โชว์ปฏิรูปสถาปัตยกรรมการเงิน นายกฯดึงยักษ์ธุรกิจลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียว

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

ปิดฉากไปแล้ว สำหรับการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18 -24 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขึ้นเวทีระดับโลกครั้งแรก โชว์ถ้อยแถลง ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เจรจาการค้าระดับพหุภาคี-ทวิภาคีกับผู้นำประเทศทางเศรษฐกิจ-ผู้นำทางธุรกิจบริษัทชั้นนำระดับโลก

ถ้อยแถลงแรกบนเวทียูเอ็น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปภารกิจของนายเศรษฐาในสหรัฐตลอด 3 วันเต็มว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงแรกในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (SDG Summit 2023)

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) จำนวน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030

สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน การกระตุ้นกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าลงทุน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ BCG

รวมถึงลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027 ตั้งเป้าหมายครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ. 2027 ส่งเสริมเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่เหมาะสมภายในปี ค.ศ. 2030

17 ปีเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ซึ่งมีผลกระทบต่อเกษตรกรไทย สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ให้ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 และสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (NDCs) ปี ค.ศ. 2025 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 ได้เพิ่มเป้าหมาย NDC จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030

รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ มุ่งเน้นประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040

กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (utility green tariff) สนับสนุนใช้โซลาร์รูฟท็อป (solar rooftop) การวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net metering) จูงใจผลิตพลังงานสะอาด ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037

ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (green finance) อย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันระดมเงินได้ 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ออกหุ้นกู้ 2 พันล้านเหรียญยูเอส

นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (FfD) ในการประชุม High-Level Dialogue on Financing for Development ภายใต้หัวข้อ “Financing the SDGs for a world where no one is left behind”

ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนา พร้อมเสนอให้ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเงินทุนการพัฒนาอย่างครอบคลุม มุ่งเน้น 3 ประการ

ประการแรก ต้นทุนหนี้ที่สูงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากหนี้ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนการขยายธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (MDBs) ส่งเสริมเงินทุนก่อสร้างโครงการเพื่อการพัฒนา

ประการที่สอง การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับ MSMEs ส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนา มีเทคโนโลยีด้านการเงินเพื่อจัดหาเงินทุนการพัฒนา

ประการที่สาม ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bonds) และส่งเสริมความร่วมมือตราสารที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ในปี’67 จะออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond) เพื่อกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (green bond market) รวมถึงพัฒนากรอบ “Thailand Taxonomy” เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการลงทุนและการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืน

การออกหุ้นกู้ sustainability-linked bond แต่การมีขีดจำกัดการใช้เงินจึงต้องขยายขอบเขต ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเขียนคำจำกัดความการระดมทุน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐมีขอบเขตอย่างไร จะทำ green economy อย่างไร

ดึงบริษัทชั้นนำสหรัฐลงทุน

นายกรัฐมนตรีพบกับ Mr.Larry Fink CEO กลุ่มบริษัท Blackrock ผู้นำการบริหารการเงินและการลงทุนของโลก เพื่อศึกษาการลงทุนในไทย โดยเฉพาะธุรกิจ clean energy และลงทุน sustainability linked bond จึงยินดีให้ตั้งสำนักงานในไทย

พบกับ นาย Elon Musk และผู้บริหารของ Tesla SpaceX และ Starlink ต่อความร่วมมือด้านยานยนต์ EV และเพิ่มด้าน space exploration ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน
พบกับผู้บริหารบริษัท Microsoft ซึ่งชื่นชมไทยมีจุดแข็งเป็นศูนย์กลาง regional hub มีศักยภาพที่เป็น data center ของภูมิภาค โดยจะสนับสนุนภาคเอกชนและภาครัฐใช้ cloud investment ในไทย เช่น สายงาน IT วิศวกร ทรัพยากรบุคคล

3 โอกาสบริษัทสหรัฐในไทย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (gala dinner) โดยสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) และหอการค้าสหรัฐ (USCC) พร้อมย้ำว่า “ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น”

การค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี’65 ทำให้สหรัฐกลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยนโยบายสำคัญและโอกาสสำหรับบริษัทสหรัฐ

1.การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” อาทิ นโยบาย digital wallet และ blockchain 2.การบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมเศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนผ่านพลังงาน

3.การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรมที่ครอบคลุมและบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา โดยเล่าถึงนโยบายปรัชญาการทำงานของรัฐบาลนี้ ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าด้วยหลักนิติธรรม รักษาจิตใจคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน

ภารกิจหลักของรัฐบาลต้องการเปิดประเทศ สนับสนุนการทำธุรกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นโจทย์ใหญ่ สอง หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น สาม ปัญหาสังคมและยาเสพติด ขอให้ทำงานเชิงรุกเพื่อยกระดับ GDP

หารือเกาหลี-เวียดนาม-มาเลย์

นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เห็นพ้องเพิ่มเที่ยวบินเชื่อมเมืองรองของไทย เช่น อุดรธานีกับเวียดนาม

ทวิภาคีกับนายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เห็นพ้องเร่งรัดผลักดันเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ อวกาศ พลังงานนิวเคลียร์ สตาร์ตอัพ ยานยนต์ไฟฟ้า ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

นายกรัฐมนตรียังพบกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นควรให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซียเพื่อเพิ่มการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และยาเสพติด

เจ้าภาพร่วมบอลโลก 2034

นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งยืนยันให้ความสำคัญกับไทย ในฐานะเป็นที่ตั้งของสำนักงานยูเอ็นในภูมิภาค

นอกจากนี้นายจีอันนี อินฟันติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ซึ่งไทยและอาเซียนแสดงความพร้อมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกันของอาเซียน ปี 2577 (ค.ศ. 2034)

ไทยจะเป็นสถานที่จัดการประชุมสามัญของ FIFA สมัยที่ 74 (74th FIFA Congress) ช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 2,000 คน จาก 211 ประเทศทั่วโลก และในสัปดาหน้าจะแถลงข่าวโครงการ 1 รัฐวิสาหกิจ 1 ประเภทกีฬา