ปลัดพลังงานป้ายแดง รับเผือกร้อนจากค่าไฟ สู่ “อิสราเอล”

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เข้ามารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน สถานการณ์ราคาพลังงานโลกก็ตาลปัตรอีกครั้งจากเหตุความขัดแย้งอิสราเอล นับเป็นความท้าทายการทำงาน “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลดราคาพลังงานช่วยเหลือประชาชน และยังต้องวางแนวทางการทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานระยะยาวให้คนไทย

เผือกร้อนพลังงาน

นายประเสริฐมีเวลาก่อนเกษียณ 3 ปี มีความตั้งใจหลายอย่างอยากทำให้สำเร็จ และจะผลักดันนโยบายหลายเรื่องให้สำเร็จให้ได้ จากที่ได้รับโอกาสจากท่านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน (พีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค) จะทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่

หลักการทำงาน คือ ต้องมุ่งให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน ค่าไฟถูกลง เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน โดยหลาย ๆ โครงการจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายใน 3-6 เดือน

“วาระเรื่องเร่งด่วนปัญหาความขัดแย้งในอิสราเอลที่ผ่านมาหลายวัน ทำให้ราคาพลังงานมีความผันผวน ปรับขึ้นและลง ซึ่งช่วงแรกปรับขึ้น 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น 60-80 สตางค์ก็เป็นระดับที่ยังรับได้ และคุยกับ ปตท. เรื่องระดับ war premium หรือราคาที่กระโดดขึ้นไปยังอยู่ในระดับที่รับได้และไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลน เพราะไทยมีสต๊อกรวม 70 วัน ทั้งที่อยู่บนบก 45 วัน และลอยอยู่ในทะเล 25 วัน”

ส่วนด้านราคาเรามีการเตรียมการใช้กองทุนน้ำมันฯในการดูแลอยู่ ตอนนี้กองทุนติดลบอยู่ 67,000 ล้านบาท อุดหนุนลดลง แม้พระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 หมดอายุไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสามารถกลับไปใช้มาตรา 26 ได้ ซึ่งจะมีกรอบวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท

และยังมีกลไกเรื่องภาษีสรรพสามิต ซึ่งอาจจะขอปรับลดเพิ่ม เพราะของดีเซลลดลงไป 2.50 บาท น่าจะยังมีรูมพอได้ แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์ราคาพลังงานต่ออาจจะมีแนวโน้มลดลง เพราะอิสราเอลไม่ใช่แหล่งผลิตและส่งออกที่สำคัญ แต่มีการนำเข้า 90% และเส้นทางการขนส่งก็ไม่ได้ถูกปิด

ลดค่าไฟ 3.99 บาท ยังไหว

“ลดค่าไฟ 3.99 บาท เป็นการปรับลด โดยที่ ปตท.และ กฟผ.ช่วยแบกรับภาระไว้ชั่วคราว ซึ่งจะช่วยต่อไปได้แค่ไหนต้องดูหลายปัจจัย เช่นว่า แหล่งเอราวัณ (G1) ซึ่งได้รับการยืนยันจากทาง ปตท.สผ.ว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 400 ล้าน ลบ.ฟ. เป็น 800 ล้าน ลบ.ฟ.ได้ในเดือนเมษายน 2567”

อย่างไรก็ตาม เรามีหน้าที่จะต้องหาแหล่งวัตถุดิบสำรอง เพื่อความมั่นคงในระยะยาว ในส่วนของการเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ก็อยู่ในลิสต์เร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยดูแลด้านราคาด้วย

“เรื่อง OCA นี้ หารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว อยากให้ไปหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะทำอย่างไรได้ภายในกรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2544 ที่มีอยู่ คิดว่าไม่ต้องทำเอ็มโอยูใหม่ แต่ต้องเจรจาไปพร้อมกันทั้งเรื่องเขตแดน และเรื่องการใช้ประโยชน์ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเจรจาพร้อมกัน แต่อาจจะจบไม่พร้อมกันก็ได้ โดยอาจจะมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีผลผลิตปิโตรเลียม โดยไม่ยุ่งกับเขตแดนอย่างไร”

ด้านโครงสร้างราคานั้น กระทรวงมีนโยบายเรื่องการบริหารจัดการว่าอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจากปัจจุบัน ที่ใช้ระบบ energy pool ซึ่งใช้เท่าไรก็มาหารเท่ากัน ดังนั้น ต้องดูว่าอาจใช้หลักการว่า new demand ใช้ new supply ส่วน old demand ก็ใช้ old supply อยู่มาก่อนก็ใช้ในราคาเก่า ซึ่งเป็นหลักให้เกิดมาร์เก็ตซิกแนลออกไป

ถกคลังลดภาษีจูงใจติดโซลาร์

อีกด้านจะส่งเสริมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน โดยได้หารือกับนายลวรณ แสงสนิท ในสมัยที่เป็นอธิบดีกรมสรรพากร และผมเป็นอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ว่าจะมีการใช้กลไกด้านภาษีนิติบุคล และภาษีบุคคลธรรมดามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์

ทั้งในส่วนของบ้านเรือนและอาคารสำนักงานต่าง ๆ โดยหลังจากนี้จะมีการจัดทำข้อมูลในรายละเอียด โดยจะมอบหมาย พพ.ดำเนินการต่อให้ได้ข้อยุติ

“เดิมมีการจัดสรรงบประมาณกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ไม่อยากให้มีการจัดการแบบเดิม เพราะจากที่เคยอยู่กรม พพ. จึงรู้ว่าราชการไม่มีบุคลากรและอุปกรณ์เพียงพอ ทำให้มีปัญหาหลังจากที่ดำเนินการไปแล้ว

จึงอยากให้มีเป็น third party เข้ามาลงทุนพัฒนาแทน คงต้องหารือกับทั้งสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมธนารักษ์ เพราะส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุ จะต้องวางกรอบการทำงานร่วมกัน อาจให้การไฟฟ้ามาช่วยทำได้ หากทำได้จะช่วยลดค่าไฟได้ 15-20%

ในส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ต้องมาทบทวนหลักเกณฑ์กันว่าจากนี้จะมีมาตรการสนับสนุนอย่างไร กติกาที่มีอยู่สำหรับ 7 กลุ่มต้องมาดูว่าจะเหมาะสมหรือไม่

ลุยโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ดำเนินการมาแล้ว 400 เมกะวัตต์นั้น จะเดินหน้าต่อ เบื้องต้นอีก 200 เมกะวัตต์ แต่จะปรับเปลี่ยนแนวทางจากที่ผ่านมาให้ผู้ประกอบการไปจับวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น แต่เฟสต่อไปจะใช้หลักว่าใช้พื้นที่เป็นหลัก

โดยได้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาว่ามีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจใดที่ปลูกแล้วไม่คุ้มค่า (S3M) จะให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินยักษ์ มาป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล สร้างรายได้และกิจกรรมให้กับชุมชน นอกจากแมตช์กับพื้นที่แล้วจะต้องแมตช์กับสายส่งด้วย เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกนำมาใช้ภายในชุมชนด้วย

“เอกชนที่เข้ามาโรงไฟฟ้าชุมชนจะเปิดกว้าง จะให้ชุมชนเป็นผู้เลือกเอกชนเอง โดยชุมชนต้องตั้งคำถามว่าผู้ที่เข้ามาจะทำอะไรให้กับชุมชนบ้าง กรอบหลักเกณฑ์เรื่องนี้จะสรุปภายใน 6 เดือน เสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และส่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต่อไปตามลำดับ”

แก้พลังงานหมุนเวียนชะงัก

กรณีการเปิดดำเนินโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) 5,000 เมกะวัตต์ ที่มีเอกชนยื่นร้องไปที่ศาลปกครองนั้น ยังอยู่ระหว่างการรอฟังคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ทางกระทรวงจะเสนอข้อสังเกตเพิ่มเติม เพื่อขอความวิงวอนต่อศาลถึงประเด็นนี้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อโครงการนี้

“ส่วนตัวไม่อยากให้มีการคุ้มครองชั่วคราวทั้งโครงการ เพราะโครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ ส่วนใหญ่เป็นโซลาร์ และที่สำคัญการดำเนินโครงการนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศที่กำลังซบเซาอยู่ หากต้องหยุดชะงักไปทำให้เฟสต่อไปเดินไม่ได้

อาจจะขาดเม็ดเงินลงทุน และยังมีผลต่อการเดินหน้าสู่แผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศที่กำหนดไว้ในปี 2030 และปี 2050 หากเป็นไปได้มีการคุ้มครองเฉพาะโครงการที่ร้องเรียนจนกว่าจะหาทางออกได้จะดีกว่า”