ส่งออกข้าวไทย 8 เดือนพุ่ง ต่างชาติสนใจข้าวไทยต่อเนื่อง เป้า 8 ล้านตันได้แน่

ส่งออกข้าวไทย

กรมการค้าต่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกข้าว 7 เดือน 4.6 ล้านตัน แต่หากดูใบอนุญาตส่งออก ล่าสุด 5.29 ล้านตัน คาดทั้งปีตามเป้า 8 ล้านตัน เผยรุกเยือน ทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและญี่ปุ่น ต่างสนใจซื้อข้าวไทยเพิ่ม มั่นใจส่งออกได้ตามเป้าหมายแน่นอน

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ จัดคณะภาครัฐและเอกชน เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวระหว่างกัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

พร้อม แสวงหาโอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยในตลาดเป้าหมาย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ประสบผลสำเร็จเกินคาด คาดว่าการส่งออกได้ตามเป้าหมาย 8 ล้านตันในปี 2566 นี้ ขณะที่การส่งออกข้าวล่าสุด 7 เดือนได้ 4.6 ล้านตัน 87,417

โดยเชื่อว่าอีก 5 เดือนสุดท้ายส่งออกได้ตามที่คาดไว้แน่นอน ส่วนตัวเลขล่าสุดจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรม ตั้งแต่ 1 ม.ค.-29 ส.ค. 2566 การส่งออกมีปริมาณ 5.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.91%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีความต้องการซื้อข้าวไทยเข้ามาเพิ่มมากขึ้น มีหลายประเทศที่ติดต่อและสนใจซื้อข้าวไทย โดยเฉพาะจากประเทศที่ไทยได้เดินทางไปเยือนกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าก่อนหน้านี้ ทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่น ๆ โดยล่าสุดฟิลิปปินส์ ได้ติดต่อเข้ามาแล้ว น่าจะชัดเจนในเดือน ก.ย. 2566 อินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็สนใจ ญี่ปุ่นยืนยันนำเข้าข้าวไทยต่อเนื่อง และขอให้ไทยส่งมอบข้าวคุณภาพและมาตรฐานตรงตามสัญญา

 

ทั้งนี้ จากการติดตามตลาดข้าว มีหลายประเทศที่ติดต่อซื้อข้าวจากอินเดีย เช่น สิงคโปร์ ภูฏาน เมอริเซียส ส่วนไทย ก็มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะมีหลายประเทศสนใจซื้อข้าวไทย และแนวโน้มราคาก็ดีขึ้น อย่างราคาข้าวขาว 5% ณ วันที่ 29 ส.ค. 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 620 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากราคาเฉลี่ยของปี 2565 อยู่ที่ 437 เหรียญสหรัฐต่อตัน ของเวียดนาม 635 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาเวียดนามแพงกว่าไทยแล้ว

ส่งออกข้าวไทย

ส่งออกข้าวไทย

เดินสายเยือนกระชับขายข้าว

กรมฯนำคณะเยือน ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2566 โดยคณะผู้แทนไทยได้พบหารือกับสำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry : BPI) กระทรวงเกษตร และยังได้พบหารือกับหน่วยงาน Philippine International Trading Corporation (PITC) และหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการสต๊อกข้าวของฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ให้ความเชื่อมั่นว่าไทยมีแผนในการบริหารจัดการข้าว และพร้อมสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้พบปะหารือกับผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าข้าว รวมทั้งจัดเตรียมตัวอย่างข้าวขาวพื้นนุ่มซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของชาวฟิลิปปินส์ ให้แก่ผู้นำเข้าข้าวเพื่อทดลองตลาด ทั้งนี้ ผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์สนใจและยินดีนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2566 โดยคณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบหารือกับหน่วยงาน Padiberas Nasional Berhad (BERNAS) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการกำกับดูแลนำเข้าข้าวของมาเลเซีย และผู้นำเข้าข้าว ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก (Wholesalers/Retailers)

ทำให้ได้ทราบว่าในปีนี้มาเลเซียจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนำเข้าข้าวคือราคาที่สูงและมีความผันผวนมาก นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคชาวมาเลเซียยังหันมานิยมข้าวพื้นนุ่มที่เป็นข้าวฤดูกาลใหม่มากขึ้น ฝ่ายไทยได้นำเสนอตัวอย่างข้าวพื้นนุ่มของไทยให้แก่ผู้นำเข้าข้าวมาเลเซีย โดยคาดว่าจะสามารถมีผลผลิตออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ภายใน 2-3 ปี ซึ่งมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะพิจารณานำเข้าข้าวจากไทย

อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 คณะผู้แทนไทยได้พบหารือกับหน่วยงาน National Food Agency ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อบริหารจัดการอาหารให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

โดยหารือครั้งนี้  มีหน่วยงานเข้าร่วมหารือ ได้แก่ หน่วยงาน Ministry of State-Owned Enterprises ซึ่งดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดของอินโดนีเซีย หน่วยงาน The State Logistics Agency (BULOG) รัฐวิสาหกิจซึ่งดูแลการนำเข้าข้าวของรัฐบาลอินโดนีเซีย และ ID Food Holding Company บริษัทผู้ส่งออก-นำเข้าข้าว

ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายไทยได้มีโอกาสพบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าวทั้งหมดของอินโดนีเซีย ผลการหารือทราบว่าในปีนี้อินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวอีกกว่า 400,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยอินโดนีเซียยินดีนำเข้าข้าวจากไทยเนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับราคาที่เหมาะสมด้วย

ส่งออกข้าวไทย

ล่าสุดคณะผู้แทนไทยได้เดินทางเยือนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2566 โดยเข้าพบหารือกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries : MAFF) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการการผลิต และการค้าข้าว รวมทั้งการกำกับดูแลการประมูลข้าว กำหนดปริมาณและชนิดข้าวที่จะนำเข้าของญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดประมูลในต้นเดือนกันยายน 2566 นี้ คาดว่าจะนำเข้าภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบันความต้องการบริโภคข้าวของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงประมาณ 1 แสนตัน/ปี เนื่องจากจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวมาเยือนญี่ปุ่นลดลง อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าข้าวจากไทยปีละประมาณ 0.26-0.29 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวขาวจากไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมข้าวของญี่ปุ่น เช่น ขนมอบกรอบ แป้งข้าว และเหล้าอะวาโมริ เป็นต้น พร้อมหารือเพื่อติดตามภัยแล้งด้วย โดยฝ่ายไทยยืนยันว่า ผลผลิตข้าวไทยในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการส่งออกและพร้อมที่จะส่งมอบข้าวคุณภาพและมาตรฐานตรงตามสัญญาให้แก่ญี่ปุ่นต่อไป