BBGI ผนึก SCGC ดัน “เอทานอล” สู่ไบโอพลาสติก

BBGI

รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการต่อยอดผลิตภัณฑ์ “เอทานอล” จากกากน้ำตาลเป็นส่วนผสมของน้ำมันเติมรถกลุ่มแก๊สโซฮอล์มานานเกือบ 20 ปี นับจากปี 2544 แต่ภายหลังธุรกิจเอทานอลอาจจะต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการเข้ามาของ “ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี” ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมเอทานอลลดต่ำลง ประกอบกับภาวะเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งกระทบกับปริมาณวัตถุดิบอ้อย ทำให้ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตเอทานอลจึงต้องปรับตัวมุ่งสู่การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเอทานอลในอนาคต

กรมธุรกิจพลังงานนำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชม “บริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน)” ณ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลด้วยกากน้ำตาล กำลังการผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน สำหรับผสมเป็นน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อย

ตลาดน้ำมันปรับ“สมดุล”

นายศุภโชค พัฒนาพิศาลศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีจีไอ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตโรงงานเอทานอลของบีบีจีไอเต็มที่อยู่ที่วันละ 800,000 ลิตร “ปริมาณเอทานอลที่ผลิตได้เกินกว่าความต้องการ” ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยลดลงในปีก่อน ส่งผลให้ขาดแคลนกากน้ำตาล และมีราคาสูง และในปีนี้มีสัญญาณว่าจะเกิดเอลนีโญ

“แม้ว่าความต้องการใช้เอทานอลจะลดลงหลังการใช้รถยนต์อีวีเริ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันอีวียังมีเพียง 20,000 คัน ตลาดน้ำมันยังไม่ได้หายไป แต่จะเข้าสู่ช่วงสมดุลในที่สุด”

ศุภโชค พัฒนาพิศาลศักดิ์
ศุภโชค พัฒนาพิศาลศักดิ์

ต่อยอดธุรกิจใหม่

ล่าสุดทางบีบีจีไอได้ร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC พัฒนาโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเอทานอล อาทิ การผลิตไบโอ-เอทิลีน (Bio-ethylene) ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ

โดยบีบีจีไอจะเป็นผู้จัดส่ง “เอทานอล” ให้กับ SCGC เพื่อไปผลิตเป็นไบโอเอทิลีนต่อในโรงงานของบริษัทร่วมทุนที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กำลังการผลิต 450 ล้านลิตร ซึ่งปัจจุบันโรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการสร้าง คาดว่าจะเริ่มอีก 2 ปีข้างหน้า

หากส่งเอทานอลให้โครงการสำเร็จ นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของการผลิตน้ำมัน

ภาพรวมธุรกิจ BBGI

สถานการณ์การผลิตเอทานอลปัจจุบัน นอกจากได้รับผลจากกระแสอีวีที่กระทบกับความต้องการใช้น้ำมันแล้ว ยังมีอีกปัญหาที่อาจจะหนักกว่า เพราะกระทบต่อราคาวัตถุดิบ อย่าง “เอลนีโญ” อีกด้วย

นายศุภโชคกล่าวว่า ปีที่ผ่านมา บีบีจีไอ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ประมาณ 8% แต่ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบสัดส่วนเกือบ 70% ได้รับผลจากราคาโมลาสปรับสูงขึ้น ส่วนการจะหันไปใช้วัตถุดิบอื่นอย่าง มันสำปะหลัง ก็ประสบปัญหาขาดแคลนเช่นกัน อีกทั้งยังต้องแย่งกันซื้อวัตถุดิบแข่งขันกับกลุ่มธุรกิจอื่น อาทิ ธุรกิจอาหารสัตว์อีก ในปีนี้บริษัทต้องติดตามสถานการณ์ราคาข้าวโพดในตลาดโลกว่าลดต่ำลงหรือไม่ รวมถึงจีนไม่มาแย่งซื้อมันสำปะหลังที่ลาวไป จะช่วยทำให้เรามีแหล่งวัตถุดิบสำรองอีกแห่งหนึ่ง

เพิ่มช่องทางระบายสินค้า

นายศุภโชคกล่าวว่า ราคาเอทานอลขึ้นอยู่กับอุปสงค์กับอุปทาน ซึ่งตอนนี้ตลาดเอทานอลมีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ รวมถึงต้นทุนปรับสูงขึ้น แต่รัฐบาลตรึงราคาขายไว้

“ในปีที่ผ่านมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯต้องเข้าไปช่วยดูแลราคาน้ำมันเมื่อปีที่แล้วขาดดุลเกือบแสนล้าน รัฐจึงลดการสนับสนุน E85 ส่งผลให้ราคาสูงกว่า E20 คนจึงไม่ใช้ แถมตอนนี้ราคาวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้น ราคาขายเท่าเดิมที่ 29.20 บาท ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวแสวงหาธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างตลาดและมูลค่าเพิ่มให้กับเอทานอลอีกทางหนึ่ง”

อีวีกระทบเอทานอล

นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอล 28 โรง มีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 6.72 ล้านลิตรต่อวัน มีปริมาณการใช้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2566 (ม.ค.-ส.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน

สาเหตุมาจากปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ที่ลดลง เนื่องจากไม่มีการอุดหนุนราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงส่งผลให้การใช้เอทานอลในภาคขนส่งลดลง สำหรับทิศทางในระยะยาวตามร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2566-2570 (Oil Plan 2023)

“กรมธุรกิจพลังงานได้คาดการณ์ว่า เอทานอลในภาคขนส่งจะมีปริมาณการใช้สูงสุดที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน และจะเริ่มลดลงเนื่องจากประชาชนหันไปนิยมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณการใช้รถยนต์สันดาปลดลง ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบในระยะ 10 ปีข้างหน้า”

พัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์
พัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์

New Business

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หากนโยบาย 30@30 สัมฤทธิผล ทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป ความต้องการใช้น้ำมันจะลดลง ซึ่งแน่นอนว่าจะเชื่อมโยงถึงกลุ่มแก๊สโซฮอล์ด้วย ดังนั้น ต้องเตรียม พัฒนา new business ไว้

นางพัทธ์ธีรากล่าวว่า ในร่างแผน Oil Plan 2023 ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยมีการพิจารณาโอกาสและทิศทางของเชื้อเพลิงชนิดใหม่ร่วมกับร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2566-2570 (AEDP 2023) ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

ท้ายที่สุด นางพัทธ์ธีรากล่าวสรุปว่า กรมธุรกิจพลังงานจะต้องติดตามดูความสำเร็จของโครงการ ไบโอ-เอทิลีน ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณเอทานอลในตลาดว่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อการเดินหน้าสนับสนุนการใช้ผลิตน้ำมัน E20 และ E10 หรือไม่

และสุดท้าย คือ หากมีการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ซึ่งในอนาคตก็อาจต่อยอดเป็น Alcohol to Jet (AtJ) ได้อีก นั่นจะมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตเอทานอล และมีผลเชื่อมโยงต่อการวางแผน Oil Plan ของประเทศในอนาคต