WHAUP โชว์ผลงาน 6 เดือนแรก กวาดกำไร 648 ล้าน เพิ่มขึ้น 94%

WHAUP โชว์ผลงาน 6 เดือนแรก ปี 66
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP”)

WHAUP โชว์ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ 1,877 ล้านบาท และกำไรปกติ 648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% จากปีก่อน พร้อมลุยต่อยอดการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ธุรกิจไฟฟ้า ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศต่อเนื่อง

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“WHAUP”) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2566 โดยบริษัทรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 1,064 ล้านบาท และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) 419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% และ 59% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% จากปีก่อน

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 1,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% และมีกำไรปกติจำนวน 648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจำนวน 738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยการเพิ่มขึ้นของกำไรปกติมีสาเหตุหลักจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากการที่ค่า Ft ได้ปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติและภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ทำให้อัตรากำไรในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า SPP ที่จำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำโดยเฉพาะในประเทศเวียดนามยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP”) เปิดเผยว่า ภาพรวม ธุรกิจสาธารณูปโภคในไตรมาส 2/2566 บริษัทมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาส 2/2565

ในขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจำหน่ายและบริหารน้ำรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศเท่ากับ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดจำหน่ายน้ำในประเทศในไตรมาส 2/2566 ลดลงเล็กน้อยประมาณ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่บางส่วนมีการหยุดซ่อมบำรุง ทำให้ความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังคงเห็นการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในส่วนของความต้องการใช้น้ำดิบและน้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) โดยเฉพาะจากลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงผลิตน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมจำหน่ายน้ำให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ โดยมีปริมาณจำหน่ายตามสัญญา 2.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีอายุสัญญา 15 ปี หรือคิดเป็นมูลค่าสัญญารวมประมาณ 1,800 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน การจำหน่ายน้ำในประเทศเวียดนาม มีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำในประเทศเวียดนาม และการขยายฐานลูกค้าและพื้นที่ในการให้บริการน้ำประปาที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ไตรมาส 2/2566 บริษัทมียอดจำหน่ายน้ำรวมในประเทศเวียดนามตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจำหน่ายน้ำรวม เท่ากับ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 19%

ธุรกิจพลังงาน ในไตรมาส 2/2566 บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 ในขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เนื่องจากค่า Ft ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติและภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ทำให้ในส่วนของการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในไตรมาส 2/2566 บริษัทรับรู้รายได้ทั้งสิ้น 117 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 127% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 บริษัทมีกำลังการผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 104 เมกะวัตต์ และมีจำนวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Private PPA จากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมแล้ว จำนวน 167 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 717 เมกะวัตต์

นายสมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนโครงการใหม่ทั้งด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น อาทิ การขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 5 โครงการ

ซึ่งบริษัทได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนา คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง (installed capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในขั้นตอนการเตรียมงานเพื่อเซ็นสัญญา PPA ต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทยังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อพื้นฐานธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงิน ตลอดจนศักยภาพการเติบโตของบริษัท รวมทั้งยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจด้วยการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสมเกียรติกล่าวเสริมว่า WHAUP ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานโดยเน้นการใช้นวัตกรรมโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ ๆ และพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งมุ่งเน้นหาโอกาสใหม่ ๆ กับธุรกิจ New S-Curve

อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และการซื้อขายคาร์บอน ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ Chief Innovation Officer จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้บริหารขององค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทย และสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศไทยสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม”

นอกจากนี้ บริษัทได้รับการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย (CAC) ครั้งที่ 1 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ใส่ใจในหลักความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และต่อต้านการทุจริตในทุกด้าน ภายใต้พันธสัญญาการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลักบรรษัทภิบาลที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน