“ภูมิธรรม” ยังไม่เคาะจำนำข้าว จับตาส่งออกพุ่งรับเอลนีโญ

ส่งออกข้าว

“ภูมิธรรม เวชยชัย”ลั่น ไม่จำนำข้าวเดินหน้าพักหนี้เกษตรกร 3 ปี หวังกู้วิกฤตเอลนีโญ ห่วงราคาข้าวแพงส่งออกทะลัก ด้าน “ปลัดพาณิชย์” ย้ำดูแลสินค้าเกษตรต้องเข้า คณะกรรมการรายพืช เผยตัวเลขผลผลิตข้าวปีนี้ลดลง 5.6% หรือเสียหาย 2 ล้านตัน สั่ง กรมการค้าต่างประเทศ มอนิเตอร์ “ยอดขอใบอนุญาตส่งออกข้าว” หากไม่สูงผิดปกติทะลุ 1 ล้านตัน/เดือนไม่ใช้ยาแรง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงนโยบายด้านสินค้าเกษตรที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่า จะใช้นโยบายประกันรายได้หรือจำนำ แต่จะมุ่งดำเนินโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปีก่อน เพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และหลังจากนั้นจะต้องมาคิดว่า ในระหว่างพักชำระหนี้ 3 ปีนี้จะดำเนินกิจกรรมอะไรที่เป็นการสร้าง “รายได้” ให้กับเกษตรกร ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้ง

“การจำนำหรือการประกันรายได้จะเป็นเหมือนมาตรการที่ออกมารองรับในเวลาที่เกษตรกรเจอปัญหาต่าง ๆ แล้วเราก็ต้องมาคิดว่า เราจะใช้วิธีประกันหรือจำนำ ซึ่งมันก็ใช้ปนกันไปแบบนี้ไปตลอด ดังนั้นจึงต้องหารือกันต่อว่า เนื้อหาตรงนี้เราจะจัดหรือจะผสมอย่างไร ผมต้องขอเวลาเข้าไปหารือกับข้าราชการเพื่อดูในรายละเอียดอีกนิดหนึ่ง แต่แนวนโยบายเรามีคร่าว ๆ อยู่บ้างแล้วว่า จะต้องมีมาตรการมาดูแลเรื่องเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรแน่นอน เพียงแต่จะเลือกผสมผสานกันอย่างไรเพื่อดึงนำเอาส่วนที่ดีของแต่ละมาตรการออกมาใช้” นายภูมิธรรมกล่าว

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า คดีจำนำข้าวที่ผ่านมายังมีปัญหาติดค้างเรื่องทุจริตที่อยู่ในขั้นการสอบสวนและดำเนินการของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทางพรรคเพื่อไทยจะยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอีกครั้งหรือไม่นั้น

เรื่องนี้นายภูมิธรรมตอบว่า “คงไม่ทำจำนำข้าวหรอกเพราะ มันยังเป็นปัญหาอยู่ คงต้องเคลียร์ให้จบจนหมดสิ้นกระบวนความ แล้วค่อยว่ากัน แล้วคงต้องหามาตรการไหนที่จะมาดูแลได้ ผมขอดูก่อน” แต่ปีนี้ต้องเน้นเรื่องการดูแลปัญหาเอลนีโญเพราะจะเป็นปัญหาอีก 2-3 ปี ทำให้เป็นห่วงว่า ราคาข้าวจะสูงอย่าง อินเดีย ก็งดการขายข้าว ส่วนประเทศไทยอย่าเพิ่งสบายใจว่า ราคาข้าวดีจนขายข้าวหมด ถ้าไม่วางสต๊อกไว้ให้ดีก็จะมีปัญหาได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบนโยบายไปแล้ว ให้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

“ปีนี้มองว่า เป้าหมายการส่งออกข้าวต้องไม่น้อยกว่าที่วางไว้คือ 8 ล้านตัน ทำได้ตามเดิม และต้องมาดูว่า การส่งออกภาพรวมที่ติดลบเยอะ ผมก็ให้นโยบายไปว่า เป้าส่งออกเดิมต้องไม่ต่ำกว่านั้น และจะสามารถขยายเพิ่มได้แค่ไหน ต้องดูตลาดใหม่ ๆ และอาจจะเกี่ยวพันกับการขยายข้อตกลงการค้าเสรี FTA ให้มากขึ้น เรื่องนี้ก็มีเป้าหมายจะเดินอยู่ ซึ่งบางข้อตกลงก็มีการดำเนินการมาเกือบจะเสร็จแล้ว อย่างน้อยอีก 1-2 ข้อตกลงในปีนี้หรือในปีหน้า ผมมีกำหนดการจะเข้ากระทรวงพาณิชย์ วันที่ 12-13 กันยายน 2566 เพื่อจะเข้าไปคุยในรายละเอียดและให้นโยบาย วันที่ 13-14 กันยายน จะพบกับคนตัวเล็ก ผู้ประกอบการ SMEs และวันต่อไปพบกับผู้ประกอบการรายใหญ่” นายภูมิธรรมกล่าว

ชงมาตรการดูแล “พืชเกษตร”

ด้าน นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานวอร์รูม กล่าวถึงการจัดทำมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีโครงการประกันรายได้นั้น “ได้สิ้นสุดโครงการไปแล้ว” ส่วนรัฐบาลชุดใหม่จะกลับมาใช้โครงการประกันรายได้ต่อหรือโครงการรับจำนำนั้น “ยังต้องรอการประกาศนโยบายของรัฐบาลใหม่ก่อน” หลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ก็จะจัดทำรายละเอียดของโครงการและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปี 2566/2567 เสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ในแต่ละพืชเกษตรต่อไป

“เรื่องนี้จะต้องพูดคุยทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน โครงการประกันรายได้เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันและได้หมดวาระแล้ว ก็ต้องรอดูรัฐบาลชุดใหม่ ผมยังไม่แน่ใจว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายดูแลเกษตรกรในรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคก็ต้องรอ แต่หากระหว่างนี้เกษตรกรประสบปัญหาได้รับความเสียหายจากสถานการณ์เอลนีโญ หรือเหตุอื่นใดที่มีลักษณะจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินอย่าง น้ำท่วม เราก็มีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ”

ผลผลิตข้าววูบ 2 ล้านตัน

สำหรับการประเมินสถานการณ์เอลนีโญหลังจากที่มีการตั้ง “วอร์รูม” ขึ้นมา ตนได้หารือกับ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไว้แล้ว โดยได้มอบหมายรองปลัดมาดูแลในภาพรวมทั้งหมด ในภาคการผลิตรวมไปถึง “เรื่องน้ำด้วย” ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรฯได้แจ้งข้อมูลผลผลิตข้าวภาพรวมนาปรัง-นาปีรวมกันในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 32.3 ล้านตัน หรือลดลงมา 5.6% จากปี 2565 มีปริมาณ 34.3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลงไปประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในแผนที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยยึดแนวทางหลักคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นหลัก

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยลดลง 5% ของปี 2566 จากค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี และก็คิดว่า 2566 เราจะเจอสภาวะเอลนีโญจากปานกลางถึงรุนแรง อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศา และปริมาณน้ำในเขื่อนในปีนี้คาดว่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ต้องรอดูช่วงปลายเดือนนี้ตั้งแต่กันยายนนี้ถึงพฤศจิกายน ว่าจะมีพายุเข้ามามากน้อยขนาดไหน และฝนจะตกเหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน สิ่งสำคัญคือสถานการณ์แบบนี้อย่าไปตื่นเต้นและตกใจมาก เป็นสิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมัน เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่เราจะต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม” ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

จับตาตัวเลขส่งออกข้าวรายเดือน

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานปลายน้ำได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยจะเข้าไปดูสมดุลความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ทั้งหมดและต้องมาโฟกัสในเรื่องปริมาณผลผลิตข้าวว่า มีความเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกหรือไม่

ล่าสุดได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ ติดตามดูตัวเลขส่งออกข้าว ที่ผู้ส่งออกเข้ามาขอใบอนุญาตส่งออกข้าว ซึ่งโดยปกติแต่ละรายจะเข้ามาขออนุญาตส่งออกข้าวที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ ดังนั้น ตัวเลขส่งออกข้าวจริงก็จะใกล้เคียงกับตัวเลขนี้ โดยเฉลี่ยการส่งออกข้าวไทยมีปริมาณ 700,000-800,000 ตันต่อเดือน ซึ่งหากมีปริมาณส่งออกใกล้เคียงกับตัวเลขนี้ “ก็ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการค้าปกติ”

แต่หากเมื่อไหร่ปริมาณเฉลี่ยการส่งออกข้าวสูงไปกว่า 1 ล้านกว่าตันต่อเดือน ทีนี้จะต้องกลับมาดูแล้วว่า มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ อาจส่งออกข้าวมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งต้องบาลานซ์ผลผลิตข้าวภายในประเทศว่ามีปริมาณเพียงพอหรือไม่

“โดยปกติผลผลิตข้าวประเทศไทยจะใช้ภายในประเทศ 50% และส่งออก 50% เท่าที่ติดตามขณะนี้ยังไม่มีปัญหาน่ากังวลในเรื่องของการขาดแคลนข้าว การส่งออกข้าวปีนี้น่าจะทำได้ 8 ล้านตัน ตามเป้าหมาย ขณะที่กรมการค้าภายในจะดูเรื่องสต๊อกข้าวตามกฎหมายอยู่” นายกีรติกล่าว

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการ “ทูตพาณิชย์” โดยเฉพาะที่อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตส่งออกข้าวเหมือนประเทศไทย โดยอินเดียมีการประกาศใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่เท่าที่ตรวจสอบจะเป็นการใช้มาตรการช่วงระยะสั้น ๆ อาจจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้เท่านั้น ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกและราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

“ประเทศไทยผ่านมาได้หลายสถานการณ์ เราคิดว่าไม่น่าเป็นห่วง สิ่งที่สำคัญคือ เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ คงไม่ได้ออกมาเบรก เช่น ห้ามส่งออกข้าวหรืออะไรที่เป็นยาแรงมากมายขนาดนั้น ซึ่งการออกมาตรการที่เป็นยาแรงไม่ให้ส่งออก หรือว่าจำกัดการนำเข้า ถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดที่มันไม่สามารถเดินไปได้ กฎระเบียบหรือมาตรการที่มีอยู่ จะมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดและมีการประเมินผลอย่างละเอียดว่า มาตรการที่จะออกมาในการกำกับดูแล อะไรก็แล้วแต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและการค้า จะเป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามจะทำให้เกิดความบาลานซ์

เพราะการออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเบาไปหาหนัก ก็จะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ เราก็จะพยายามไม่ทำอะไร ส่วนใหญ่จะต้องเป็นลักษณะขอความร่วมมือไม่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในตลาด และหากมองอีกด้านภัยแล้งทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เกษตรกรก็มีโอกาสได้มีรายได้ที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นปีทองของเกษตรกรเช่นกัน” นายกีรติกล่าว

ข้าวราคาพุ่งพรวด

สำหรับราคาข้าวเปลือกตามประกาศของ สมาคมโรงสีข้าวไทย ล่าสุด ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ปรากฏ ราคาปรับสูงขึ้นกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนมาก โดยข้าวเปลือกเจ้า 5% อยู่ที่ 12,600-13,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกหอมปทุม 13,800-14,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลิ (โคราช) 15,500-16,500 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว กข.6 14,800-15,500 บาท/ตัน โดยราคาข้าวเปลือกในประเทศขึ้นลงในแต่ละสัปดาห์ตามคำสั่งซื้อข้าวส่งมอบลงเรือ

แต่ปีนี้ตลาดข้าวโลกเกิดความกังวลใน 2 เรื่อง คือ กรณีอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กับการเกิดเอลนีโญ-ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวในแหล่งปลูกข้าวสำคัญ รวมทั้งประเทศไทย ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายและมีปริมาณลดลงมาก

ทำให้เกิดการเก็งกำไรจากราคาข้าวที่ทุกคนทราบดีว่า จะต้องปรับตัวสูงขึ้นไปอีก สะท้อนออกมาจากราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นมาเรื่อย ๆ เฉลี่ยจากปีก่อนระหว่าง 2,000-5,000 บาท/ตัน ตามแต่ละประเภทของข้าว มีผลทำให้ราคาข้าวสารในประเทศปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทำให้สถานการณ์ข้าวในประเทศเปลี่ยนไป จากราคาข้าวเปลือกที่เคยตกต่ำ “ต่ำกว่า” ราคาประกันรายได้ในรัฐบาลก่อน มาปีนี้จะกลายเป็นราคาข้าวภายในประเทศสูง มีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามามาก จนอาจเกิดภาวะการขาดแคลนข้าวได้ หากไม่มีการบริหารจัดการสต๊อกข้าวที่ดีพอ