รับมือข้าวทะลัก 7 ล้านตัน โรงสีขอชดเชย-รัฐบาลไม่รับจำนำ

โรงสีข้าว
โรงสีข้าว

เตรียมรับมือข้าวเปลือกทะลัก 7 ล้านตัน สมาคมโรงสีข้าวไทยผนึกโรงสีอีสาน หารือ “ภูมิธรรม” เตรียมตั้ง นบข.ชุดใหม่ จัดใหญ่มาตรการ ชดเชยดอกเบี้ยโรงสี คู่ขนาน สินเชื่อชะลอการขายเก็บข้าวเข้ายุ้งฉางเกษตรกร คาดใช้งบฯ 8,500 ล้าน เร่งให้ทัน 1 ต.ค.66 พร้อมเสนอแผนระยะยาวลงทุนเพิ่ม 3.2 หมื่นล้าน 4 ปีให้สร้าง “ยุ้งฉางอัจฉริยะ” 400,000 ยุ้งช่วยชาวนา ดึงระบบบิ๊กดาต้าบริหารจัดการข้าว ด้านสมาคมชาวนา เตรียมขอพบ “ภูมิธรรม” ชง 6 ข้อเสนอหวังสกัดราคาข้าวร่วง

สถานการณ์การผลิตข้าวนาปี 2566/2567 ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวในประเทศและประเทศคู่แข่งที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรเดียวกันจะประสบความเสียหาย ส่งผลให้ภาพรวมตลาดส่งออกข้าวปีนี้คึกคัก เนื่องจากราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด

ขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายสินค้าเกษตรจากรัฐบาลชุดเดิมที่ใช้นโยบายประกันรายได้ข้าว มาเป็นเวลา 4 ปี นี่จึงกลายเป็น “โจทย์แรก” ของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จะต้อง “ตกผลึก” ให้ได้ว่า จะใช้นโยบายเดิมหรือจะเปลี่ยนไปใช้นโยบายใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการข้าว โดยการตกผลึกนี้จะต้องกระทำภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ทันรับฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังจะมาถึง

ส.โรงสีขอชดเชย ดบ.เก็บสต๊อก

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวหลังจากนำคณะผู้บริหารสมาคม พร้อมด้วย สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าพบ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสถานการณ์ผลผลิตและราคาข้าว เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

โดยสมาคมเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ “ยังคง” มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงสี โดยเฉพาะเรื่องของมาตรการชดเชยดอกเบี้ยสำหรับโรงสีที่เข้าไปช่วยซื้อข้าวเก็บสต๊อกต่อไป ทั้งยังเสนอให้เพิ่มอัตราชดเชยดอกเบี้ยจาก 3% เป็น 4% เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์ต้นทุนเพิ่มขึ้นมีผลต่อการรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท ทั้งยังให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง เพื่อพยุงราคาในช่วงที่ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวออกมาปริมาณมากในเวลาเดียวกัน

“ส่วนมาตรการลดค่าไฟ-ค่าน้ำมันของรัฐบาลเศรษฐา นับว่าเป็นมาตรการที่ช่วยลดภาระต้นทุนให้โรงสีเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าไฟถือเป็นต้นทุนหลักในการสีข้าว เป็นต้นทุนการผลิตประมาณ 40% นอกจากนั้นก็จะเป็นต้นทุนส่วนอื่น ๆ เช่น ค่าแรง เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้มาตรการที่ออกมาจะยังช่วยลดต้นทุนที่ขึ้นมาแล้ว 30% ไม่ได้ แต่ก็รับว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการได้มากในขณะนี้” นายรังสรรค์กล่าว

โรงสีอีสานรับมือข้าวนาปี

ด้าน นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สมาคมลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวนาปี 2566/2567 ประเมินว่า ผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตข้าวนาปี ปีนี้ลดลง 10% หรือประมาณ 7 ล้านตันข้าวเปลือก โดยคาดการณ์ว่าชาวนาจะทยอยเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

จากการหารือร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย และกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอขอให้รัฐบาลยังคงใช้นโยบายการชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้โรงสีอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเก็บข้าว คู่ขนานไปกับการให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางอยางน้อย 5 เดือนแรกหลังเก็บเกี่ยว จะทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพไม่อ่อนตัวลง

“จากการหารือ รมว.พาณิชย์ ได้รับฟังข้อเสนอของทั้ง 2 สมาคม และแจ้งว่า ในปีนี้จะไม่มีการใช้นโยบายรับจำนำข้าว แต่จะใช้มาตรการอะไรนั้นขึ้นอยู่กับการหารือใน คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ซึ่งท่านจะเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ในสัปดาห์หน้า และขอนำไปพิจารณาเพื่อหารือกับทางกระทรวงการคลัง ในเรื่องของการเตรียมงบประมาณในการดำเนินมาตรการ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานให้ทันข้าวนาปี” นายวิชัยกล่าว

สำหรับรายละเอียดโครงการบริหารจัดการข้าวที่ 2 สมาคมเสนอนั้น มีเป้าหมายเก็บข้าวเปลือกไว้ในปริมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือก จากปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ 7 ล้านตันข้าวเปลือก โดยหากรัฐบาลคงอัตราราคารับประกันข้าวเปลือกไว้ที่ 15,000 บาท/ตัน สำหรับปริมาณข้าว 4 ล้านตันข้าวเปลือก หากมีการจ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรตันละ 12,000 บาท จากราคาประกัน 15,000 บาท เท่ากับจะคิดเป็นวงเงินสินเชื่อเกษตรกรรวม 48,000-50,000 ล้านบาท และหากกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 10% ก็จะคิดเป็นเม็ดเงินที่จะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท

ซึ่งรัฐบาลช่วยสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ 5% คิดเป็นเงิน 2,500 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังขอให้รัฐบาลชดเชยค่ารถบรรทุกอีก 1 ตัน ราคาตันละ 1,500 บาท คิดเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแล้วเท่ากับจะต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 8,500 ล้านบาท

“ข้อสำคัญก็คือ มาตรการข้าวปีนี้จะต้องสรุปและประกาศให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อเป็นการใช้จิตวิทยาในการดึงตลาด เกษตรกรจะได้วางแผนเก็บสต๊อกเพื่อดูดซับข้าวไว้ในสต๊อกก่อน เหมือนเป็นการสร้างเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ทะลักออกมา ซึ่งจะทำให้ดูเสถียรภาพราคาได้และปริมาณข้าวที่เก็บสต๊อกไว้นี้คาดว่า จะเข้าโครงการจริงน่าจะประมาณ 3 ล้านตัน ไม่ถึง 4 ล้านตัน ซึ่งข้าวลอตนี้ไม่เพียงช่วยเรื่องพยุงราคา แต่ยังใช้เป็นสต๊อกสำรองสำหรับเพื่อบริโภคในประเทศด้วย เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าข้าวในประเทศจะไม่ขาดแคลนแน่” นายวิชัยกล่าว

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ละปีจะเก็บไว้เพื่อบริโภคภายในประเทศประมาณ 50-60% ส่วนที่เหลืออีก 40-50% จะขายซึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อการส่งออก

โครงการยักษ์สร้างยุ้งอัจฉริยะ

สำหรับนโยบายระยะยาวในการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสร้างเสถียรภาพราคาให้เกิดความยั่งยืนนั้น นายวิชัยได้เสนอให้ภาครัฐบาลใช้ “โมเดล” ของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งทางสมาคมได้ไปศึกษาดูงานมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ามีการส่งเสริมให้เกษตรกรแต่ละครอบครัวมี “ยุ้งฉางอัจฉริยะ” เป็นของตัวเอง

โดยยุ้งฉางอัจฉริยะนั้นจะมีลักษณะคล้าย ระบบไซโล กล่าวคือมีการเก็บรักษาข้าว โดยมีระบบควบคุมความชื้นรักษาความชื้นและมีเซ็นเซอร์ในการตรวจสอบวัดปริมาณข้าวภายในยุ้งฉางเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบ ซึ่งข้อมูล big data ที่ได้จะทำให้รู้ว่า สต๊อกข้าวมีปริมาณเท่าไรและสต๊อกส่วนไหนลดลง จะต้องเข้าไปช่วยเหลือในส่วนไหนบ้าง ซึ่งข้อมูลนี้จะใช้ในการบริหารจัดการข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“โครงการสร้างยุ้งฉางนี้ ทางสมาคมคำนวณแผนการต้นทุนเบื้องต้น สำหรับการก่อสร้างยุ้งฉางเพื่อเก็บข้าวปริมาณ 4 ล้านตันทั่วประเทศจะต้องสร้างประมาณ 400,000 ยุ้ง เทียบเท่ากับปริมาณของการรับซื้อชดเชยดอกเบี้ย โดยรัฐบาลต้องช่วยลงทุนผลิตติดตั้งยุ้งฉางคอนกรีตคิดเป็นราคาประมาณเซตละ 80,000 บาท โดยรัฐบาลควรกำหนดแผนงาน เพื่อทยอยสร้างในช่วงเวลา 4 ปี จะใช้เงินงบประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมข้าวในระยะยาว” นายวิชัยกล่าว

ชาวนา 60 ปีขอสวัสดิการ 3,000

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ทางสมาคมอยู่ระหว่างการประสานงานขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อประชุมหารือและนำข้อเสนอที่ทางสมาคมได้มีการรวบรวมความคิดเห็นจากสมาชิกทั้งหมด โดยได้ข้อสรุป 6 ข้อที่จะนำเสนอให้รัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง เพื่อนำไปพิจารณาและผลักดันช่วยเหลือชาวนา 4.5 ล้านครัวเรือนต่อไป

“แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะไม่ได้มีโครงการประชานิยม แต่สิ่งที่ชาวนาต้องการคือการส่งเสริมและพัฒนาชาวนาอย่างยั่งยืน เพราะ ตั้งแต่ที่เป็นตัวแทนชาวนามา 38 ปี ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดที่ให้ความสำคัญกับชาวนา หากเทียบกับเวียดนามและญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมชาวนาในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้เป็นอย่างดี”

สำหรับข้อเสนอ 6 ข้อที่จะเสนอต่อรัฐบาล ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งน้ำ ขุดลอกคูคลอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกพืชทุกชนิด

2) ช่วยสนับสนุนในการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน โดยปัจจุบันต้นทุนการเพาะปลูกของชาวนาเฉลี่ยอยู่ที่ 5,500-6,000 บาท/ไร่ หากลดต้นทุนมาอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท/ไร่ ก็จะช่วยทำให้ชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

3) การหาเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกและต้องการพันธุ์ข้าวที่อายุไม่เกิน 95-100 วัน หรือข้าวอายุสั้น ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ข้าวส่วนใหญ่อายุ 120-130 วัน อีกทั้งช่วยให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่ 700-800 กิโลกรัม/ไร่ ให้เป็น 1,200 กิโลกรัม/ไร่

4) ขอให้รัฐบาลช่วยพักชำระหนี้ ลดต้นลดดอกให้กับเกษตรกร 3-5 ปี หากสามารถดำเนินการได้อยากให้ดำเนินการได้ในทันที

5) สนับสนุนค่าจัดการแปลงนา เช่น ค่าจ้าง ค่าบำรุง ค่าปรับปรุงดิน 2,000 บาทต่อ 20 ไร่ต่อครัวเรือน

และ 6) ให้มีสวัสดิการแก่ชาวนาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละ 3,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนา ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันจากการที่อินเดียชะลอส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวไทยโดยข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้น 11,000-12,000 บาท/ตันข้าวเปลือก จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 8,500-9,500 บาท/ตันข้าวเปลือก ส่วนข้าวหอมมะลิขณะนี้ผลผลิตยังไม่ออกสู่ตลาด