป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงที่สุดอยู่ที่ 1.2

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ประเมินปริมาณน้ำฝนของไทย พบว่าปริมาณน้ำฝนลดลงจากเดิม 5% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปี รวมถึงคาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนของปีนี้จะน้อยกว่าปี 2565 อยู่ 50% ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ในพื้นที่ชลประทาน

อินเดียระงับส่งออกข้าว

ประกอบกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายหลักของโลกออกมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาว เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญและราคาข้าวขาวในอินเดียปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาข้าวขาวในตลาดสูงขึ้น เพราะปริมาณข้าวขาวในตลาดโลกลดลง และให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีความผันผวน เพราะไม่สามารถประเมินราคาตลาดข้าวโลก

เนื่องจากมาตรการการระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียยังไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจน รวมถึงอาจมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงทิศทางตลาด จึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ รวมถึงอาจจะกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะต้นทุนอาหารปรับตัวสูงขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์คิดว่า เป็นโอกาสที่ดีของตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะการบุกตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคข้าวจากอินเดียเป็นหลัก รวมถึงช่วยหนุนให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาก่อนที่อินเดียจะประกาศมาตรการอยู่ 7% จนทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าในปัจจุบันที่สูงเป็นประวัติการณ์ของประวัติศาสตร์ข้าวไทย

สถานการณ์ข้าวไทย

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังสามารถส่งออกข้าวอยู่ที่ 7-8 แสนตันต่อเดือน จากรายงานของกรมการข้าวได้ประเมินสถานการณ์ปริมาณข้าวไว้ว่า ผลผลิตข้าวในปี 2566 น่าจะน้อยกว่าปี 2565 โดยประมาณ 5.6% ในภาพรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนประมาณ 1.128 ล้านตันของข้าวเปลือก

ส่วนผลผลิตที่ได้จากนาปลังซึ่งเป็นการเพาะปลูกโดยใช้น้ำชลประทาน คาดว่าปีนี้ผลผลิตจะลดลงเหลือ 6.59 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 7.7 ล้านตัน ส่วนนาปีก็คาดว่าผลผลิตจะลดลงไม่เยอะจากปี 2565 เดิมที่ 26.6 มาอยู่ที่ 25.7 ล้านตัน หรือคิดเป็น 3.27% ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์อีกครั้งในเดือนตุลาคม

นายจุรินทร์กล่าวเสริมว่า สำหรับราคาข้าวในอนาคต ตนได้สั่งการให้หาจุดสมดุล ขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น จะส่งผลให้ข้าวสารแพงเกินจุดสมดุลหรือไม่ ถ้าแพงเกินก็ต้องกำกับควบคุมให้อยู่ในจุดที่ผู้บริโภครับได้ แต่ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ด้วย ให้วินวินทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และถ้าเสียประโยชน์ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุดทุกฝ่าย วอร์รูมมีหน้าที่ต้องไปดู

โดยภาพรวมราคาข้าวสารในปัจจุบัน ทางกรมการค้าภายในแจ้งว่า ราคาข้าวหอมมะลิ 100% ปัจจุบันอยู่ที่ 210 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 209.36 บาท ส่วนราคาข้าวขาว 100% ปัจจุบันอยู่ที่ 117 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ 119 บาท ซึ่งยังไม่ต้องกังวล เพราะตลาดข้าวถุงมีการแข่งขันสูง เพราะร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างก็ได้จัดกิจกรรมลดราคาอยู่ตลอด รวมถึงกรมการค้าภายในเองก็ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมเรื่องจัดกิจกรรมลดราคา ตลอดจนการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

กระทบนาปรัง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการประชุมเพื่อวางแผน โดยยึดจากปริมาณน้ำชลประทานที่เป็นน้ำต้นทุนและจะกำหนดพื้นที่ปลูกข้าวนาปลังในแต่ละปี ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงเกษตรดำเนินการมาตลอด ณ ปัจจุบัน มีน้ำใช้การได้อยู่ที่ 16,000 ล้านลูกบากศ์เมตร และคาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีน้ำใช้การได้ที่ 20,000 ล้านลูกบากศ์เมตร

ในกรณีที่มีน้ำน้อยจะกระทบกับการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 6 ล้านไร่ และการปลูกข้าวในลุ่มน้ำแม่กลองจำนวน 8 แสนไร่ ทำให้อาจจะไม่มีการปลูกข้าวนาปลังและทำให้ผลผลิตลดลงราว 3-4 ล้านตัน โดยต้องดูสถานการณ์น้ำในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนว่าจะมีมากขึ้นหรือไม่ ปัจจุบันจึงขอความร่วมมือกับทางเกษตรกรเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วห้ามปลูกซ้ำ เพื่อเก็บน้ำในเขื่อนไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค